การจากไปของแพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย จากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ พุ่งชนขณะเดินข้ามทางม้าลาย เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565 นั้น นำมาซึ่งความสูญเสียต่อครอบครัว วงการจักษุแพทย์ และส่งผลกระทบที่ก่อให้เกิดกระแสสังคมเป็นวงกว้างในประเด็นความปลอดภัยของผู้ใช้ทางม้าลาย คนเดินถนน การเคารพและบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดต่อผู้ขับขี่ยานพาหนะทั่วประเทศ เนื่องจากสังคมเราไม่ควรยอมรับความสูญเสียเช่นนี้อีกต่อไป
วันที่ 30 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 100 วันของการสูญเสีย ในฐานะที่หมอกระต่ายเป็นศิษย์เก่าจบการศึกษาหลักสูตรแพทย์เฉพาะทางสาขาจักษุวิทยา จากโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กรมการแพทย์ นายแพทย์อนิรุทธ์ และนางรัชนี สุภวัตรจริยากุล (บิดา มารดาของหมอกระต่าย) และครอบครัว ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลครบ 100 วัน ณ วัดไร่ขิง พระอารามหลวง จ.นครปฐม ร่วมกับคณาจารย์ จักษุแพทย์ และเพื่อนร่วมงานของหมอกระต่าย มีพระเทพศาสนาภิบาล เจ้าคณะภาค 14 เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เป็นประธานพิธีสงฆ์และนายแพทย์อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เป็นประธานงานกิจกรรมเพื่อสังคม โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนทั้งภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความปลอดภัยด้านการจราจรของชุมชน ได้แก่ การจัดสัมมนา online ให้ความรู้กับนักเรียนโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา โดยสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย การจัดประชุมหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงพื้นที่ถนนและทางข้ามรอบบริเวณชุมชนไร่ขิง เช่น โครงการปรับปรุงทางม้าลายตามมาตรฐานกรมทางหลวง (smart crosswalk) บริเวณหน้าโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา แผนปรับปรุงทางม้าลาย สัญญาณจราจร และทางเดินเท้ารอบบริเวณชุมชนวัดไร่ขิง
ในงานบำเพ็ญกุศลครบ 100 วันนี้ ได้มีการจัดเวทีบรรยายและเสวนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิรับเชิญจากหลายหน่วยงาน การรำลึกถึงหมอกระต่ายและสื่อสารความในใจของครอบครัวผู้สูญเสีย รวมทั้งการคัดกรองสายตาเพื่อลดอุบัติเหตุต่อดวงตาสำหรับชุมชนและประชาชนทั่วไปด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจาก โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง), วัดไร่ขิง พระอารามหลวง, โรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา, สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย, มูลนิธิเมาไม่ขับ, ตำรวจภูธรภาค 7 (สภ.โพธิ์แก้ว), หมวดทางหลวงนครชัยศรี แขวงทางหลวงสมุทรสาคร, กรมทางหลวง, บริษัท ทีอาร์บี เชอร์เม็ดดเก้า (ประเทศไทย), บริษัท อาฟต้า เซอร์วิส แอนด์ ซัพพลาย
กิจกรรมดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อรำลึกถึงความสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ร่วมกันเรียนรู้เพื่อให้ชุมชนและสังคมเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ทางม้าลาย และร่วมผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน.
ในวาระบำเพ็ญกุศล 100 วันนี้ ครอบครัวคุณหมอกระต่าย ได้รับข้อเขียนคำไว้อาลัยจาก รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมนักผังเมืองไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์วิชาการด้านผังเมือง การพัฒนาเมือง และระบบขนส่งมวลชนระดับนานาชาติ เป็นคำไว้อาลัยจะเป็น "เสียงสะท้อนที่ดังกึกก้อง" จากความสูญเสียที่เกิดขึ้น ส่งไปยังใครก็ตามที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ที่ต้องถือเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วน และจะต้องทุ่มเทความพยายามเร่งรัดลงมือแก้ไขปัญหาอย่างถึงที่สุด เพื่อปกป้องและป้องกัน มิให้ "การสูญเสีย" เช่นนี้ เกิดขึ้นอีก ไม่ว่ากับใครก็ตาม
ข้อเขียนของ ดร.พนิต ดังนี้
ในหลักวิชาการวางแผนจราจร การเกิดอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ป้องกันและบรรเทาได้ด้วยหลักวิชาการ เหตุการณ์ของคุณหมอกระต่ายนำมาซึ่งคำถามมากมายในสังคมและในวงวิชาการ
เมื่อสามเดือนก่อน ก็เคยเกิดอุบัติเหตุแบบเดียวกันนี้ ตรงจุดเดียวกับที่คุณหมอกระต่ายประสบอุบัตเหตุ แต่ทำไมจึงไม่มีการกระทำใดๆ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน
สำหรับทางข้ามถนนในเขตชุมชนเมือง คนเดินเท้าหรือรถยนต์ควรได้รับสิทธิเป็นลำดับแรก
เราควรอนุญาตให้ขับขี่ยานพาหนะได้ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเขตเมืองหรือไม่
เราออกแบบและก่อสร้างถนนได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่
ทำไมจึงไม่มีการเตือนก่อนถึงทางข้ามเป็นระยะไม่น้อยกว่า 50 เมตร
ทั้งการทาสีพื้นถนนแบบนูนให้คนขับรับรู้ ป้ายเตือนและสัญญานไฟ ทั้งบนทางเท้าและเกาะกลางถนน
และที่สำคัญคือ
เราต้องสูญเสียชีวิตคน เพื่อให้สิ่งไม่ถูกต้องที่ซ่อนอยู่ใต้พรมออกมาปรากฎให้เราเห็น ให้เราได้มีโอกาสแก้ไขด้วยต้นทุนสูงขนาดนี้เลยหรือ
ขอไว้อาลัยกับการจากไปด้วยเหตุอันไม่สมควรจะเกิดขึ้นเลย
แต่ขอให้ดวงวิญญาณหมอกระต่ายได้รับรู้ว่า
"สังคมไทยจะไม่ยอมรับว่าการสูญเสียครั้งนี้เป็นเรื่องยอมรับได้ แต่เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ และจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นซ้ำอีกต่อไป"
รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา
1 พฤษภาคม 2565