วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล รับนักศึกษาระดับปริญญาโท
โดยหลักสูตรนี้พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบบริการสุขภาพในเร็ววัน ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดิจิทัลให้เร็วยิ่งขึ้น
การเกิดขึ้นของหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รุ่นแรก ในปีการศึกษา 2565 จะทำให้เกิดการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านสุขภาพ ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยจะมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ นักวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ นักเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพ นักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ นวัตกรหรือนักวิจัยด้านสุขภาพดิจิทัล นักบริหารฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ออกสู่ตลาดแรงงานขั้นสูง ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ หลักสูตรยังมุ่งเน้นติดอาวุธด้านสุขภาพดิจิทัลให้กับบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน อาทิเช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ ฯลฯ ให้มีศักยภาพในการทำงานด้านสุขภาพดิจิทัล เพื่อทำให้ระบบบริการสุขภาพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่เหมาะสม ทั่วถึงและยั่งยืนสำหรับทุกคน สมดังวิสัยทัศน์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่จะ "สร้างสุขภาวะที่ดีและเท่าเทียมเพื่อทุกชีวิต ด้วยวิทยาการขั้นสูง นวัตกรรม และความเป็นเลิศ" และสอดคล้องกับ Global Strategy on Digital Health 2020-2025 ขององค์การอนามัยโลกที่จะ "Promote healthy lives and wellbeing for everyone, everywhere, at all ages"
หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล ใช้การเรียนการสอนแบบ Blended Learning เพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียน ควบคู่ไปกับการทำงาน โดยหลักสูตรฯ ถูกพัฒนาขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) ในระบบบริการสุขภาพ ทำให้เกิดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ที่มีอิทธิพลต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุข อาทิเช่น การนำระบบจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) มาใช้ร่วมกับการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ในการจัดการข้อมูลเชิงเวชสารสนเทศ (Medical Informatics) ซึ่งสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ทั้งการปรับปรุงการวินิจฉัยทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น การรักษาโดยใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ รวมถึงการนำข้อมูลมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย เป็นต้น
เป้าหมายและปรัชญาหลักสูตร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวิน จองวรรณศิริ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยว่า หลักสูตรฯ นี้มีความตั้งใจในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาระบบบริการและระบบบริหารจัดการสุขภาพ โดยเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ทางด้านสุขภาพดิจิทัลและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ผ่านการเรียนการสอนในรูปแบบ Blended Learning ที่ประกอบไปด้วย Online Learning และ Face-to-Face Learning
โดยปรัชญาของหลักสูตรคือ การสร้างผู้นำด้านสุขภาพดิจิทัลที่สามารถประยุกต์องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ เพื่อยกระดับการบริการสุขภาพสู่อนาคต มีทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และสร้างสรรค์งานวิจัยหรือนวัตกรรม บนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลสุขภาพ
สำหรับรูปแบบของหลักสูตร เป็นหลักสูตรระดับปริญญาโท ระยะเวลาการศึกษา 2 ปี ผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร (PLOs) มีทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่
PLO1: อธิบายองค์ความรู้ทางด้านสุขภาพดิจิทัลที่ทันกับยุคสมัยการแพทย์ในปัจจุบัน
PLO2: ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านข้อมูลสุขภาพและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในระบบบริการสุขภาพ
PLO3: ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ เพื่อนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่เข้าใจง่ายให้กับสหสาขาวิชาชีพ
PLO4: บริหารจัดการการเรียนรู้และโครงการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิผล
PLO5: ทำงานร่วมกันในสหสาขาวิชาชีพ โดยคำนึงถึงจริยธรรมและสังคม
เปิดรับสมัคร 15 ท่าน!! โดยเปิดรับสมัคร 2 รอบ ดังนี้
รอบที่ 1 เปิดรับสมัคร เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนธันวาคม 2565
รอบที่ 2 เปิดรับสมัคร เดือนมีนาคม ถึง เดือนเมษายน 2566
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมการรับสมัครของหลักสูตรสุขภาพดิจิทัล วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ที่
https://pscm.cra.ac.th/
อีเมล์ dhpscm@cra.ac.th
โทรศัพท์ 02-576-6000 ต่อ 8465
หรือติดตามข่าวสารของหลักสูตรได้ทาง:
facebook.com/DHPSCM.CRA