ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โควิด 19 end game - หมอยง

โควิด 19  end game - หมอยง Thumb HealthServ.net
โควิด 19  end game - หมอยง ThumbMobile HealthServ.net

โพสต์เกี่ยวกับโรคโควิด ของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ เมื่อเช้าวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 คือการปิดเกมโรคโควิดที่คุกคามคนไทยและชาวโลกมากว่า 3 ปี "โควิด 19 end game โดยเข้าสู่โรคประจำฤดูกาล" ชื่อเรื่องสั้นๆ แต่ชัดเจน ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญระดับนี้คือความอุ่นใจที่สุด ชีวิตกลับมาเหมือนเดิม

หมอยง ระบุว่า โรคโควิดไม่ได้หายหรือสูญพันธุ์ไปสิ้นเชิง แต่มันแปรเปลี่ยนไปเป็นโรคประจำฤดูกาล เฉกเช่นเดียวกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคทั่วไปที่ไม่รุนแรง เกิดซ้ำได้ 
 
หมอยง ได้อรรถาธิบายไว้ ดังนี้
 
"ในปีที่ 4 นี้ การนับยอดผู้ป่วยติดเชื้อ ไม่เกิดประโยชน์ เพราะตัวเลขที่รายงานต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ขณะนี้ทั่วโลกน่าจะมีการติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 70  หรือประมาณ 5 พันล้านคน ตัวเลขที่รายงานการติดเชื้อทั่วโลกมีประมาณเกือบ 700 ล้านคน ต่ำกว่าความเป็นจริงประมาณ 10 เท่า ประเทศไทยก็ไม่ได้รายงานตัวเลขติดเชื้อแล้ว รายงานเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตเท่านั้น 
 
องค์การอนามัยโลกคงจะเลิกนับตัวเลขในเร็วๆนี้ หลังจากการระบาดในประเทศจีนลดลง (เพราะส่วนใหญ่ติดเชื้อแล้ว)
ความรุนแรงของโรคลดลงมาโดยตลอด ผู้เสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว  จะไม่มีการย้อนไปปิดบ้านปิดเมืองอีกแล้ว 
 
วัคซีน โดยเฉพาะ mRNA ตลาดควรเป็นของผู้ซื้อ วัคซีนมีอายุสั้น และขวดหนึ่ง ยังมีจำนวน 7-10 โดส จึงยากต่อการใช้ ให้มีการสูญเสียทิ้งให้น้อยที่สุด ประกอบกับมีราคาแพง มีอาการแทรกซ้อนที่พบได้ มากกว่าวัคซีนที่ใช้ในอดีต และในอนาคตเมื่อเทียบกับความรุนแรงของโรค จึงเป็นการยากที่ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึง ความจำเป็นที่จะต้องฉีดทุก 4-6 เดือนไม่มีอีกแล้ว เมื่อเข้าสู่โรคประจำฤดูกาล การให้วัคซีนจะเหลือปีละ 1 ครั้ง การนัดคนมาฉีดพร้อมกันเพื่อลดการสูญเสียของวัคซีนจะทำได้ยากขึ้น  โดยเฉพาะวัคซีนมีอายุสั้น การเก็บรักษายุ่งยาก ใช้อุณหภูมิติดลบ ยิ่งทำให้ราคาแพงขึ้น การให้ได้วัคซีนตรงกับสายพันธุ์ยิ่งยากเข้าไปอีก เพราะการพัฒนาต้องมีต้นทุนสูงและเมื่อพัฒนาขึ้นมาแล้วไวรัสก็เปลี่ยนสายพันธุ์ไปอีก 
 
ในอนาคตอันใกล้นี้ก็น่าจะได้เห็นตัวเลขของประเทศที่ใช้วัคซีนต่างชนิดกัน ประสิทธิภาพในการลดความรุนแรง หรือเสียชีวิตเป็นอย่างไร เมื่อทุกประเทศส่วนใหญ่ติดเชื้อไปหมดแล้ว จะเป็นการย้อนดูบทเรียนในอดีต  
 
ประเทศไทยมีการติดเชื้อไปแล้วมากกว่าร้อยละ 70 ถึงวันนี้ น่าจะถึงร้อยละ 80 ทำให้มีภูมิต้านทานแบบธรรมชาติร่วมกับภูมิต้านทานจากวัคซีน ในประชากรเกือบทั้งหมด และถ้าจำเป็นต้องฉีดวัคซีนปีละ 1 ครั้ง โดยให้ในกลุ่มเสี่ยง ปริมาณวัคซีนที่ใช้ต่อปี ก็จะเหมือนไข้หวัดใหญ่ ที่มีฤดูกาลระบาดในฤดูฝนหรือโรงเรียนเปิดเทอมแรก ในเดือนมิถุนายนนั่นเอง"
 
 
 
ฉีดวัคซีนปีละ 1 ครั้ง
 
เมื่อโรคโควิด ลดระดับลงมาเป็นโรคประจำถิ่น การระบาดจะดำเนินไปตามช่วงฤดูกาล หากพิจารณาจากช่วงต้นปีเป็นต้นไป โรคจะมีการระบาดน้อยลง กระทั่งเดือนมิถุนายนถึงกลางกันยายน (เข้าฤดูฝน) จะเริ่มระบาดสูงขึ้น จากนั้นก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ 
 
เมื่อเป็นโรคประจำถิ่น ที่ความรุนแรงไม่มากแล้ว ความจำเป็นของการฉีดวัคซีน ก็ลดน้อยลงเช่นกัน แต่ยังจำเป็นอยู่
 
วัคซีนโควิดที่จะนำมาฉีด ก็จะให้เพียงปีละ 1 ครั้ง ก็เพียงพอ โดยเริ่มฉีดในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม เพื่อป้องกันการระบาดในฤดูฝน ที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน วัคซีนแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน และกระตุ้นภูมิไม่สูงมาก มีความปลอดภัยสูง  อาจเน้นให้เฉพาะในกลุ่มเสี่ยง  608 เช่นเดียวกับการให้ใน ไข้หวัดใหญ่
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด