3 พฤศจิกายน 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีข้อกังวลเรื่องปัญหาการเชื่อมต่อข้อมูลของโรงพยาบาลที่อยู่ต่างสังกัดกัน เนื่องจากจะมีระบบบันทึกข้อมูลของตนเองที่แตกต่างกัน ว่า เรื่องระบบสุขภาพดิจิทัลเป็นเรื่องระยะกลางและระยะยาว ไม่สามารถทำให้เสร็จได้ภายใน 1-2 ปี แต่มีแผนงานในอนาคตที่จะเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพระหว่างโรงพยาบาลต่างสังกัด โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านต้องมีการทำความตกลงในการเชื่อมระบบกัน ส่วนที่เรื่องแพลตฟอร์มในการบันทึกข้อมูลสุขภาพที่แต่ละสังกัดใช้แตกต่างกันนั้นในคณะกรรมการสุขภาพดิจิทัลแห่งชาติ มีตัวแทนโรงเรียนแพทย์หลายแห่งร่วมเป็นกรรมการด้วย เชื่อว่าจะช่วยกันสร้างระบบข้อมูลสุขภาพที่ทุกฝ่ายใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีการกำหนดมาตรฐานของข้อมูล มาตรฐานเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ผู้ควบคุมข้อมูล หรือผู้ที่จะนำข้อมูลไปใช้ จึงไม่น่าจะเป็นประเด็นที่ต้องกังวล
“เรื่องการบันทึกหรือคีย์ข้อมูลเป็นอีกจุดที่สำคัญ เพราะที่ผ่านมามีประเด็นว่าเป็นภาระงานของบุคลากรค่อนข้างมาก ขณะนี้ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องสุขภาพดิจิทัลของกระทรวงสาธารณสุขกำลังปรับเปลี่ยนระบบ เชื่อว่าการจัดการต่างๆ จะดีขึ้น และระยะยาวจะทำให้การดำเนินงานราบรื่นขึ้น ทั้งนี้ ทุกเรื่องอยู่ในแผนการดำเนินการแล้ว และมีการเดินหน้าไปตามแผน” นพ.โอภาสกล่าว
ร่างแผนปฏิบัติการ 5 ปี 5 ยุทธศาสตร์
ด้าน พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการสุขภาพดิจิทัลแห่งชาติ ได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการ พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งมี 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ
1.การสร้างเสริมธรรมาภิบาลสุขภาพดิจิทัล
2.การพัฒนาแพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติและระบบนิเวศดิจิทัลสุขภาพ
3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของระบบสุขภาพดิจิทัล
4.การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบสารสนเทศที่ทันสมัย นวัตกรรม และปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์
5.การพัฒนาคนให้พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ระบบสุขภาพดิจิทัลอย่างยั่งยืน
พญ.ปฐมพรกล่าวต่อว่า เรื่องที่จะดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 คือ การกำหนดมาตรฐานข้อมูลสุขภาพและการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่สอดคล้องมาตรฐานสากล
ส่วนในปี 2567 จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบสุขภาพดิจิทัล พัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของระบบสุขภาพดิจิทัล พัฒนาศูนย์ประสานงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ด้านสุขภาพ และส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ และในระยะยาวจะพัฒนาการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่โดยใช้หลักการ Data Governance ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติ สร้างสิ่งแวดล้อมกระตุ้นการเข้าใช้ระบบสุขภาพดิจิทัลและสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรด้านดิจิทัลสุขภาพ โดยจะให้แล้วเสร็จภายในปี 2570