นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism เป็นการท่องเที่ยวที่ทำให้เกิดการพักผ่อนหย่อนใจควบคู่กับการมารับบริการทางการแพทย์บำบัดรักษาฟื้นฟูสุขภาพ หรือทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพไปควบคู่กัน ความโดดเด่นของประเทศไทย คือ ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรที่สามารถขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ยังมีการสำรวจของ Global Wellness Economy Monitor (October 2018) พบว่า ประเทศไทย มีศักยภาพในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศให้มากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เข้าประเทศมากถึงอันดับที่ 13 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 12 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย ประมาณปีละ 12.5 ล้านครั้ง และ มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้โดยตรง 5.3 แสนคน
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการดำเนินงานท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยการเชื่อมโยงแนวคิดการแพทย์บูรณาการที่สร้างความสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจ ให้เกิดความสุขกายสบายใจสไตล์ไทย (Thainess Well-being) ของประชาชนและนักท่องเที่ยวให้เกิดสภาวะความมีสุขภาพดี (Good health state) รองรับกระแสการเติบโตของคนที่รักสุขภาพ สอดรับกับทิศทางการให้บริการทางการแพทย์และธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพที่เติบโตมากขึ้น ในปีนี้ (พ.ศ.2566)
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงร่วมมือกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการโครงการส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวศักยภาพสูงที่หลากหลายและโดดเด่น มุ่งหวังให้มีศูนย์เวลเนส (Wellness Center) ทั่วประเทศ โดยได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้สถานประกอบการ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เข้ารับการประเมินเป็นศูนย์เวลเนสเพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการและสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว โดยได้มอบใบประกาศนียบัตรรับรองศูนย์เวลเนส
มีผู้สมัครเข้าร่วมการประเมินทั้งสิ้นจำนวน 448 แห่ง มีผู้ประกอบการที่ผ่านการประเมินและได้รับการรับรองเป็นศูนย์เวลเนส รวมทั้งสิ้น 87 แห่ง ประกอบด้วย
- ศูนย์เวลเนส ประเภทที่พักนักท่องเที่ยว จำนวน 29 แห่ง
- ศูนย์เวลเนส ประเภทภัตตาคาร จำนวน 15 แห่ง
- ศูนย์เวลเนส ประเภทนวดเพื่อสุขภาพ จำนวน 8 แห่ง
- ศูนย์เวลเนส ประเภทสปาเพื่อสุขภาพ จำนวน 14 แห่ง และ
- ศูนย์เวลเนส ประเภทสถานพยาบาล จำนวน 21 แห่ง
*ข้อมูล ณ วันที่ 24 เมษายน 2566
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ยังคงดำเนินการประเมินมาตรฐานและรับรองอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสำหรับสถานประกอบการ ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ ที่พักนักท่องเที่ยว , ร้านอาหารหรือภัตตาคาร , นวดเพื่อสุขภาพ , สปาเพื่อสุขภาพ และ สถานพยาบาลที่มีความประสงค์จะขอรับรองเป็นศูนย์เวลเนส (Wellness Center) หากท่านอาศัยอยู่ในส่วนภูมิภาค ติดต่อได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในจังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่ สำหรับท่านที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ติดต่อที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หรือ ต้องการศึกษาข้อมูลเกณฑ์การประเมินศูนย์เวลเนส สามารถเข้าไปได้ที่ช่องทาง
thaicam.go.th/wellness-center/ หรือ หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่กองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลืก โทร.02-5917007 ต่อ 2603
“การตรวจมาตรฐานศูนย์เวลเนสเหล่านี้ เมื่อผ่านมาตรฐานจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรอง เป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันให้นักท่องเที่ยวได้เห็น และเชื่อมั่นว่าหากท่านมาพัก หรือมาใช้บริการ ท่านจะได้รับการบริการที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้มารับบริการ สอดรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อันจะส่งผลถึงความพึงพอใจของผู้มารับบริการ และสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะพลิกฟื้นตลาด การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก” นายแพทย์ธงชัย กล่าวทิ้งท้าย