ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สธ.รายงานผลกระทบสถานพยาบาล ใน 3 จังหวัด จากเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมา

สธ.รายงานผลกระทบสถานพยาบาล ใน 3 จังหวัด จากเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมา HealthServ.net
สธ.รายงานผลกระทบสถานพยาบาล ใน 3 จังหวัด จากเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมา ThumbMobile HealthServ.net

สธ.รายงานผลกระทบสถานพยาบาลจากเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมา ใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ และสกลนคร ตรวจสอบเบื้องต้นพบร้อยร้าวแต่ไม่มีผลต่อโครงสร้างอาคาร สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ ส่วนรพ.สกลนคร ยังปิดให้บริการ รอผลทางเทคนิคก่อนประกาศเปิดใช้

 
         17 พฤศจิกายน 2566 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ความรุนแรงขนาด 6.4 ในเขตพื้นที่ จ.เชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมา  สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทย


          นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับรายงานสถานการณ์และ รายงานผลกระทบต่อสถานพยาบาลและการให้บริการสาธารณสุขในพื้นที่ เบื้องต้นพบใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ และสกลนคร
           
             1. เชียงราย มีหน่วยบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลแม่ลาว โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร โรงพยาบาลแม่จัน โรงพยาบาลพาน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ  โรงพยาบาลเชียงแสน โรงพยาบาลพญาเม็งราย โรงพยาบาลดอยหลวง โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง และโรงพยาบาลแม่สาย

              ปัญหาที่พบคือ เกิดรอยร้าว รอยแยกหลายจุด ทั้งภายในและภายนอกอาคาร แต่ไม่ได้มีผลกระทบโครงสร้างหลัก

               สำหรับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้ปิดบริการบางส่วนที่ตึกกุมารเวช และทำการโอนย้ายผู้ป่วยไปที่ตึกสงฆ์แทน พร้อมทั้งมีคำสั่งให้สำรวจโครงสร้างหลักตึกสูงอย่างละเอียดโดยให้สาธารณสุขนิเทศก์และเจ้าหน้าที่กองวิศวกรรมการแพทย์ สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบเพิ่มเติม


 
สธ.รายงานผลกระทบสถานพยาบาล ใน 3 จังหวัด จากเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมา HealthServ

               2. เชียงใหม่  เบื้องต้นมีรายงานความเสียหาย 2 แห่ง ได้แก่

              - โรงพยาบาลสันทราย อาคารมีรอยร้าวเพิ่มหลายจุด และรอยร้าวเดิมเพิ่มความยาวขึ้น

              - โรงพยาบาลเชียงดาว พบรอยร้าว 1 แห่งที่ห้องยา

                 สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 เชียงใหม่ จะเข้าตรวจสอบและประเมินความเสียหายแล้ว และทั้งสองแห่งเปิดบริการตามปกติ 


              ล่าสุด 18 พฤศจิกายน 2566 เวลา 17.00 น. ได้รับรายงานจากกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่ามีสถานพยาบาลที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ คือ

              - โรงพยาบาลสันกำแพง อาคารมีรอยแตกร้าว ฝ้าเพดานตกลงมา 1 จุด ส่วนบ้านพักเจ้าหน้าที่ อาคารบริการอื่นๆ ทุกหลังอยู่ในสภาพปกติ และ

              - โรงพยาบาลไชยปราการ อาคารผู้ป่วยนอกหลังเก่ามีร้อยร้าวบนผนังหลายจุด

              เบื้องต้นศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 เชียงใหม่แจ้งว่าไม่มีผลต่อโครงสร้าง สถานบริการทั้ง 2 แห่งสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ โดยในวันนี้จะเข้าตรวจสอบและประเมินความเสียหายอีกครั้ง





              3. สกลนคร ตึกอุบัติเหตุฉุกเฉิน 9 ชั้น เกิดการสั่นไหวและมีรอยร้าว ได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากตึก และประกาศปิดบริการอาคารดังกล่าวทั้งหมด งดให้บริการผู้ป่วยนอก กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินให้ส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงหรือรับบริการที่ ตึกรังสีรักษา ก่อนชั่วคราว เบื้องต้นทีมโยธาธิการของจังหวัดได้ตรวจสอบโครงสร้างพบว่าน่าจะไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ทีมช่างจากส่วนกลางจะเข้าตรวจสอบอีกครั้งช่วงสุดสัปดาห์นี้ สำหรับจังหวัดอื่นๆ ที่ได้รับแรงสั่นไหวแต่ไม่ได้รับผลกระทบมี 6 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิจิตร ชัยนาท กำแพงเพชร และอุทัยธานี
สธ.รายงานผลกระทบสถานพยาบาล ใน 3 จังหวัด จากเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมา HealthServ
  


 

สธ.ส่งทีมตรวจประเมินโครงสร้าง


 
          นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับการประเมินโครงสร้างอาคาร กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ส่งทีม MSERT เข้าตรวจสอบสถานพยาบาลทั้งหมดแล้ว สามารถเปิดให้บริการตามปกติได้ 15 แห่ง เหลือเพียงโรงพยาบาลสกลนครที่ยังคงปิดให้บริการบางส่วน และได้ย้ายจุดบริการออกมาชั่วคราว เนื่องจากประชาชนยังไม่มั่นใจเรื่องของโครงสร้างอาคาร โดยทีมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทีมวิศวกรอาสา ได้ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบในครั้งนี้ด้วย เบื้องต้นรอยร้าวไม่มีผลต่อโครงสร้างอาคาร แต่ยังต้องรอผลทางเทคนิค ก่อนที่จะประกาศให้เปิดใช้งาน เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับประชาชน 

กรมอนามัย ส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยลงพื้นที่เหนือ-อีสาน ประเมินผลกระทบสุขภาพจากเหตุแผ่นดินไหว

 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายทีมปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม (ทีมSEhRT) ศูนย์อนามัยลงพื้นที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และประเมินผลกระทบด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมจากแผ่นดินไหวในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมทั้งแนะนำประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวอย่างปลอดภัย 
 
        แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลรายงานการเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 08.37 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศเมียนมา ขนาด 6.4 ความลึก 9 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 100 กิโลเมตร ส่งผลให้เกิดความสั่นสะเทือนในหลายจังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร และกรุงเทพมหานคร จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับผลกระทบ เช่น ประชาชน มีอาการวิงเวียนศีรษะ อาคารสูง สถานที่ต่างๆ บ้านเรือนของประชาชน รวมถึงสถานบริการสาธารณสุขหลายแห่งได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือน เช่น โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร จ.สกลนคร ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือน ทำให้ตัวอาคารมีรอยแตกร้าวขนาดใหญ่ ต้องอพยพผู้ป่วยและประชาชนออกจากพื้นที่ 
 
          แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยได้มอบหมายให้ทีมปฏิบัติการทีม SEhRT ของศูนย์อนามัย ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ประเมินผลกระทบทางสุขภาพและความเสียหายด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ในสถานบริการสาธารณสุขที่เสียหายและชุมชน ได้แก่ ความปลอดภัยอาคาร ระบบออกซิเจน ระบบไฟฟ้าและไฟฟ้าสำรอง ระบบสาธารณูปโภค ระบบบำบัดน้ำเสีย และเร่งเฝ้าระวังด้านสุขาภิบาล เช่น การปนเปื้อนสารเคมีในน้ำจากระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาลที่เสียหาย การปนเปื้อนของฝุ่นละอองที่เกิดจากอาคารพังทลายเสียหาย เป็นต้น สำหรับประชาชนให้เร่งสื่อสารสร้างความรอบรู้เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน คือ 1) ติดตาม รับฟังข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐ เมื่อเกิดเหตุให้ตั้งสติ และเตรียมพร้อมอพยพ 2) กรณีอาศัยอยู่ภายในบ้านให้หมอบลงที่พื้นใต้โครงสร้างอาคารแข็งแรง ป้องกันสิ่งของจากเพดานหรือที่สูงหล่นใส่ 3) กรณีเปิดแก๊สประกอบปรุงอาหาร ให้หยุดการทำกิจกรรมดังกล่าว และปิดแก๊สโดยทันที 4) กรณีอยู่ในอาคารสูง คอนโด อพาร์ทเม้นท์ให้เตรียมอพยพ หากมีความรุนแรงต่อเนื่อง ให้รีบออกจากอาคารทันที โดยใช้ทางหนีไฟ ห้ามใช้ลิฟท์โดยสารเด็ดขาด เมื่อพ้นจากอาคารให้ออกไปให้ห่างจากตัวอาคารให้มากที่สุด และต้องคำนึงถึงบุคคลในบ้านที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพควรเตรียมหาทางพาออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วน 5) ออกห่างจากหน้าต่าง และประตู โดยเฉพาะกระจก ป้องกันอันตราย และลดความเสี่ยงการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากกรณีตัวโครงสร้างที่ถูกทำลาย จากแผ่นดินไหวรุนแรง 6) กรณีที่อยู่นอกตัวอาคารอยู่แล้ว ห้ามเข้าไปในอาคาร และสังเกตจุดที่ยืนหลบภัย ต้องไม่มีสิ่งปลูกสร้างสูง ป้ายโฆษณา ต้นไม้ เสาไฟฟ้า โดยรอบ เพื่อป้องกันการถล่มหรืออุบัติเหตุ และ 7) เตรียมเก็บสิ่งของที่จำเป็นให้พร้อม สามารถหยิบออกมาได้ทันที
 
