ศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุชลประทาน (โรงพยาบาลชลประทาน) เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556
ด้วยความตั้งใจให้เป็น "ธนาคารเครื่องมือแพทย์" เพื่อให้ผู้ป่วยยืมอุปกรณ์-เครื่องมือแพทย์ ที่มีความจำเป็น นำไปไช้ดูแลคนไข้ที่บ้านได้ เพื่อความมั่นใจให้ผู้ป่วยและญาติ มีกำลังในการดูแลรักษาต่อไป และไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นภาระ
เพราะอุปกรณ์ที่ยืม ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีค่าเช่า ไม่มีค่ามัดจำ ใดๆ ทั้งสิ้น
บางกรณี สามารถจัดส่งให้ถึงบ้าน โดยไม่คิดค่าดำเนินการใดๆ อีกด้วย
เป็นไปตามเจตจำนงค์งดงาม ของ "ป้าแดง" อมราพร องอาจอิทธิชัย พยาบาลชำนาญการพิเศษ สาขาวิชาจิตเวช ผู้ก่อตั้งและดูแลศูนย์แห่งนี้มาตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อปี 2556 มุ่งเน้นในการบริการดูแลผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย ผู้ป่วยยากไร้ ผู้ป่วยติดเตียง หรือ กลุ่มผู้ป่วยที่เห็นสมควรได้รับการสนับสนุนช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ ผู้ที่รับอุปกรณ์ ต้องได้รับการตรวจประเมินโดยแพทย์มาแล้ว เท่านั้น
การสนับสนุนอุปกรณ์-เครื่องมือแพทย์
อุปกรณ์-เครื่องมือแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น เตียงนอน เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ เครื่องพ่นยา ฯลฯ และสิ่งของต่างๆ ทั้งหมดที่มีให้บริการ ได้มาจากการบริจาค จากผู้มีจิตศรัทธา ทั้งสิ้น
"บางส่วนก็ได้มาจากผู้เคยเป็นผู้รับ ต่อมาก็จะกลายเป็นผู้ให้เรา ของที่เหลือจากการที่ อย่างเราให้ยืมไปสองรายการ เราได้กลับคืนมามากกว่านั้น"
ด้านบุคคลากร ทั้งหมดเป็นบุคลากรของโรงพยาบาล และจิตอาสา ที่มาร่วมทำงาน ทั้งการดูแลอุปกรณ์ -เครื่องมือแพทย์ การทำความสะอาด ตรวจสภาพ การเตรียมอุปกรณ์เพื่อส่งมอบ รับมอบ ทั้งหมด มาทำด้วยใจ ยึดหลัก มิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน
ตามคำสอนของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ คือ คิดดี พูดดี ทำดี คบคนดี ไปสถานที่ดี ยิ่งให้ ยิ่งได้
++++
ญาติผู้ป่วยหรือผู้ดูแลผู้ป่วยท่านใดต้องการยืมอุปกรณ์ ติดต่อ 02-5022345 ต่อ 1750 พร้อมเตรียมเอกสารให้ครบ 3 อย่างดังนี้
1. ใบรับรองแพทย์
2. สำเนาบัตรประชาชนผู้ป่วย
3. สำเนาบัตรประชาชนผู้ทำเรื่องยืม
เอกสาร ครบแล้วเข้ามายืมที่ศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อนได้ในวันเวลาราชการ ตั้งแต่ 08.00-15.00 น.
งานบริการด้านอื่นๆ ของศูนย์
งานเวชศาสตร์ครอบครัว
สาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัว มีงานบริการที่ครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งให้การส่งเสริมสุขภาพ คัดกรองประชากรที่มีความเสี่ยง ตรวจรักษา เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ฟื้นฟูสุขภาพ และดูแลแบบประคับประคองในวาระสุดท้ายของผู้ป่วย โดยเน้นการให้บริการเชิงรุกแบบองค์รวมในชุมชน ทั้งในพื้นที่รับผิดชอบและบุคลากรในโรงพยาบาล รวมถึงเป็นแหล่งสนับสนุนการผลิต บัณฑิตแพทย์ และบัณฑิตทางสาธารณสุขที่มีคุณภาพ
ลักษณะงานที่ให้บริการมีดังนี้
1. การตรวจรักษาดูแลสุขภาพโดยหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ศูนย์สุขภาพชุมชน คลินิกหมอครอบครัว และคลินิกผู้สูงอายุในชุมชนปากด่าน
2. การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านจิตใจ ครอบครัวและสังคม
3. การสอบสวนและควบคุมโรคระบาดในชุมชน ให้ความรู้ในการดูแลป้องกันแก่ประชาชน
4. การฉีดวัคซีนแก่เด็กตามเกณฑ์มาตรฐาน และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่รับผิดชอบ
5. ให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพื่อเตรียมการดูแลต่อเนื่องที่บ้านและการดูแลแบบประคับประคอง
6. การตรวจสุขภาพแก่บุคคลทั่วไป และบุคลากรในโรงพยาบาล
7. การบริการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก
8. การเรียนการสอนนิสิตแพทย์และนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
งานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นผู้ป่วยที่มีอาการของโรคลุกลามจนถึงขั้นรักษาไม่หาย และไม่มีแผนการรักษาใดๆ อีกต่อไป นอกจากรับการดูแลแบบประคับประคองตามอาการจนถึงระยะสุดท้าย ผู้ป่วยระยะสุดท้ายและญาติมีความต้องการ อยู่ในโรงพยาบาลให้นานที่สุด โดยมีความคาดหวังว่าผู้ป่วยอาจ มีอาการดีขึ้นบ้าง หรือญาติผู้ป่วยอาจขาดความมั่นใจ ในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ไม่มีผู้รับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยหรือข้อจำกัดอื่นๆ ที่แต่ละคนมีแตกต่างกัน ถึงแม้ญาติ ของผู้ป่วยมีความต้องการให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายพักอยู่โรงพยาบาล แต่ด้วยจำนวนเตียงที่มีจำกัด ทำให้โรงพยาบาล จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายกลับไปดูแลต่อที่บ้าน โดยให้ญาติประสานงานการดูแลผู้ป่วยที่บ้านกับพยาบาลหน่วยเยี่ยมบ้าน โดยทางศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อนมีการให้บริการ “คลินิกประสานใจ”