คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานประจำครึ่งปี (มกราคม-มิถุนายน 2564) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ ธปท. พ.ศ. 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 61 ซึ่งบัญญัติให้ทุกหกเดือนให้ ธปท. จัดทำรายงานสภาพเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน นโยบายระบบการชำระเงิน แนวทางการดำเนินงานและประเมินผล เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ
สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ภาวะเศรษฐกิจ
1.1 เศรษฐกิจประเทศไทย (ไทย) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.0 จากระยะเดียวกันของปีก่อน (จากที่หดตัวร้อยละ 5.3 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563) อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด-19) ในประเทศที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชน กำลังซื้อ และความเชื่อมั่นของครัวเรือนลดลง ขณะเดียวกันการส่งออกบริการโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมีจำนวนไม่มาก ส่วนการส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ประกอบกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกอยู่ในช่วงปรับตัวขึ้น การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามการฟื้นตัวของภาคการส่งออก รวมทั้งมีการลงทุนของภาคธุรกิจเพื่อปรับตัวไปสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายสำหรับโครงการด้านชลประทานและคมนาคม รวมถึงมาตรการเงินโอนในรูปแบบต่าง ๆ ที่ช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของครัวเรือน
1.2 เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในประเทศเปราะบางมากขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว กระทบการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือน นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกจากฐานราคาพลังงานที่ต่ำในปีก่อน
1.3 เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังคงเข้มแข็ง สามารถรองรับความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้ ซึ่งสะท้อนจากสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่ต่ำและสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์สากล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐและดัชนีค่าเงินบาทอ่อนค่าลงโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยที่กลับมารุนแรงขึ้น
2. การดำเนินงานของ ธปท.
ประกอบด้วย
2.1 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายการเงิน คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 อนุมัติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลางและสำหรับปี 2564 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีแรงสนับสนุนจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจากการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ กนง. เห็นว่า สิ่งที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย คือ การจัดหาและการกระจายวัคซีนที่เหมาะสมให้เพียงพอ การเร่งดำเนินมาตรการการเงินและการคลังให้เกิดประสิทธิผลในวงกว้าง การให้ความสำคัญกับการติดตามและดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และการติดตามพัฒนาการของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยส่งเสริมให้กลุ่มนักลงทุนไทยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น
2.2 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายสถาบันการเงินคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ให้ความสำคัญ ดังนี้ (1) การออกมาตรการในช่วงโควิด-19 โดยติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และมีแผนดำเนินงานเพื่อดูแลผลกระทบ รวมทั้งสนับสนุนมาตรการการปรับลดอัตราเงินนำส่งเงินให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพื่อช่วยลดต้นทุนของสถาบันการเงิน (2) การดูแลความเสี่ยงและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมและเศรษฐกิจด้านนโยบายกำกับสถาบันการเงิน โดยติดตามความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินอย่างใกล้ชิด และให้ความสำคัญกับการติดตามและประเมินความเสี่ยงในประเด็นสำคัญ เช่น การประเมินผลกระทบของเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการออกและปรับปรุงนโยบายกำกับสถาบันการเงินที่สำคัญ (3) การดำเนินงานด้านการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการเงินในยุคดิจิทัล ติดตามและให้ความเห็นต่อแนวทางการกำหนดนโยบายส่งเสริมระบบการเงินที่ช่วยให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเหมาะสม อีกทั้ง ธปท. อยู่ระหว่างจัดทำกรอบการพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทยในระยะต่อไปซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการเงินในยุคดิจิทัลและการส่งเสริมธนาคารเพื่อความยั่งยืน และ (4) ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีความมั่นคง เงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับผลกระทบจากโควิด-19 และสามารถให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ และสนับสนุนความต้องการสินเชื่อในระยะต่อไป ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ช่วยชะลอการเสื่อมลงของคุณภาพสินเชื่อ โดยคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างทรงตัว ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเสื่อมลงเล็กน้อย
2.3 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายระบบการชำระเงิน
สรุปได้ ดังนี้
(1) แนวโน้มการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.2 แต่หดตัวในเชิงมูลค่าร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนการใช้บริการโอนเงินและชำระเงินออนไลน์ผ่าน Mobile Banking/Internet Banking เติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 66.5 และการลงทะเบียนและการใช้บริการระบบพร้อมเพย์มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ
(2) การดำเนินงานตามกรอบการพัฒนา 5 ด้านของแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4 เช่น
1) ผลักดันและส่งเสริมมาตรฐานด้านข้อมูล ISO 20022 เพื่อรองรับข้อมูลการชำระเงินและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจและการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ
2) ขยายการใช้ Digital Payment ในหน่วยงานภาครัฐ และ
3) จัดทำโครงการนำร่องการบูรณาการข้อมูลธุรกรรมการชำระเงินในระดับรายธุรกรรมเพื่อประกอบการวางแผนนโยบายและระบุกลุ่มเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการใช้ e-Payment