30 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.30 น. นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โครงการ Doctor Train ครั้งที่ 3 ที่สถานีนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดี คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมด้วย คณะผู้บริหารการรถไฟฯ และคณะผู้บริหาร คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้บริการตรวจคัดกรองโรค แก่พี่น้องประชาชน เจ้าหน้าที่ ลูกจ้างการรถไฟฯ และครอบครัวฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 30 – 31 พฤษภาคม 2566 เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาและเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีได้อย่างเท่าเทียมกัน
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมหน่วยแพทย์เฉพาะทางเคลื่อนที่ หรือ Doctor Train ถือเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่การรถไฟฯ จัดขึ้นตามนโยบายของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายมุ่งเสริมสร้างสุขภาพอนามัยที่ดีแก่พนักงาน ครอบครัวคนรถไฟ และประชาชนทั่วไป โดยได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม ในการนำศักยภาพของแต่ละฝ่ายมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการให้บริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และคลินิกเฉพาะทางเคลื่อนที่ทางรถไฟ
ทั้งนี้ ได้มีการระดมทีมอาจารย์แพทย์ระดับแนวหน้าของเมืองไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ จากคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาร่วมให้บริการออกหน่วยแพทย์เฉพาะทางเคลื่อนที่มาให้บริการถึงพื้นที่
นายเอกรัชกล่าวว่า สำหรับโครงการ Doctor Train ที่จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นการจัดขึ้นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หลังจากประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จากการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ใน 2 ครั้งที่ผ่านมา ครั้งแรกที่จังหวัดชุมพร และครั้งที่ 2 ที่จังหวัดลำปาง โดยการรถไฟฯ และ สจล.ได้นำทีมแพทย์มาให้บริการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรค ได้แก่ การตรวจโรคหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG ตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจ (ECHO) ตรวจคัดกรองจอประสาทตา โรคอายุรกรรม ตรวจสุขภาพทั่วไป เช่น โรคปอด ภูมิแพ้ เบาหวาน ความดัน รวมถึง ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แก่ประชาชน เจ้าหน้าที่ ลูกจ้างการรถไฟฯ และครอบครัว ในจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมใช้บริการตรวจสุขภาพมากกว่า 300 คน และภายหลังจากเข้ารับบริการตรวจแล้ว หากพบอาการเจ็บป่วย คณะแพทย์จะส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่มีความร่วมมือเพื่อทำการรักษาต่อทันที พร้อมทั้งมีระบบการติดตามอาการโดยพัฒนา chatbot เพื่อเฝ้าติดตามอาการผ่านทางทีมแพทย์ที่มีความชำนาญอย่างต่อเนื่อง และหลังจากนี้ การรถไฟฯ และ สจล. มีแผนจะออกให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปยังภูมิภาคอื่นต่อไปอีกด้วย
ท้ายนี้ การรถไฟฯ ขอส่งมอบความห่วงใย และมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน พนักงาน ลูกจ้างการรถไฟฯ และครอบครัว ให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการรักษา และดูแลสุขภาพอนามัยที่ดีได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน