ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ทำบุญต้องได้บุญ อย.แนะวิธีเลือกยา-อาหาร เพื่อจัดชุดสังฆทาน ทำบุญวันพระ

ทำบุญต้องได้บุญ อย.แนะวิธีเลือกยา-อาหาร เพื่อจัดชุดสังฆทาน ทำบุญวันพระ Thumb HealthServ.net
ทำบุญต้องได้บุญ อย.แนะวิธีเลือกยา-อาหาร เพื่อจัดชุดสังฆทาน ทำบุญวันพระ ThumbMobile HealthServ.net

อย.แนะนำการมองหาชุดสังฆทานเพื่อการทำบุญ ถวายพระในโอกาสวันพระ ซึ่งชุดสังฆทานมีทั้งแบบสำเร็จรูป และแบบที่จัดชุดสังฆทานด้วยตนเอง และสิ่งที่ได้รับความนิยมเลือกมาจัดชุดสังฆทานมีทั้ง ยา อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ วันนี้ อย. จะมาแนะนำการจัดชุดสังฆทานยาว่าควรเลือกซื้อหรือพิจารณาอะไรบ้างก่อนจะซื้อยามาจัดชุดสังฆทาน ดังนี้

การจัดสังฆทานยา

คำแนะนำ จาก อย. ในการเลือกซื้อยามาจัดชุดสังฆทาน ดังนี้
  1. อ่านฉลากและดูวันหมดอายุของยาทุกประเภทที่นำมาจัดชุดสังฆทานยา
  2. เลือกภาชนะใส่ชุดสังฆทานยาที่เหมาะสม
  3. ควรเลือกยาที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน
  4. เลือกยาที่มีความหลากหลายเพื่อประโยชน์ในการใช้อย่างครอบคลุม
  5. สังเกตบรรจุภัณฑ์ของยาแต่ละชนิดว่าเรียบร้อยดีหรือไม่
  6. ผลิตภัณฑ์ควรมีการแสดงฉลากถูกต้องตามกฎหมาย
 
       โดยยาสามัญประจำบ้านที่แนะนำในการนำมาจัดชุดสังฆทานยา เช่น ยาพาราเซตามอล ยาลดกรด ยาดมแก้วิงเวียน พลาสเตอร์บรรเทาปวด ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ยาใส่แผลโพวิโดน-ไอโอดีน
 
 
ทำบุญต้องได้บุญ อย.แนะวิธีเลือกยา-อาหาร เพื่อจัดชุดสังฆทาน ทำบุญวันพระ HealthServ

การจัดสังฆทานอาหาร


คำแนะนำ จาก อย. ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร มาจัดชุดสังฆทาน ดังนี้
 
  1. เลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่จำเป็นและเหมาะสมกับพระภิกษุ เช่น ข้าวสาร อาหารกระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และน้ำดื่ม เป็นต้น
  2. อ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ต้องแสดงรายละเอียดครบถ้วน ได้แก่ ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ส่วนประกอบ ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้า วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ วิธีการเก็บรักษา วิธีการบริโภค และข้อมูลโภชนาการ เป็นต้น
  3. เลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวันหมดอายุไม่น้อยกว่า 6 เดือน
  4. เลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุในภาชนะที่สะอาด สามารถป้องกันการปนเปื้อนได้ อยู่ในสภาพดี ไม่มีรอยบุบ หรือฉีกขาด กรณีอาหารกระป๋อง ควรดูลักษณะกระป๋อง ต้องไม่บุบบี้ หรือโป่งพอง หรือมีรอยรั่ว และไม่เป็นสนิม
  5. เลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่มีประโยชน์ ดีต่อสุขภาพ โดยสังเกตสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เกิดจากการบริโภคอาหารรส หวาน มัน เค็ม เกินความเหมาะสม
 
              ไม่ควรนำผลิตภัณฑ์อาหาร ใส่ปะปนกับผลิตภัณฑ์อื่น เพราะอาจปนเปื้อนสารเคมีหรือดูดซับกลิ่น ไม่เหมาะสำหรับรับประทาน หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของพระภิกษุได้

 
ทำบุญต้องได้บุญ อย.แนะวิธีเลือกยา-อาหาร เพื่อจัดชุดสังฆทาน ทำบุญวันพระ HealthServ
  
 
ข้อมูลอ้างอิง :
 
กระทรวงสาธารณสุข. (2563). ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบันฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๖๓).
สืบค้น 27 พฤษภาคม 2565 จาก www.fda.moph.go.th
 
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. (2565). อย. แนะ 5 เคล็ดลับ ทำบุญให้ได้บุญ.
สืบค้น 27 พฤษภาคม 2565. จาก https://oryor.com/

3 เคล็ดลับ เลือกซื้ออาหารถวายพระ

อย. แนะชาวพุทธทำบุญตักบาตร เลือกหาซื้ออาหารถวายพระ ใช้หลัก 3 เคล็ดลับ “2 สังเกต 1 เลี่ยง” สังเกตฉลาก GDA และสังเกตสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice) หลีกเลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์
 
2 สังเกต
 
            1. สังเกตข้อมูลฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amounts ; GDA) ที่แสดงปริมาณค่าของพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ในหน่วยเมตริก (หน่วยของพลังงานเป็นกิโลแคลอรี่) ของอาหารทั้งบรรจุภัณฑ์ (1 ซอง/ 1 กล่อง) ในรูปทรงกระบอกเรียงติดกัน 4 รูป และช่วงล่างใต้รูปทรงกระบอกแสดงค่าร้อยละของปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวัน ซึ่งอยู่บริเวณด้านหน้าของฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร
 
          2. สังเกตสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice) ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นมีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดของกลุ่มอาหารนั้น ๆ  เป็นตัวช่วยสำคัญให้เราเลือกซื้ออาหารที่ลดหวาน มัน เค็ม ให้เหมาะสมต่อสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ให้กับพระสงฆ์ได้
 

1 เลี่ยง
 
เลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์
 
 
          อย.ระบุว่า ปัจจุบันอาหารที่นำมาถวายพระ มีจำนวนไม่น้อยที่มีไขมันสูง มีรสเค็มจัด หรือมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ่ในปริมาณสูง เช่น กาแฟปรุงสำเร็จ ชนิดผง เครื่องดื่มช็อกโกแลตปรุงสำเร็จ ชนิดผง ประเภท 3in1 ผลิตภัณฑ์ขนมอบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น   ซึ่งเหล่านี้ อาจเป็นสาเหตุให้พระสงฆ์ได้รับสารอาหารเกินความต้องการของร่างกาย เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และโรคอื่น ๆ ตามมา

         อย.แนะนำให้ชาวพุทธทุกคนคำนึงถึงคุณค่าทางอาหารที่เป็นประโยชน์ เหมาะสำหรับนำไปถวายพระสงฆ์ โดยก่อนเลือกซื้ออาหารที่อยู่ในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่ายมาใส่บาตรหรือถวายสังฆทาน ให้ยึดหลัก 2 สังเกต 1 เลี่ยง ที่กล่าวถึงข้างต้น

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด