26 มิถุนายน 2566 ณ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดของกลาง ครั้งที่ 56 ประจำปี 2566 เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี โดยมีนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้บริหารจากทุกส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองทัพบก และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหายาเสพติดว่าเป็นภัยร้ายแรง และให้ความสำคัญในการป้องกัน ปราบปราม แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังมาโดยตลอด โดยได้กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์ “สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติด ด้วยมาตรการทางเลือกใหม่ สู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน” ที่กำหนดให้ทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบ ครบวงจร ให้หมดไปจากสังคมไทย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความมั่นคงปลอดภัย สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเผาทำลายยาเสพติดของกลางมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2566 ได้จัดกิจกรรมครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มีน้ำหนักรวมกว่า 31.8 ตัน และในวันนี้เป็นครั้งที่ 2 มีของกลางทั้งหมด 192 คดี น้ำหนักรวมกว่า 32,427 กิโลกรัม มูลค่า 21,419 ล้านบาท ประกอบด้วย เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) น้ำหนักกว่า 20,680 กิโลกรัม เมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) น้ำหนักกว่า 5,942 กิโลกรัม คาทีน (นอร์ซูโดอีเฟดรีน) และคาทิโนน น้ำหนักกว่า 5,006 กิโลกรัม คีตามีน น้ำหนักกว่า 364 กิโลกรัม เฮโรอีน น้ำหนักกว่า 275 กิโลกรัม เอ็มดีเอ็มเอ (ยาอี/ยาเลิฟ) น้ำหนักกว่า 85 กิโลกรัม โคคาอีน น้ำหนักกว่า 43 กิโลกรัม ไนเมตาซีแพม น้ำหนักกว่า 22 กิโลกรัม และฝิ่น น้ำหนักกว่า 6 กิโลกรัม โดยของกลางทั้งหมดจะถูกนำไปเผาทำลายด้วยระบบเตาเผาอุณหภูมิสูง 1,200 องศาเซลเซียส ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ มีระบบควบคุมมลพิษ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จะมีหน้าที่หลักในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ป้องกันไม่ให้กลับมาเสพซ้ำ โดยในปีนี้ ตั้งเป้านำผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดและลดอันตรายจากยาเสพติด จำนวน 132,602 ราย ปัจจุบันมีผู้เข้ารับการบำบัดในหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 92,360 ราย แบ่งเป็นสมัครใจ 44,762 ราย ต้องโทษ 43,077 ราย และศาลส่งมาบำบัด 4,521 ราย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถขอคำปรึกษาและรับการบำบัดรักษาได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง หรือโทรสายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 ตลอด 24 ชั่วโมง