ข้อมูลล่าสุด 1 มกราคม - 14 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 21,457 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 3.3 เท่า กลุ่มอายุ 5-14 ปี มีอัตราป่วยสูงถึงร้อยละ 96.63 และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 19 ราย
กรมควบคุมโรครายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 21,457 ราย เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ที่มีผู้ป่วย 6,488 ราย พบว่ามากกว่าถึง 3.3 เท่า และมีผู้เสียชีวิต 19 ราย ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี มากสุด จำนวน 7,331 ราย และเป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงถึงร้อยละ 96.63 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน จึงต้องช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อมทั้งที่บ้านและโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้มีเศษขยะ เช่น กล่องโฟม พลาสติกเหลือใช้ ที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันอันตรายจากโรคไข้เลือดออก
อาการโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดกระบอกตา บางรายอาจมีปวดท้อง อาเจียน มีจุดแดงเล็กๆ ตามแขน ขา ลําตัว มีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไรฟัน หรือประจำเดือนมากผิดปกติ ดังนั้นในช่วงนี้ หากป่วยมีไข้สูง แต่ไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไอ หรือน้ำมูก และตรวจ ATK ไม่พบเชื้อโควิด 19 โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว มีภาวะอ้วน และผู้สูงอายุ ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคไข้เลือดออก ห้ามรับประทานยาลดไข้กลุ่มเอ็นเสด เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน และรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคให้ชัดเจน ช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิต
ส่วนเด็กๆ ที่ยังไม่สามารถบอกอาการของตนเองได้ ผู้ปกครองต้องสังเกตอาการใกล้ชิด หากรับประทานยาลดไข้ 2 วันแล้วไม่ดีขึ้น ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออก และให้รีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก สามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422