วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อพัฒนาผู้นำในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน/ ภาคสังคม ที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ยึดมั่นในคุณธรรม มีจริยธรรม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความรอบรู้ ความเข้าใจครบถ้วน ความคิดเป็นระบบ มองเห็นอนาคต กล้าทำสิ่งใหม่ ในบริบทการพัฒนาเรื่อง Wellness ในระดับโลกและระดับประเทศ
เพื่อเพิ่มเติมความรอบรู้ในศาสตร์สมัยใหม่ที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเอง การบริหารองค์กร และการริเริ่มกิจการด้าน Wellness
เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการนำ (Leadership) และการบริหาร (Management) นำสู่การพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เพื่อให้เกิดกระบวนการกลุ่มของผู้นำจากภาครัฐกิจ ธุรกิจ ประชากิจ ทั้ง 3 มาร่วมกันพิจารณาหาทางพัฒนาและขับเคลื่อนการเป็นเมืองหลวงของโลกด้าน Wellness แบบบูรณาการทุกภาคส่วน ด้วยการบริหารงานสมัยใหม่ และกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยได้
คุณสมบัติของผู้เข้าเรียน
เป็นผู้บริหารปัจจุบัน หรืออดีตผู้บริหารในหน่วยงานรัฐกิจ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ภาคธุรกิจเอกชน หน่วยงานภาคสังคม มูลนิธิ องค์กรการกุศล สถาบันการศึกษา องค์กรศาสนา ผู้ประกอบกิจการ ผู้บริหารระดับสูงของกิจการภาคเอกชน และสื่อมวลชน ที่มีความสนใจประกอบกิจการด้าน Wellness
ผู้บริหารระดับสูง (ระดับ 9 ขึ้นไปหรือเทียบเท่า) ของสถาบัน, องค์กร ในภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง
ผู้ประกอบการ/ ผู้บริหารระดับสูง (มีประสบการณ์บริหารอย่างน้อย 5 ปี) ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Wellness & Healthcare อาทิ Wellness Resort, Medical Spa, Wellness Tourism, โรงพยาบาล, คลีนิกเวชศาสตร์ชะลอวัย, คลีนิกความงาม, Health Tech, Insure Tech, Med Tech, Wellness Tech, Health Information System, ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Aging Society (Nursing home, Home Care, อุปกรณ์ช่วยเหลือคนชรา), อุตสาหกรรมยา, อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ (Medical Supply), การตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ (Medical Laboratory), อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและความงาม, เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (Functional Drinks), การนวดไทย, วิทยากรโฮมีโอพาธีย์, การแพทย์แผนไทย, การแพทย์แผนจีน, การแพทย์แผนอินเดีย, การแพทย์ทางเลือกอื่น ๆ , Fitness, ธุรกิจประกันชีวิตและสุขภาพ เป็นต้น
ผู้ประกอบการ/ ผู้บริหารระดับสูง (มีประสบการณ์บริหารอย่างน้อย 5 ปี) ที่สนใจจะทำธุรกิจหรือขยายธุรกิจให้เกี่ยวข้องกับ Wellness ในอนาคต
ผู้นำหรือผู้บริหารในหน่วยงานภาคประชากิจ เช่น สถานศึกษา ศาสนสถาน สื่อมวลชน มูลนิธิ สมาคม
ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีโครงการในพื้นที่เกี่ยวข้องกับ Wellness
ผู้บริหารด้าน HR จากหน่วยงานรัฐหรือสถานประกอบการต่าง ๆ ที่ต้องการนำ Wellness ไปใช้ในการดูแลพนักงาน
ผู้สนใจนำความรู้ Wellness เพื่อดูแลสุขภาพตนเองอย่างบูรณาการ
เป็นบุคคลที่ทางคณะกรรมการเห็นควรเข้าร่วมหลักสูตรฯ และเป็นผู้ที่มีความพร้อมในการเข้าร่วมหลักสูตรฯ สามารถจัดสรรเวลาเพื่อร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของหลักสูตรฯ ได้
หมายเหตุ: การคัดเลือกผู้เข้าร่วมหลักสูตรฯ นี้ เป็นไปตามดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ผลการคัดเลือกจากคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด
หลักสูตรนี้เหมาะกับใคร
องค์ประกอบของหลักสูตร
หลักสูตรนี้ถูกออกแบบให้ผสมผสานระหว่างการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลกด้าน Wellness ที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาภาวะการเป็นผู้นำ ภาคการบริหาร การริเริ่มกิจการ หรือโครงการที่ส่งเสริมการทำให้ประเทศไทยเป็นเมืองหลวง Wellness ของโลกบนฐานของหลักคิดในเชิงคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้เป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ ร่วมกับการศึกษาดูงานหน่วยงานที่สร้างผลกระทบความเปลี่ยนแปลง (Impact) ในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
1. การปฐมนิเทศและกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์
ผู้เข้าเรียนในหลักสูตรทุกคนต้องเข้าร่วมการปฐมนิเทศและกิจกรรม “ค่ายสานสัมพันธ์” ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน โดยมีทั้งกิจกรรมวิชาการ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ กิจกรรมสันทนาการ เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจวัตถุประสงค์และกระบวนการเรียนรู้ตลอดหลักสูตรฯ รวมทั้งเป็นโอกาสสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกในรุ่นด้วย
2. การเรียนรู้ภาควิชาการในชั้นเรียน
เป็นการบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายในและต่างประเทศ แบ่งช่วงเวลาการเรียนดังนี้
อาหารเที่ยง เวลา 11:30-12:45 น.