             “ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ให้ดูแลและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ให้สังเกต ทำความคุ้นเคยทางออกฉุกเฉิน หรือทางหนีไฟที่ใกล้ตัวที่สุด หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะได้สามารถหนีออกมาได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ลดความเสี่ยงการสูญเสีย บาดเจ็บ และเสียชีวิต” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด 

กรม สบส.ส่งทีม MSERT เข้าประเมินโครงสร้างอาคารสถานพยาบาล 14 แห่ง รองรับเหตุแผ่นดินไหวรัฐฉาน

     กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ส่งทีมเอ็มเสิร์ท ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างอาคารของสถานพยาบาลทั้ง 14 แห่ง ในจังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่ และสกลนคร เพื่อเตรียมความพร้อม ในการฟื้นฟูอาคารสถานพยาบาลในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อโครงสร้าง ให้เกิดความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้รับบริการ ตลอด 24 ชั่วโมง
 
                 นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณี การเกิดแผ่นดินไหว ในเช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ณ รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งสามารถรับรู้ความสั่นไหวได้ทั่วภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่รับรู้แรงสั่นสะเทือนได้มากที่สุด ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่ออาคารสถานพยาบาล ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหลายแห่ง กรม สบส.จึงสั่งการให้ทีมเอ็มเสิร์ท (Medical Supportive Emergency Response Team : MSERT) หรือทีมวิศวกรฉุกเฉิน ซึ่งประกอบด้วย วิศวกรเครื่องมือแพทย์ และวิศวกรโยธา ของศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 และ 8 ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างอาคารของสถานพยาบาลใน 3 จังหวัด ทั้ง 14 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย 1. จังหวัดเชียงราย ได้แก่ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์, โรงพยาบาลแม่ลาว, โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร, โรงพยาบาลแม่จัน, โรงพยาบาลพาน, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เชียงของ, โรงพยาบาลเชียงแสน, โรงพยาบาลพญาเม็งราย, โรงพยาบาลดอยหลวง, โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง และโรงพยาบาลแม่สาย 2. จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลสันทราย และโรงพยาบาลเชียงดาว 3. จังหวัดสกลนคร ได้แก่ โรงพยาบาลสกลนครเพื่อประเมินความเสี่ยง และฟื้นฟูอาคารสถานพยาบาลในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อโครงสร้าง พร้อมกำชับทีมเอ็มเสิร์ท ให้เฝ้าระวังสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้รับบริการ ตลอด 24 ชั่วโมง
 
                 ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน โครงสร้างอาคารเดิมของสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว ทางกองแบบแผน กรม สบส.ได้ดำเนินการออกแบบปรับปรุงโครงสร้างให้มีความมั่นคง แข็งแรงสามารถต้านทานการสั่นสะเทือนหากเกิดแผ่นดินไหวแล้ว ส่วนอาคารที่ก่อสร้างใหม่ กองแบบแผน ได้ออกแบบให้เป็นอาคารต้านแผ่นดินไหว ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน จึงสามารถมั่นใจได้ว่าอาคารสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะมีความมั่นคง สามารถรองรับสถานการณ์แผ่นดินไหวได้
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด