27 กุมภาพันธ์ 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ไปยังสำนักงบประมาณเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 83,744,022 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จ.ภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ให้กับโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้รับหนังสือตอบกลับจาก นายกรณินทร์ กาญจโนมัย รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเบิกจ่ายจากงบกลาง 2566 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 72,277,389 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วโดยเบิกจ่ายในงบลงทุนค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
“สำหรับการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวจะดำเนินการโดยยึดเรื่องของความโปร่งใส สุจริต ประหยัด มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของราชการและประชาชน” นพ.โอภาสกล่าว
โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จ.ภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพและยกระดับการบริการเชิงคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มส่งเสริมให้ภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานด้านสาธารณสุขและด้านความปลอดภัยด้านสุขภาพ ซึ่งการดำเนินการในส่วนของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ประกอบด้วย ศูนย์สุขภาพและการแพทย์นานาชาติ (Medical Plaza) ศูนย์อภิบาลผู้สูงอายุนานาชาติ (Premium Long Term Care) ศูนย์ใจรักษ์ (Hospice Home) และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร (Rehabilitation Center)
งบกลางที่ได้รับอนุมัตินี้เป็นงบในช่วงระยะแรกๆ ของการดำเนินการโครงการ จากวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติทั้งหมด 1,411 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565
โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จ.ภูเก็ต
โครงการ จะมีการจัดสร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร ประกอบด้วย
1. ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติ ครบวงจร (International Health/Medical Plaza)
2. ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ (Premium Long Term Care)
3. ศูนย์ใจรักษ์ (Hospice Home) หรือศูนย์การดูแลแบบประคับประคอง ในระยะสุดท้ายของชีวิต
4. ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร (Rehabilitation Center)
สำหรับศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร จะใช้ที่ดินราชพัสดุเนื้อที่ 141 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ดำเนินการโดย โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยรูปแบบการบริหารจัดการยังอยู่ระหว่างหารือซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งรัฐอาจดำเนินการเองทั้งหมด การร่วมทุนกับภาคเอกชน หรือรูปแบบพิเศษ โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่ปี 2566 - 2569
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เช่น เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และท้องถิ่น ในพื้นที่หลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 สร้างโอกาสการลงทุน เกิดการกระจายรายได้สำหรับภาคเอกชน เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและภาคบริการอื่น ส่งผลให้มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงขึ้น รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรไทย พร้อมยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีทางการแพทย์ และระบบบริการด้านสาธารณสุขของไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก
สำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นับเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลที่จะชูจุดเด่นดังกล่าวในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพจากการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มที่มีมูลค่าสูง ซึ่งถือเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะพลิกโฉมการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป
ทั้งนี้การดำเนินโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จ.ภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก นับเป็นการต่อยอดโครงการ Phuket Health Sandbox ที่จะเป็นการบูรณาการระบบสาธารณสุขของ จ.ภูเก็ตให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 7 โครงการพัฒนา 6 จังหวัดอันดามัน ตามที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 พ.ย.2564 ในการประชุม ครม.นอกสถานที่ ณ จังหวัดกระบี่