เทียบอเมริกันกับไทย
เรามักจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนประเทศอื่นขึ้นอยู่เสมอว่า เขามีรายได้มากมาย สามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องรัดเข็มขัดประหยัดจนเอวคอดกิ่วเหมือนกับที่มนุษย์เงินเดือนของประเทศไทยเป็นอยู่
ลองมาดูกันว่าคนไทยกับคนอเมริกันมีค่าใช้จ่ายในด้านใดกันบ้างและเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของรายจ่ายทั้งหมด
จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2016 ระบุเกี่ยวกับรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนอเมริกันไว้ดังนี้
รายได้
ค่าเฉลี่ยรายได้ต่อครัวเรือนของคนอเมริกัน อยู่ที่ 74,664 ดอลล่าร์ต่อปี (ราว 2.38 ล้านบาท คำนวนที่ 32 บาท/ดอลลาร์)
รายจ่าย
ครัวเรือนอเมริกัน มีรายจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 57,311 ดอลล่าร์ต่อปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 77% ของรายได้ทั้งหมด โดยใช้เงินไปกับ
- ค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ประมาณ 33% หรือ 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
- รองลงมาคือค่ายาและค่ารักษาพยาบาลประมาณ 22%
- ส่วนค่ายานพาหนะและค่าเดินทางประมาณ 16% และ
- ค่าอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 13 %
สรุปได้ว่าพลเมืองอเมริกันจ่ายเงินกับการมีบ้านและการดูแลบ้านมากที่สุด รองลงมาคือการดูแลสุขภาพ แต่ถ้าคิดว่าค่าใช้จ่ายสำหรับปัจจัยสี่คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย สำหรับคนอเมริกันรวมกันแล้วอยู่ที 73% ของรายจ่ายทั้งหมด
หันมามองประเทศไทยกันบ้าง สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า
รายได้ต่อครัวเรือนของประเทศไทยในปี 2016 อยู่ที่ 26,946 บาทต่อเดือน
และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 21,437 บาท หรือคิดเป็น 80% ของรายได้เฉลี่ย โดยมี
- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 35% หรือกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด
- รองลงมาคือค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ในครัวเรือนประมาณ 20%
- ค่ายานพาหนะและค่าเดินทางประมาณ 17%
- และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่น ภาษี เบี้ยประกันภัย ดอกเบี้ย และสลากกินแบ่ง อีกประมาณ 13%
สรุปว่าคนไทยเสียเงินกับเรื่องกินมากที่สุด รองลงมาคือเสียเงินให้กับที่อยู่อาศัย แต่ถ้าถ้าคิดเฉพาะปัจจัยสี่ก็จะอยู่ที่ประมาณ 62% ของรายจ่ายทั้งหมด
ความแตกต่างทางโครงสร้าง
เมื่อเอารายจ่ายของไทยกับอเมริกันมาเทียบกัน ก็จะเห็นความแตกต่างในเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจน สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ครัวเรือนของคนไทยมากกว่าคนอเมริกันประมาณ 3% คนอเมริกันใช้เงินไปกับปัจจัยสี่มากกว่าคนไทยถึง 11% ซึ่งที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหารและยารักษาโรค เป็นองค์ประกอบพื้นฐานจำเป็นของชีวิตมนุษย์ ซึ่งก็เป็นเรื่องถูกต้องที่เราจะต้องใช้จ่ายกับเรื่องจำเป็นเหล่านี้มากที่สุด
การที่คนไทยใช้จ่ายกับปัจจัยสี่น้อยกว่าคนอเมริกันค่อนข้างมาก อาจจะมาจากการที่สังคมไทยยังเป็นครัวเรือนใหญ่กว่าครอบครัวเดี่ยวแบบอเมริกัน ทำให้ต้นทุนของค่าใช้จ่ายอันเกิดจากปัจจัยสี่มีน้อยกว่า เนื่องจากมรดกตกทอดหรืออาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีการรวมรายได้และช่วยเฉลี่ยค่าใช้จ่าย อีกทั้งค่าแรงงานในการดูและและบำรุงรักษาบ้านในประเทศไทยยังถูกกว่าอเมริกาค่อนข้างมาก
ความจริงที่สวนทาง
เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทค่าใช้จ่ายพบว่า คนไทยเสียค่าอาหารมากกว่า 1 ใน 3 ของรายจ่ายทั้งหมด ในขณะที่คนอเมริกันเสียเงินไปกับการกินเพียงแค่ 13% แสดงว่า ราคาอาหารของประเทศไทยที่เราว่าถูก กลับเป็นของแพงเมื่อเทียบกับอัตราค่าของชีพของคนไทย
คนอเมริกันเสียค่าใช้จ่ายกับบ้านและการดูแลบ้านมากกว่าคนไทยถึง 13% แสดงให้เห็นถึง การให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ที่ต้องการความรู้สึกอบอุ่น มีความเป็นส่วนตัวและมีชีวิตที่ดี นอกเหนือจากเวลาที่อยู่นอกบ้าน
แต่ในทางกลับกัน คนอเมริกันเสียเงินกับค่ายาและค่ารักษาพยาบาลประมาณ 22% ในขณะที่คนไทยใช้จ่ายเงินด้านนี้เพียงแค่ 3.4% เท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ให้เงินสนับสนุนและอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก
จากโครงสร้างค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทยเราจะเห็นได้ว่า ประเด็นสำคัญสำหรับทุกคน คือ การลดค่าใช้จ่ายโดยรวมลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม ให้ลงมาอยู่ในราคาที่ประชาชนสามารถจับต้องได้ ลดค่าใช้จ่ายในหมวดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค เช่น ค่าของขวัญ ค่าซื้อสลากกินแบ่ง หรือหวยใต้ดินลง เพื่อรับมือกับสถานการณ์อนาคตที่ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้น ตามต้นทุนด้านสุขภาพและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้คนไทยได้มีปัจจัยสี่อย่างเพียงพอและสอดคล้องกับรายได้ที่พวกเขามีซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
ดร.พนิต ภู่จินดา
*** บทความนี้เผยแพร่บนเว็บไซต์ Rabbit Today เมื่อปี 2019