ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ครม.อนุมัติงบ 3.8 พันล้าน เริ่มโครงการฯ สถานีศิริราช

ครม.อนุมัติงบ 3.8 พันล้าน เริ่มโครงการฯ สถานีศิริราช Thumb HealthServ.net
ครม.อนุมัติงบ 3.8 พันล้าน เริ่มโครงการฯ สถานีศิริราช ThumbMobile HealthServ.net

ครม. มติอนุมัติ "โครงการฯ สถานีศิริราช" งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,851.27 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ โดยเป็นงบผูกพันธ์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2569

ครม.อนุมัติงบ 3.8 พันล้าน เริ่มโครงการฯ สถานีศิริราช HealthServ
27 ตุลาคม 2565  คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอการดำเนินโครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ) หรือ เรียกว่า "โครงการฯ สถานีศิริราช" 

งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,851.27 ล้านบาท  จำแนกเป็น
  • งบลงทุนค่าก่อสร้าง 2,338.27 ล้านบาท
  • ครุภัณฑ์การแพทย์ 1,400 ล้านบาท
  • งบบุคลากร (หมวดเงินเดือน) 113.01 ล้านบาท


และสนับสนุนโครงการให้แล้วเสร็จ โดยขออนุมัติจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2569 จำนวน 2,552.50 ล้านบาท โดยขอผูกพันงบประมาณ ดังนี้

พ.ศ. 2566 จำนวน 168.02 ล้านบาท
พ.ศ. 2567 จำนวน 422.63 ล้านบาท
พ.ศ. 2568 จำนวน 972.97 ล้านบาท
พ.ศ. 2569  จำนวน 988.88 ล้านบาท

และเงินสมทบจากเงินนอกงบประมาณ จำนวน 1,298.77 ล้านบาท ในลักษณะเป็นเงินอุดหนุน
ครม.อนุมัติงบ 3.8 พันล้าน เริ่มโครงการฯ สถานีศิริราช HealthServ
 

เกี่ยวกับโครงการ

 
        กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ) (โครงการฯ สถานีศิริราช) งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,851.27 ล้านบาท [งบลงทุนค่าก่อสร้าง 2,338.27 ล้านบาท ครุภัณฑ์การแพทย์ 1,400 ล้านบาท และงบบุคลากร (หมวดเงินเดือน) 113.01 ล้านบาท] และสนับสนุนโครงการให้แล้วเสร็จ โดยขออนุมัติจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2569 จำนวน 2,552.50 ล้านบาท และเงินสมทบจากเงินนอกงบประมาณ จำนวน 1,298.77 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 66 : 43) ซึ่งโครงการฯ สถานีศิริราช มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้


 
วัตถุประสงค์
(1) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงโรงพยาบาลศิริราชได้อย่างสะดวกด้วยระบบคมนาคมที่เชื่อมโยงเครือข่ายกับระบบคมนาคมหลัก
(2) เพื่อพัฒนาศักยภาพของพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟธนบุรีให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อวงการแพทย์และสาธารณสุข
(3) เพื่อประสานประโยชน์ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

 
สถานที่ตั้งและรูปแบบโครงการ
  • ตั้งอยู่บริเวณใกล้ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์
  • พื้นที่ รฟท. (ขอเช่าที่ดินของ รฟท.) ต่อเนื่องกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี - ศิริราช ช่วงเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน เลียบคลองบางกอกน้อย บนพื้นที่ 4.67 ไร่ (7,456 ตารางเมตร)
  • โครงการฯ จะเป็นอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น (ความสูงของอาคารเท่ากับ 81 เมตร) มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 51,853 ตารางเมตร แบ่งเป็น (1) พื้นที่โรงพยาบาล 47,537 ตารางเมตร (2) พื้นที่รถไฟสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร และ (3) พื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร ทั้งนี้ แบบก่อสร้างได้รับความเห็นชอบร่วมกันทั้ง 3 ฝ่ายแล้ว (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ รฟท. และ รฟม.)

ระยะเวลาการดำเนินโครงการ

ปีงบประมาณ 2566 - 2569 (4 ปี) ระยะเวลาก่อสร้าง 32 เดือน

 
แผนงานด้านบุคลากร
บูรณาการระหว่างจำนวนบุคลากรที่มีอยู่เดิมกับจำนวนที่ต้องการเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราใหม่ ปี 2569 จำนวน 516 อัตรา


อาคารและสถานี


        อาคารรักษาพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นการก่อสร้างอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 55,057 ตารางเมตร แบ่งเป็น พื้นที่โรงพยาบาล 50,741 ตารางเมตร พื้นที่รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร และพื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2570 เมื่อแล้วเสร็จ จะสามารถให้บริการผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การบริการ Ambulatory Unit/ One Day Surgical โดยผู้ป่วยสามารถเดินทางมารับบริการแล้วกลับบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องพักค้าง รวมถึงบริการตรวจ ทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความสะดวกสบายจากการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะและการบริการสาธารณสุขมากยิ่งขึ้นด้วย
 
        ส่วนโครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมปรับปรุงเอกสารประกวดราคาและราคากลาง และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565 พร้อมเปิดให้บริการ ในปี 2570 ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการประกวดราคา โดยดำเนินการตามแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2571  - [ข่าวศิริราช]
 
ครม.อนุมัติงบ 3.8 พันล้าน เริ่มโครงการฯ สถานีศิริราช HealthServ

มติอนุมัติโครงการฯ


สภามหาวิทยาลัยมหิดล ในการประชุมครั้งที่ 574 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 มีมติอนุมัติโครงการฯ สถานีศิริราช เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้พิจารณาประเด็นที่ต้องดำเนินการตามข้อกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า โครงการดังกล่าวได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 ตามข้อ 2 (1) เนื่องจากเป็นอาคารของกระทรวง ทบวง กรม ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ และได้รับการยกเว้นในกรณีห้ามบุคคลใดก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารอื่นใดในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ ตามข้อ 4/1 (4) ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ ในท้องที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เนื่องจากเป็นอาคารสาธารณปโภค อาคารสาธารณูปการ ซึ่งเป็นของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานในกำกับของรัฐ เพื่อจัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค สาธารณูปการ รวมทั้งได้รับการยกเว้นขั้นตอนตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ประกาศ ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561) ในขั้นตอนที่ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการนั้นเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นก่อนขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นโครงการประเภทสถานพยาบาลของสถาบันการศึกษาของรัฐตามเอกสารท้ายประกาศ 6 ข้อ 29 โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล



MOU กระทรวงคมนาคมและคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล 

 
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราช-พยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันพุธที่ 27 เมษายน 2565 ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารสโมสร และหอประชุม กระทรวงคมนาคม โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ศาสตราจารย์ ดร.นายเเพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธี
 
        นายศักดิ์สยามฯ กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้กระทรวงคมนาคมแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มุ่งมั่น เร่งรัด ผลักดัน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยเร่งรัดการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะมีการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยมีสถานีร่วมศิริราช เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรางที่สำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทั่วไป ผู้เข้ารับบริการรักษาและบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช ได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ทดแทนการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล และเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ภายในและพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลศิริราชอย่างยั่งยืน
 
        การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ในครั้งนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ที่ต้องใช้พื้นที่บริเวณสถานีร่วมศิริราชของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน- ศิริราช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ที่เดินทางในระบบขนส่งสาธารณะและผู้มาใช้บริการของโรงพยาบาลศิริราชมากยิ่งขึ้น โดยมีการหารือ และตกลงกันในเรื่องรูปแบบ ขอบเขตความรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายและแผนการดำเนินงาน ภายใต้กฎหมาย กฎ และคำสั่งอื่นๆ ที่ใช้อยู่ของทั้ง 3 หน่วยงาน และคำสั่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วยกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง และสำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง ร่วมผลักดันให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าประสงค์ต่อไป
 
 
 
        การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ในครั้งนี้ จะแสดงให้เห็นถึงเจตนารมย์ของการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ได้มุ่งมั่ง ตั้งใจ ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ให้ประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เป็น “สถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย” ซึ่งจะเป็น Model ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งมวลชนสำหรับโครงการอื่นๆ ต่อไป
ครม.อนุมัติงบ 3.8 พันล้าน เริ่มโครงการฯ สถานีศิริราช HealthServ
ครม.อนุมัติงบ 3.8 พันล้าน เริ่มโครงการฯ สถานีศิริราช HealthServ
ครม.อนุมัติงบ 3.8 พันล้าน เริ่มโครงการฯ สถานีศิริราช HealthServ

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด