(23 มีนาคม 2566 ที่ ต.ท่าเทววงษ์ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินด้านการกู้ชีพทางน้ำ การลำเลียงทางอากาศและการซ้อมแผนสถานการณ์เสมือนจริง โดยมี นายอำนาจ เจริญศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นพ.มนู ศุกลสกุล สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 6 นพ.อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี พญ.จิรวรรณ อารยะพงษ์ ผอ.รพ.ชลบุรี หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
ดร.สาธิต กล่าวว่า จังหวัดชลบุรี มีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ทั้งภูเขาและชายฝั่งทะเล แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ เกาะสีชัง เกาะล้าน เกาะแสมสาร เป็นต้น จึงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างต่อเนื่องปีละหลายล้านคน อีกทั้งเป็นพื้นที่พิเศษในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ต้องรองรับผลกระทบต่างๆ ที่ตามมาจากการพัฒนา ทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากรายงานการแจ้งเหตุและสั่งการในระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินของจังหวัดชลบุรี พบว่า ปี 2565 มีการออกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือมากถึง 42,253 ราย และ รพ.เกาะสีชังมีจำนวนผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินต้องได้รับการส่งต่อเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2563-2565 มีการนำส่งผู้ป่วยบนเกาะสีชังมายังโรงพยาบาลปลายทางบนฝั่งโดยเรือถึง 93 ครั้ง 72 ครั้ง และ 78 ครั้ง ตามลำดับ
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินในการกู้ชีพทางน้ำและลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศจึงมีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้ผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้ป่วยที่จำเป็นต้องส่งต่อโรงพยาบาลที่มีศักยภาพได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที เพราะทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน บุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉินจึงมีบทบาทสำคัญและจำเป็นต้องพัฒนาทักษะในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ มีการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน พร้อมทั้งบูรณาการทรัพยากรในการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตระดับพื้นที่ ระดับจังหวัดข้างเคียงอย่างคุ้มค่า สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ EEC ต่อไป
สำหรับโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ รพ.ชลบุรี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดขึ้นเพื่อทบทวนและพัฒนาศักยภาพทีมปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง สร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC และนักท่องเที่ยวในการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินในทุกพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน โดยได้รับความร่วมมือจากจังหวัดชลบุรี กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ ศรชล หน่วยกู้ชีพและกู้ภัย โรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัดในจังหวัดชลบุรี และกองบินตำรวจให้การสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ในการฝึกปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