ช่วงที่ 1 เวลา 12:45-15:30 น.
พักเบรก เวลา 15:30-16:00 น.
ช่วงที่ 2 เวลา 16:00-18:30 น.
ช่วงเวลา 18:30 – 21:00 น. อาหารเย็นและกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์สังสรรค์ประจำสัปดาห์
3. การเรียนรู้นอกชั้นเรียน
การเรียนรู้นอกชั้นเรียนเป็นองค์ประกอบสำคัญของหลักสูตรนี้ เพราะนอกจากจะช่วยเปิดโลกทัศน์ของผู้เรียนแล้ว ยังช่วยให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในชั้นเรียนกับการปฏิบัติจริงด้วย ทั้งนี้ กำหนดการเรียนรู้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
3.1 การเรียนรู้ดูงานภายในประเทศ
เป็นการจัดการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ภาคสังคม หรือหน่วยงานระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ภายในประเทศ ที่มีตัวอย่างการทำงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบความเปลี่ยนแปลง (Impact) ในทางบวกกับงานด้าน Wellness ของประเทศไทย เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในหน่วยงานที่ไปเยี่ยมศึกษา โดยผู้เรียนจะได้สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาดูงานกับความรู้จากการเรียนภาควิชาการในชั้นเรียน ทั้งนี้ ผู้เรียนต้องส่งรายงานกลุ่มเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการศึกษาดูงาน
หน่วยงานที่เป็นจุดหมายในการดูงาน เช่น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร / ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย (VitalLife) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล / Huawei Technologies (Thailand) Co., Ltd. / The Forestias / รามา - ธนารักษ์ Senior Complex Project / Panacee Medical Center / RAKxa Integrative Wellness and Medical Retreat ฯลฯ
3.2 การเรียนรู้ดูงานในต่างประเทศ
เป็นการเดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาประเทศและพัฒนาองค์กรในด้านต่าง ๆ (นโยบายและการปฏิบัติในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม) ในประเทศต้นแบบ (Best Practices) ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาภายใต้แนวเรื่อง (Theme) ที่สนับสนุนส่งเสริมการเป็น Wellness Hub ของประเทศไทย ทั้งนี้ ผู้เรียนต้องส่งรายงานกลุ่มเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการศึกษาดูงาน
4. การจัดทำโครงการ Cap-Corner Stone และเอกสารวิชาการรายบุคคลและกลุ่ม
ผู้เรียนแต่ละกลุ่มจะร่วมกันพัฒนาโครงการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยที่โครงการจะต้องมีจุดมุ่งหมายช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศหรือองค์กรในมิติใดมิติหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Wellness อย่างเจาะจงในหน่วยงานภาครัฐกิจ (เช่น กระทรวง องค์กรปกครองท้องถิ่น ทหาร ตำรวจ องค์กรรัฐวิสาหกิจ) ภาคธุรกิจ (เช่น อาคารสำนักงาน สถานประกอบการ โรงงาน) ภาคประชากิจ (เช่น วัด มัสยิด โบสถ์ ศาสนสถาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย สื่อมวลชน)
วัตถุประสงค์สำคัญ คือ การที่ผู้เรียนได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้จริง และลงมือปฏิบัติจริงด้วย แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงและการประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้เอาไปปฏิบัติจริง ทั้งนี้ อาจเป็นโครงการที่ช่วยพัฒนางานเฉพาะภาครัฐ เฉพาะภาคเอกชน เฉพาะภาคสังคม หรือเป็นโครงการที่ดำเนินการในลักษณะของความร่วมมือข้ามภาคส่วนก็ได้ โดยเป็นการดำเนินการตามกระบวนการ 3I Model (Ideation – Implementation - Impact) ซึ่งหลังจากทำโครงการเสร็จสิ้นแล้ว ผู้เรียนจะต้องทำการประเมินผลโครงการ ถอดบทเรียนที่ได้เรียนรู้ เพื่อนำเสนอผลการปฏิบัติจริงให้เพื่อนร่วมรุ่นได้เรียนรู้ด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้เรียนแต่ละกลุ่มจะต้องร่วมกันจัดทำเอกสารผลงานวิชาการของกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วยผลงานวิชาการของสมาชิกแต่ละบุคคลในกลุ่ม โดยจัดทำขึ้นตามแนวทางการจัดทำเอกสารวิชาการของสถาบันการสร้างชาติ เมื่อนักศึกษาแต่ละคนได้จัดทำเอกสารวิชาการส่วนบุคคลของตนเองแล้ว ให้รวบรวมผลงานเป็นเอกสารวิชาการของกลุ่ม และจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม (หนังสือ) ที่พร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณะและส่งให้กับสถาบันฯ ตามกำหนด
5. การนำเสนอผลงานและปัจฉิมนิเทศ
กำหนดการนำเสนอผลงานไว้ในสัปดาห์สุดท้ายของการเรียน โดยสถาบันการสร้างชาติจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม เช่น นักวิชาการ นักบริหาร นักกิจกรรมสังคม ฯลฯ มาร่วมให้ความเห็น คำแนะนำกับผู้เรียนแต่ละกลุ่มในวันนำเสนอผลงานด้วย และมีการคัดเลือกและมอบรางวัลเอกสารผลงานวิชาการดีเด่นประจำรุ่นด้วย