17 กรกฎาคม 2567 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวการ ชันสูตรพลิกศพ ผู้เสียชีวิตชาวเวียดนาม 6 ราย ในโรงแรมย่านราชประสงค์ นำโดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วย รศ.นพ.กรเกียรติ วงศ์ไพศาลสิน อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นพ.ฉันชาย กล่าวนำว่า ศูนย์นิติเวช คณะแพทย์ฯ จุฬา ดูแลพื้นที่เขตลุมพินี ปทุมวัน ได้รับแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิต วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 17-18:00 น. ศูนย์ฯ ได้ส่งทีมลงพื้นที่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ชันสูตรพลิกศพ
อธิบายผลการชันสูตร
รศ.นพ.กรเกียรติ วงศ์ไพศาลสิน อธิบายผลการชันสูตรว่า นิติเวช จุฬามีส่วนร่วมในการชันสูตร โดยเข้าตรวจที่เกิดเหตุ และนำร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมด มายังศูนย์อำนวยการชันสูตรพลิกศพ ภาควิชานิติเวชฯ ในภาพรวม เป็นผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 ราย เป็นหญิง 3 ร่าง ชาย 3 ร่าง
หน้าที่ของศูนย์ฯ ในการชันสูตรในเคสนี้ ดังนี้
1) การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล พบว่าทุกร่างทราบชื่อนามสกุลทั้งหมด รวมถึงเชื้อชาติ เป็นชาวเวียดนาม 4 ราย อเมริกัน 2 ราย จากการตรวจสอบเอกสาร พบว่าตรงกับศพที่ได้รับ
2) การพิสูจน์ประเด็นระยะเวลาการเสียชีวิต ระยะเวลาการเสียชีวิต ประเมินตั้งแต่ตรวจพื้นที่ของสถานที่เกิดเหตุ ที่โรงแรมเอราวัน ในเบื้องต้น ทีมแพทย์ที่เข้าพื้นที่ ประเมินการเสียชีวิตในศพทุกราย ในช่วงเวลา 12-24 ชั่วโมง การเประเมินได้จากการตรวจการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการแข็งตัวของกล้ามเนื้อหลังตาย หรือการตกสู่เบื้องต่ำของเม็ดเลือด โดยในศพทุกราย พบลักษณะปรากฏสอดคล้องกัน ในประมาณเวลา 12-24 ชั่วโมง
3) สาเหตุการเสียชีวิต พนักงานสอบสวนได้ส่งศพทุกรายมาทำการผ่าชันสูตรแยกธาตุ ที่ศูนย์ฯ โดยได้ดำเนินการตั้งแต่เมื่อคืนที่ได้รับศพ สิ่งที่ได้ดำเนินการไป ประกอบด้วย 1) การเก็บภาพหลักฐานของผู้เสียชีวิต 2) การเก็บตัวอย่างผู้เสียชีวิต ประกอบไปด้วย เลือด ปัสสาวะ (ในรายที่เก็บได้) น้ำวุ้นลูกตา (ในรายที่เก็บได้) เพื่อนำไปใช้พิสูจน์หาสาเหตุการตายร่วม 3) ตรวจด้วยซีทีสแกน เพื่อหาร่องรอยการถูกทำร้าย หรือบาดเจ็บ ในเบื้องต้น ไม่พบร่องรายการการถูกทำร้าย จากภาพถ่ายรังสี ในทุกราย 4) การผ่าชันสูตรแยกธาตุ สี่งที่ปรากฏสำคัญที่พบ คือ พบว่าศพทุกรายมีร่องรอยการขาดอากาศเกิดขึ้น ริมฝีปากเป็นสีม่วงเข้ม ใบหน้าต่างๆ รวมถึงการตกสู่เบื้องต่ำของเลือด มีลักษณะพิเศษ รวมถึงเล็บมือมีสีม่วงเข้ม ซึ่งเป็นการบ่งชี้อย่างหนึ่ง ที่สำคัญว่าอาจจะมีการเสียชีวิต ที่เกิดจากการขาดอากาศร่วมด้วย
คุณลักษณะสำคัญอีกอย่างจากการตรวจศพ คือ พบว่า การตกสู่เบื้องต่ำของเลือด สีที่พบเป็นสีเลือดค่อนข้างแดงสด ซึ่งแตกต่างจากเคสการเปลี่ยนแปลงหลังตายทั่วไป ทำให้ทีมชันสูตรได้ตั้งข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่า การเสียชีวิตอาจจะมีสารพิษบางอย่างที่มาเกี่ยวข้อง ซึ่งที่พบได้บ่อย ก็คือ ไซยาไนด์ จึงเป็นที่มาของการเก็บตัวอย่าง เพื่อพิสูจน์สารพิษ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้ตรวจสารไซยาไนด์อย่างเดียว มีการตรวจสารพิษอื่นๆ ประกอบร่วมด้วย
จากการผ่าชันสูตร อวัยวะภายในไม่พบร่องรอยใดๆ ที่สำคัญที่พบด้วยตาเปล่า สิ่งที่พบคือมีการคั่งเลือดของอวัยวะต่างๆ ในปริมาณมากในทุกราย
การสรุปสาเหตุการเสียชีวิต
ทุกรายสรุปสาเหตุารตาย สันนิษฐานสาเหตุจากการเป็นพิษของสารไซยาไนด์ ซึ่งส่งผลต่อการขาดอากาศในระดับเซลส์ ของอวัยวะที่สำคัญ คือ ระบบประสาท และหัวใจ นั่นเป็นสาเหตุการตายของทุกรายที่เกิดขึ้น
หลังจากนั้นได้นำเลือดไปตรวจพิสูจน์คัดกรองสารพิษไซยาไนด์ ด้วยการตรวจห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจให้ผลสีเป็นโพสิทีฟ (เป็นบวก) ซึ่งเป็นผลทำให้เป็นข้อสงสัยว่าเป็น พิษไซยาไนด์ ทั้งนี้ต้องรอผลการตรวจเลือด เพื่อยืนยันผลอีกครั้ง คาดว่าจะทราบผลใน 2 วัน จากนี้
ทั้ง 6 ราย พบไซยาไนด์ ในทุกราย นพ.กรเกียรติ สรุปในตอนท้าย
สรุปเหตุเสียชีวิตจากสารพิษไซยาไนด์
นพ.ฉันชาย สรุปว่า จากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พบ การตรวจสกรีนนิ่งพบว่าเป็นสารพิษไซยาไนด์ในทั้ง 6 ราย ส่วนการตรวจเลือดจะเป็นการตรวจในเชิงลึก ยืนยันในขั้นสุดท้าย ว่าสารไซยาไนด์ในเลือดมีปริมาณเท่าไหร่ มีสารอื่นด้วยหรือไม่ เช่นยาอื่นๆ หรือสารที่อาจอยู่ในร่างกาย ซึ่งต้องใช้เวลารอผลตรวจยืนยัน แต่ด้วยลักษณะที่ตรวจพบภายนอก และ การตรวจอวัยวะภายใน มีลักษณะเข้าได้กับสารไซยาไนด์ ไม่มีเหตุอื่นๆ
ทั้งนี้ ไม่ได้ตัดประเด็นความเกี่ยวข้องอื่นที่จะสาเหตุของการตายออกไป แต่ต้องรอผลเลือดยืนยันผลสรุปในขั้นสุดท้าย
ผลเลือดจากทราบ ในวันศุกร์ที่ 19 กรกฏาคม 2567
ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับสารพิษไซยาไนด์
ระดับไซยาไนด์ในเลือด ถ้ามีปริมาณสูง เช่น 3cc คนไข้มักจะเสียชิวิตทุกราย หากอยู่ที่ระดับ 1-2 cc อาการจะหนัก แต่ถ้ารักษาทันจะมีโอกาศรอด หากถึง 3 หรือเกิน 3 จะเสียชิวิตทุกราย
ในทางนิติเวช ไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอนของการเสียชีวิตได้ โดยหลักการในการประเมินระยะเวลา จะดูจากการเปลี่ยนแปลงหลังตาย ที่สำคัญ 2 ส่วน คือ การแข็งตัวของกล้ามเนื้อหลังตาย และการตกสู่เบื้องต่ำของเม็ดเลือด ทั้งสองปัจจัยจะช่วยระบุได้เพียงช่วงเวลา (time interval) เท่านั้น ไม่สามารถเจาะจงว่ากี่โมงชัดๆ ได้ เพราะว่า การเปลี่ยนแปลงหลังตายนั้น มีปัจจัยรบกวนหลายอย่าง เช่น อุณหภูมิ ร้อนเย็น สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้
พิษของสารพิษไซยาไนด์ ขึ้นกับปริมาณและวิธีการที่ได้รับเข้าไป สามารถรับได้หลายทาง เช่น สูดดม หรือ กินดื่มเข้าไป หากกินเข้าในปริมาณสูงจะเกิดอาการในระยะเวลาสั้น ลักษณะอาการเหนื่อยหอบ หมดสติ ชักเกร็ง เพราะขาดอ็อกซิเจนในสมอง อาการเหล่านี้ เกิดได้ในระยะเวลาเป็นนาที อาจเสียชิวิตได้อย่างรวดเร็วมาก เหตุเพราะพิษไซยาไนด์ จะเสมือนปิดสวิตช์การใช้อ๊อกซิเจนของร่างกาย เป็นการขาดอ๊อกซิเจนเฉียบพลัน แต่หากรับในปริมาณไม่มาก อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ไม่สบาย จะมีเวลาสักระยะเพื่อแก้ไขรักษา
กลิ่นไซยาไนด์ ตามหลักการเป็นไปได้ โดยบางคนสามารถได้กลิ่นไซยาไนด์ได้ ด้วยพันธุกรรม เป็นกลิ่นอัลมอนด์ไหม้ แต่คนส่วนใหญ่จะไม่สามารถได้กลิ่น และโดยทั่วไปแพทย์ไม่สูดดมและไม่แนะนำให้สูดดม เพราะเกรงจะเป็นอันตราย
ลักษณะที่บอกได้ว่าเกิดจากสารพิษไซยาไนด์ เช่น สีเลือดคงเป็นสีเลือด หรือสีแดงชมพู รวมถึงอวัยวะภายในร่างกาย ก็มีลักษณะเป็นสีแดงสดเช่นกัน ซึ่งจะไม่พบในเคสหลังตายปกติ โดยทั่วไปอวัยวะต่างๆ จะมีสีเฉพาะตัว หากพบว่ามีสารพิษไซยาไนด์ จะทำให้มีเลือดสีแดงสดไปเลี้ยงยังอวัยวะเหล่านั้น