9 พฤษภาคม 2565 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าว กรม สบส.ได้ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่จากกองกฎหมาย กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ดำเนินการร่วมกับแพทยสภา ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ คลินิกที่ถูกกล่าวอ้าง ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการตรวจสอบได้ภายใน 1 สัปดาห์ และเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิดในลักษณะเจ้าหน้าที่ลวนลาม หรือกระทำการอนาจารผู้รับบริการเกิดขึ้นอีก
กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้ ผู้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล เข้มมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อสร้างความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้รับบริการ โดยเฉพาะ ในพื้นที่ของห้องตรวจโรคที่พื้นที่ปิดมิดชิด จะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ชาย หรือหญิงในฐานะบุคคลที่ 3 คอยเฝ้าระวัง ดูแล ระหว่างการรักษาพยาบาลตามความเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ผู้รับบริการเป็นหญิงก็ควรจะจัดให้มีเจ้าหน้าที่หญิงร่วมดูแลระหว่างรับบริการ ไม่ควรปล่อยให้อยู่เพียงลำพังกับเจ้าหน้าที่ชาย หากพบว่ามีการปล่อยปละ ละเลย ให้มีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด กรม สบส.จะดำเนินการเอาผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 โดยทันที
ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า ในกรณีดังกล่าวหากพบมีความผิดจริง จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
1.ความผิดทางอาญาของตัวผู้กระทำผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการ และ
2.ความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 34 (2) กับตัวผู้ดำเนินการสถานพยาบาลในฐานไม่ควบคุม ดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพของตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 34 (4) ฐานไม่ควบคุม ดูแลสถานพยาบาลให้สะอาด เรียบร้อย ปลอดภัย และมีลักษณะเหมาะสม ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท อีกทั้ง จะมีคำสั่งตามมาตรา 50 ให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว 30 วันอีกด้วย
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับอันตรายจากบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลเอกชน ก็สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 เพื่อตรวจสอบให้ความเป็นธรรม และนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป