ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สธ.เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมใน 12 จังหวัด กระทบ รพ. 11 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง

สธ.เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมใน 12 จังหวัด กระทบ รพ. 11 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง Thumb HealthServ.net
สธ.เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมใน 12 จังหวัด กระทบ รพ. 11 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง ThumbMobile HealthServ.net

สธ.เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมใน 12 จังหวัดใกล้ชิด กาฬสินธุ์และอุบลราชธานี ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้น สถานบริการสาธารณสุขกระทบ 11 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง ที่ รพ.สต.บ้านต้นธง จ.ลำปาง กำชับเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม ทั้งไข้หวัดใหญ่ อุจจาระร่วง ตาแดง น้ำกัดเท้า โรคฉี่หนู อุบัติเหตุและสัตว์มีพิษ จัดบริการทางการแพทย์ดูแลประชาชนต่อเนื่อง โดยส่วนกลางพร้อมให้การสนับสนุน

 
 
          1 ตุลาคม 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยจากฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ว่า ได้รับรายงานจากกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน - 1 ตุลาคม 2566 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบสะสม 28 จังหวัด ส่วนใหญ่สถานการณ์เริ่มกลับสู่ปกติ


          ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 12 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ตาก สุโขทัย กาฬสินธุ์ ยโสธร อุบลราชธานี และปราจีนบุรี ส่วนใหญ่ระดับน้ำลดลงแล้ว ยกเว้นเพชรบูรณ์ระดับน้ำยังทรงตัว ส่วนกาฬสินธุ์และอุบลราชธานี ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้น

          สำหรับสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 11 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 2 แห่ง สาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง และ รพ.สต. 8 แห่ง โดยสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ 10 แห่ง มีเพียง 1 แห่ง ที่ต้องปิดบริการ คือ รพ.สต.บ้านต้นธง อ.แม่พริก จ.ลำปาง
 
 
          นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า ได้กำชับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อุทกภัยทุกแห่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประสานหน่วยงานการแพทย์ฉุกเฉินหรือมูลนิธิในการเข้าช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน พร้อมทั้งเฝ้าระวังและป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม 3 กลุ่ม ทั้งพื้นที่น้ำท่วมและหลังน้ำลด คือ 1.กลุ่มโรคติดเชื้อ ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังจากเชื้อรา โรคตาแดงจากเชื้อไวรัส โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ และโรคไข้ฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส 2.สัตว์ แมลงมีพิษกัดต่อย เช่น งู แมลง ปลิง เป็นต้น และ 3.อุบัติเหตุอื่นๆ ได้แก่ จมน้ำ ไฟฟ้าดูด วัตถุแหลมคม โดยเน้นให้ความรู้ประชาชนหลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบูท ถึงบ้านแล้วให้อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด รับประทานอาหารสุกร้อน ล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร หากมีอาการเจ็บป่วยทางเดินหายใจให้สวมหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน

*ภาพจากสมาคมกู้ภัยลำปาง
 
 
          ทั้งนี้ หน่วยงานสาธารณสุขทุกพื้นที่ได้เตรียมจัดบริการทางการแพทย์ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเมื่อจำเป็น และสำรองยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ โดยยังคงให้การดูแลผู้ประสบอุทกภัยต่อเนื่อง เช่น ที่จังหวัดอุบลราชธานี ให้บริการตรวจรักษา 79 ราย พบเป็นโรคน้ำกัดเท้า 38 ราย ไข้หวัด 40 ราย และอุจจาระร่วง 1 ราย ประเมินสุขภาพจิต 99 ราย พบมีอาการเครียดเล็กน้อย 14 ราย ที่จังหวัดลำปาง ได้จัดทีมเฝ้าระวังสอบสวนควบคุมโรคในพื้นที่ระดับอำเภอ (CDCU) / ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค (JIT) 5 ทีม และทีมเยียวยาจิตใจ MCATT 5 ทีม ออกเยี่ยมบ้าน 65 ครัวเรือน ประเมินสุขภาพจิต 22 ราย ยังไม่พบผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ขณะที่ส่วนกลางได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ให้กับจังหวัดอุดรธานีและอุบลราชธานี จังหวัดละ 1,500 ชุด รวม 3,000 ชุด และพร้อมให้การสนับสนุนทุกพื้นที่ทันทีเมื่อได้รับการประสาน



การเฝ้าระวังก่อนหน้า


28 กันยายน 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ว่า จากสถานการณ์หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางกำลังจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบนตามแนวร่องมรสุม ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ กทม.และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 26-29 กันยายน 2566 ล่าสุดยังคงมีสถานการณ์ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย ยโสธร อุบลราชธานี อุดรธานี ปราจีนบุรี และยะลา ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,584 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย ที่จังหวัดจันทบุรี รวมถึงสูญหายอีก 1 ราย ที่จังหวัดยะลา ภาพรวมมีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 7 แห่ง เป็น รพ.สต. 5 แห่ง สาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง และโรงพยาบาล 1 แห่ง ทั้งหมดสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ

 
          นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ในจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ว่า ระดับน้ำแม่น้ำมูลยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ในเกณฑ์วิกฤต ระดับน้ำล้นตลิ่งทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบด้านการดำรงชีพใน 2 อำเภอ คือ อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ รวม 1,987 คน มีการตั้งจุดพักพิงแล้ว 11 แห่ง แบ่งเป็น อ.เมืองอุบลราชธานี 9 แห่ง ดูแล 78 ครัวเรือน 268 คน และ อ.วารินชำราบ 2 แห่ง ดูแล 119 ครัวเรือน 424 คน รวมทั้งหมด 197 ครัวเรือน 692 คน ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเปราะบาง 239 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 64 ราย เด็กอายุ 2-12 ปี 55 ราย ความดันโลหิตสูง 55 ราย เบาหวาน 20 ราย ผู้พิการ 16 ราย เป็นต้น ได้ให้การดูแลโดยคัดกรองความเครียดในจุดพักพิง 99 ราย พบมีความเครียดเล็กน้อย 14 ราย ส่วนการเจ็บป่วยทั่วไปพบเป็นไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่ 24 ราย น้ำกัดเท้า 19 ราย และอุจจาระร่วง 1 ราย
 
 
          “จากปริมาณฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ระดับน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำมูลจะสูงกว่าตลิ่ง 0.84 เมตร ปริมาณน้ำจะล้นตลิ่งต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ จึงขอให้หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีเตรียมยาและเวชภัณฑ์ให้พร้อมช่วยเหลือดูแลประชาชนในพื้นที่” นพ.โอภาสกล่าว
 


อนามัยเตรียมทีมฉุกเฉินพร้อมลงพื้นที่


          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาว ทำให้มีฝนตกหนัก ลมกรรโชกแรก และบางพื้นที่มีดินโคลนถล่ม ส่งผลให้จังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี และยโสธรประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งมีการตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่แล้ว เบื้องต้น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบหมายกองอนามัยฉุกเฉินประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง ร่วมกับ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ และศูนย์อนามัยที่ในพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนภารกิจการจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เช่น วัสดุ อุปกรณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมรองรับสถานการณ์น้ำท่วม ชุดสาธิตการจัดการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือชุดเราสะอาด (V-Clean) ชุดตรวจประเมินและจัดการการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ เป็นต้น
 
          นายแพทย์กฤษฎา ศิริชัยสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี กล่าวว่า ทีมปฏิบัติการฯ ของหน่วยงาน ได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือแล้ว โดยในศูนย์อพยพดำเนินการภายใต้หลัก 3S คือ 1) Survey สำรวจเตรียมการจัดกระบวนการเฝ้าระวัง 2) Surveillance กำหนดผังงานและจัดการระบบที่ดี 3) System ส่งทีมภารกิจปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของศูนย์อนามัย จะช่วยสนับสนุนการสำรวจ ประเมินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและจัดพื้นที่พักอาศัยผู้ประสบภัยที่ไม่แออัด มีการระบายอากาศที่ดี การจัดการห้องน้ำ ห้องส้วมทั้งส้วมที่มีในศูนย์อพยพที่มีโครงสร้าง หรือส้วมเคลื่อนที่ที่หน่วยงานจัดเตรียมไว้กรณีไม่มีโครงสร้างอาคารรองรับ และต้องมีความสะอาดเพียงพอกับผู้เข้าอาศัย มีความปลอดภัยได้มาตรฐานมีการจัดบริการถังขยะแบ่งแยกประเภทเพียงพอ มีระบบการรวบรวม จัดเก็บ และขนส่งไปกำจัดที่ดี สำหรับอาหารถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ประชาชนได้กินอาหารที่สะอาด มีการปรุงประกอบอาหาร และการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์แมลงและการระบาดของโรคต่างๆ
 
 
          อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับประชาชนเพื่อสุขอนามัยที่ดีและความปลอดภัย ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วม ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุเป็นกลุ่มวัยที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำหรืออยู่ใกล้น้ำ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้และไม่ปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง หากมีน้ำท่วมในพื้นที่ให้จัดเตรียมสิ่งของขึ้นที่สูง เตรียมยาและอาหารแห้งสิ่งของจำเป็น เตรียมกระสอบทรายสำหรับอุดปิดทางน้ำไหล เรียนรู้เส้นทางอพยพในพื้นที่ ห้ามขับรถเข้าไปในพื้นที่น้ำท่วมหรือน้ำหลาก หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัย

 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด