ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ฟังคำเตือน-ข้อมูล MPOX จากผู้เชี่ยวชาญไทย ว่าเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังเพียงใด

ฟังคำเตือน-ข้อมูล MPOX จากผู้เชี่ยวชาญไทย ว่าเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังเพียงใด Thumb HealthServ.net
ฟังคำเตือน-ข้อมูล MPOX จากผู้เชี่ยวชาญไทย ว่าเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังเพียงใด ThumbMobile HealthServ.net

นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ เตือนการเฝ้าระวังฝีดาษวานร MPOX


19 สิงหาคม 2567  นพ.ยง ภู่วรวรรณ  ระบุในบทความ "ฝีดาษวานร MPOX สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง"  ว่า 

        เดิมการระบาดของฝีดาษวานร ใน 2 ปีที่ผ่านมา ระบาดมากนอกทวีปแอฟริกา เป็นสายพันธุ์กลุ่ม 2 Clade 2b  รวมทั้งที่พบในประเทศไทยมากกว่า 400 ราย สายพันธุ์นี้ไม่รุนแรง พบในผู้ใหญ่ เพศชาย ส่วนใหญ่จะเป็นการสัมผัสจากเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในชายรักชาย  98% จึงเป็นเพศชาย

        สายพันธุ์ที่มีการระบาดในประเทศคองโก ในปีนี้มีผู้ป่วยนับหมื่นราย และแพร่กระจายไปหลายประเทศในทวีปแอฟริกา เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อยู่ในกลุ่มที่ 1 Clade 1  และมีการเปลี่ยนแปลงเป็น Clade 1b สายพันธุ์นี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ชายและหญิง และที่เสียชีวิตมากส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงกว่า สายพันธุ์กลุ่ม 2 การติดต่อนอกจากสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังพบว่าฝอยละอองทางการหายใจ ก็สามารถทำให้ติดได้ 

        สายพันธุ์นี้จึงเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจจะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ได้ทั่วโลก 

        สำหรับประเทศไทย ทุกรายของฝีดาษวานร จะต้องมีการเฝ้าระวัง ตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว และแยกสายพันธุ์ให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อมาตรการการป้องกันไม่ให้แพร่กระจายของสายพันธุ์กลุ่มที่ 2 ในประเทศไทย

 
 

WHO ประกาศ "ฝีดาษลิง" เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

 
        องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ประกาศให้ Mpox หรือโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ที่ระบาดในมากกว่า 10 ประเทศในทวีปแอฟริกา เป็น “ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) หลังจากโรคแพร่กระจายจากการระบาดสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 450 คน ไปตามประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออก
 
        ซึ่งสถานะ PHEIC คือระดับการเตือนภัยสูงสุดของ WHO เพื่อให้มีการเร่งวิจัย จัดระดมเงินทุน วางมาตรการด้านสาธารณสุข และประสานความร่วมมือระดับโลกเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดดังกล่าว 
 
        สำหรับโรคฝีดาษลิงแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักคือ Clade 1 และ Clade 2 การแพร่ระบาดเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด การสัมผัสผิวหนัง พูดคุยหรือหายใจใกล้ชิดกัน รวมถึงเพศสัมพันธ์ ไวรัสจะทำให้มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด และเกิดแผลพุพองตามร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
 
        ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยถึงเรื่องนี้ว่า กรมควบคุมโรคได้ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองโรค ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และโรงพยาบาลทุกแห่ง พร้อมประสานแจ้งให้คนไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศที่ระบาด สังเกตและแจ้งอาการต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หากสงสัยว่าป่วยภายหลังกลับมาถึงแล้วให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาทันที
 
        ขอประชาชนอย่าวิตกกังวล เพราะไทยมีประสบการณ์รับมือกับโรคฝีดาษลิงที่เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ในช่วงปี 65 - 66 ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และมีระบบเฝ้าระวังคัดกรองและป้องกันควบคุมโรคที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับโลก
 

WHO เปลี่ยนชื่อ Monkeypox เป็น "MPox"


           องค์การอนามัยโลก เปลี่ยนชื่อ Monkeypox เป็น "MPox" เพื่อลดปัญหาการตีตราและความเข้าใจผิด เนื่องจากลิงไม่ได้เป็นพาหะหลักของโรค แต่เป็นหนู Rodent ต่างหาก (แล้วมัน monkey ยังไงแต่แรก?) และเป็นคำที่ใช้เหยียดกลุ่มคนผิวดำและเกย์ 

ข้อมูล mpox โดย ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา


     ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (Biotec) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรค mpox มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่ WHO ประกาศให้ mpox หรือ ฝีดาษลิง เป็นโรคระบาดในภาวะฉุกเฉินที่น่ากังวล  ผ่านเพจ Anan Jongkaewwattana  


     15 สิงหาคม 2024  WHO เพิ่งประกาศให้ mpox หรือ ฝีดาษลิง เป็นโรคระบาดในภาวะฉุกเฉินที่น่ากังวล( Public health emergency of international concern) จากการแพร่กระจายของเชื้อที่รวดเร็วกว่าเดิมมากในทวีปแอฟริกาทำให้เชื่อได้ว่าเชื้อไวรัสที่ระบาดอยู่ในขณะนี้มีศักยภาพในการแพร่ไปสู่มนุษย์ได้ดีขึ้น พูดง่ายๆคือเชื้ออาจเปลี่ยนแปลงไปติดคนง่ายขึ้น จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

     นอกจากนี้ mpox ที่ระบาดตอนนี้ไม่จำกัดไปที่สายพันธุ์ที่หลุดออกมานอกทวีปแล้วกระจายไปหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยเมื่อ 2 ปีก่อน แต่รวมถึงสายพันธุ์รุนแรง (Clade1) ที่เมื่อก่อนพบแต่ใน DRC หรือ คองโก แต่ตอนนี้พบแพร่ออกไปยังหลายประเทศเพื่อนบ้านแล้ว  Clade1 mpox มีความรุนแรงสูงกว่า โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็ก พบอัตราเสียชีวิตสูงกว่า Clade 2 ที่พบกระจายตัวเช่นกัน

     ถึงตอนนี้เชื้อยังระบาดหนักในทวีปแอฟริกาแต่บทเรียนเมื่อ 2 ปีก่อนบอกว่า การหลุดรอดของเชื้อออกมาส่วนอื่นของโลกไม่ยากนัก ยิ่งจำนวนเคสมีเยอะ ระยะฟักตัวนาน เชื้ออาจติดมาจากนักท่องเที่ยวโดยไม่รู้ตัว และ ออกมานอกทวีปแอฟริกาได้ WHO จึงออกคำเตือนว่า mpox ไม่ไกลตัวอย่างที่คิด และ รอบนี้อาจน่ากังวลกว่าเดิม

     ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ไขครับ ดูทรงแล้วอาจพบเคสใหม่นอกแอฟริกาอีกไม่นาน



 
     16 สิงหาคม 2024   ไวรัสฝีดาษลิง หรือ  mpox  Clade I เป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงกว่า Clade II ที่ระบาดอยู่ในช่วงสองปีก่อนในหลายประเทศนอกแอฟริกา แต่ที่เป็นประเด็นร้อนคือ  Clade I ซึ่งมีพื้นที่จำกัดอยู่แต่ในประเทศคองโก (DRC) พบการแพร่กระจายไปในหลายประเทศเพื่อนบ้าน ความกังวลคือ ไวรัสอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปติดคน และ แพร่กระจายง่ายขึ้น..
ที่สำคัญไวรัส Clade I นี้จะออกมานอกแอฟริกาได้

        ซึ่งเป็นไปตามคาด ประเทศสวีเดนเป็นที่แรกที่ประกาศพบผู้ป่วย mpox Clade I ในประเทศ เป็นคนแรกนอกทวีปแอฟริกา...ข่าวนี้สร้างความ panic พอสมควรทีเดียว แต่เอาจริงๆ  บทเรียนจากการระบาดของ Clade II เมื่อ 2 ปี ก่อน บอกว่ามันคงเกิดขึ้นไม่เร็วก็ช้า แต่การรับมือต้องไว และ มีประสิทธิภาพครับ

 

 
     17 สิงหาคม 2024  ไวรัส Mpox ที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนี้จะเป็นคนละสายพันธุ์กับที่ระบาดในหลายประเทศเมื่อ 2 ปีก่อน โดยตอนนั้นเป็น Clade II แต่ตัวที่กำลังเป็นที่จับตามองเป็นสายพันธุ์ Clade Ib ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยในกลุ่ม Clade I โดยในกลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ Clade Ia และ Clade Ib โดยไวรัสในกลุ่ม Clade Ib เป็นไวรัสเพิ่งค้นพบใหม่เมื่อปีที่แล้วใน South Kivu ในประเทศ DRC หรือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งเป็นประเทศที่มีการระบาดของ Clade I มานานแล้ว เหตุการณ์ตอนนี้ไวรัส Clade Ib จาก DRC พบการระบาดอย่างต่อเนื่อง และ แพร่กระจายต่อไปยังประเทศข้างเคียง ข้อมูลไวรัสที่เก็บจากผู้ป่วยใน DRC พบความแตกต่างระหว่าง Clade Ia และ Clade Ib อย่า่งมีนัยสำคัญ มีประเด็นสำคัญคือ
 
     1. สายพันธุ์ Clade Ib ในการศึกษานี้มาจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อในปี 2024 ในจังหวัด South Kivu ซึ่งบ่งชี้ว่า Clade Ib เป็นการพัฒนาที่ค่อนข้างใหม่ใน DRC
 
     2. Clade Ib พบเฉพาะในภาคตะวันออกของ DRC โดยเฉพาะในจังหวัดเซาท์คิวู ซึ่งแตกต่างจากการกระจายตัวที่กว้างขวางของ Clade Ia ทั่วประเทศ
 
     3. เชื่อว่าไวรัส Clade Ia ที่พบในผู้ป่วยจะเกิดจากการเชื้อจากสัตว์สู่คนโดยตรง ทำให้เกิดความหลากหลายพันธุกรรมของไวรัสสูงมาก เพราะมีการติดเชื้อจากสัตว์หลาย source หลายเวลา ส่วน Clade Ib มีความแตกต่างทางพันธุกรรมน้อยกว่ามาก ซึ่งเชื่อมโยงกับการแพร่เชื้อจากคนสู่คนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบาดวิทยาของ mpox ในภูมิภาคนี้
 
     4. การศึกษาพบการกลายพันธุ์ที่เกิดจาก APOBEC3 ใน Clade Ib ซึ่งบ่งชี้ถึงการแพร่เชื้อจากคนสู่คน นี่เป็นหลักฐานทางโมเลกุลที่สนับสนุนข้อสังเกตทางระบาดวิทยา ปกติการกลายพันธุ์ที่เกิดจาก APOBEC3 จะเป็นสัญญาณที่ไวรัสอยู่ในประชากรมนุษย์เป็นเวลาสักระยะหนึ่ง ถ้าพบการเปลี่ยนแปลงเยอะก็หมายถึงไวรัสปรับตัวเองเข้าสู่มนุษย์ได้ดีขึ้น
 
     5. การศึกษาระบุว่าข้อมูลทางคลินิกและระบาดวิทยาสนับสนุนความเป็นไปได้ที่ไวรัส Clade Ib กำลังแพร่กระจายผ่านการสัมผัสทางเพศ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากรูปแบบการแพร่เชื้อ mpox แบบดั้งเดิมใน DRC ซึ่งมักเกิดจากการสัมผัสเชื้อโดยตรง
 
     6. การระบาดของ Clade Ib ในภาคตะวันออกของ DRC ได้แพร่กระจายไปยังเมืองอื่นๆ ในจังหวัดเซาท์คิวู (บูกาวูและอูวิรา) และจังหวัดนอร์ทคิวู (โกมา) รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างรวันดา ยูกันดา เคนยา และบุรุนดี การเกิดขึ้นและการแพร่กระจายของ Clade Ib เป็นความกังวลด้านสาธารณสุขที่สำคัญ นำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา
 
     7. การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอย่างต่อเนื่องของ Clade Ib ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการปรับตัวของไวรัสที่อาจช่วยให้การแพร่กระจายในรูปแบบนี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น
 
     8. ความรุนแรงของเชื้อระหว่าง Clade Ia และ Ib ใกล้เคียงกัน และ มีความรุนแรงที่สูงกว่า Clade II แต่ทั้งนี้ตัวเลขความรุนแรงที่มีอัตราเสียชีวิต 5% เป็นการเก็บข้อมูลในประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่ค่อยดี และ มีการติดเชื้อ HIV เป็นวงกว้างส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยไม่ดี ข้อมูลจึงอาจต้องพิจารณาปัจจัยดังกล่าวด้วย
 
     9. เนื่องจาก Clade I ยังมีอยู่ในแอฟริกา และ วัคซีนที่พัฒนาขึ้นจะทดสอบกับ Clade II ข้อมูลยังไม่ชัดเจนว่า ประสิทธิภาพการป้องกันโรคต่อ Clade I จะดีเท่ากับที่รายงานใน Clade II หรือไม่
 
     *** Clade I อ่านว่า เคลดวัน และ Clade II อ่านว่า เคลดทู ตามตัวเลขโรมัน ของ 1 และ 2 อย่าอ่านว่า เคลดไอ ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร


        18 สิงหาคม 2024   อัตราการเสียชีวิตจากไวรัส Mpox Clade I ในแอฟริกาสูงถึง 10% จริงๆหรือ? นั่นหมายความว่า ติด 10 คน เสียชีวิต 1 คน...มีตัวเลขนี้ใช้อ้างอิงต่อๆกันเยอะมากแต่ยังไม่มีเอกสารอะไรยืนยันโดยเฉพาะกับสถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน ลองเอาตัวเลขอย่างเป็นทางการที่มีการยืนยันจากหน่วยงานที่เชื่่อถือได้อย่าง Africa CDC มาวิเคราะห์ จะเห็นอะไรที่ชัดขึ้นมากเลยครับ

        ผมขอยกตัวเลขจาก 2 ประเทศ คือ DRC และ เบอรุนดีซึ่งเป็นประเทศเล็กๆข้าง DRC และ ไม่เคยมี MPOX ระบาดมาก่อนเพิ่งมีเคสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและแทบทั้งหมดของเคสในประเทศนี้คือ Mpox Clade Ib (สายพันธุ์ที่เป็นที่น่ากังวลกันตอนนี้)

        ข้อเท็จจริงแรกคือ DRC มีผู้ติดเชื้อไวรัส Mpox อยู่มากที่สุด และสายพันธุ์เป็น Clade I ซึ่งรวมถึง Clade Ia และ Clade Ib ตรงนี้สำคัญมากเพราะ Clade Ia เป็นไวรัสสายพันธุ์เดิมที่เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อจากสัตว์ตัวกลางสู่คนโดยตรง แต่ความสามารถในการติดจากคนสู่คนจะน้อย ไวรัส Clade Ia นี่แหล่ะครับที่เป็นที่มาของ 10% เพราะไวรัสจากสัตว์สู่คนมักมีอาการรุนแรงแต่แพร่ต่อไม่ดี คราวนี้เมื่อดูตัวเลขของ DRC ในปัจจุบัน อัตราการเสียชีวิต (CFR) ของผู้ป่วยอยู่ที่ 2.4% ซึ่งเป็นตัวเลขของผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้ง Clade Ia และ Ib รวมกัน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขโดยรวมของทั้งทวีปคือ 2.9% ตัวเลขไม่ได้สูงเท่ากับที่เข้าใจกันจากสื่อ

        ข้อเท็จจริงที่สองคือ เบอรุนดี ยังไม่มีเคส Clade Ia พบในผู้ป่วยในประเทศ ปัจจุบันมีการติดเชื้อค่อนข้างรวดเร็วโดยเป็น Clade Ib ทั้งหมด ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า Clade Ib เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็วกว่า Clade Ia ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของไวรัสเอง แต่เมื่อดู CFR ของเคสในเบอรุนดีตอนนี้คือ ที่สงสัย ประมาณ 300 คน และ ยืนยันผลแล้ว 100 คน เป็นเคสเด็กประมาณ 38.6% แต่ยังไม่มีเคสเสียชีวิต นั่นคือ CFR ของ Clade Ib ยังเป็น 0 ในเบอรุนดี ซึ่งถ้าการระบาดมีมากขึ้นก็คาดว่าจะมีเคสเสียชีวิตได้ แต่ตัวเลขไม่ใช่ 2.4% เหมือน DRC 

        จากข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบตอนนี้ Mpox Clade Ib ติดเชื้อจากคนสู่คนได้ดีมาก และ เนื่องจากผู้ป่วยเป็นเด็กมีเยอะช่องทางการติดเชื้ออาจจะไม่ใช่ผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นหลักเหมือน Clade II แต่อาการของผู้ป่วยมีแนวโน้มจะไม่รุนแรงเท่า Clade Ia ซึ่งเป็นสายพันธุ์เก่าและยังไม่ปรับในคนได้ดีเท่า การใช้อัตราการเสียชีวิตต่อ Clade Ib ตอนนี้จึงเหมือนสูงเกินข้อเท็จจริงครับ...WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินเพราะไวรัสแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่ไวรัสมีความรุนแรงสูงครับ

 
       18 สิงหาคม 2024   กราฟนี้แสดงข้อมูลเรื่องความรุนแรงของไวรัส mpox clade I ใน DRC ออกมาในรูปของอัตราการเสียชีวิต (CFR) ค่อนข้างชัดเจน เส้นกราฟสีเขียวคือข้อมูลอัตราการเสียชีวิตในช่วงปี 1970-1980 ส่วนกราฟสีม่วงคือ อัตราการเสียชีวิตหลังปี 2020 หรือ ในช่วงปัจจุบัน สิ่งที่เห็นจากกราฟคือ CFR จะสูงสุดในเด็กเล็ก และ จะลดน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งชัดเจนว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงของการติดเชื้อคือเด็กเล็ก 

       ข้อมูลในกราฟนี้มีอีกอย่างที่น่าสนใจคือ กราฟสีม่วงลดต่ำลงมาจากกราฟสีเขียวชัดเจน แม้ในกลุ่มที่ไม่เคยฉีดวัคซีน ซึ่งหมายความว่า CFR จากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ปัจจุบันใน DRC ซึ่งประกอบไปด้วย Clade Ia และ Clade Ib เทียบกับในอดีตซึ่งมีแต่ Clade Ia มีแนวโน้มที่จะน้อยลงในทุกช่วงอายุ

       ข้อมูลนี้บอกว่า ไวรัส Clade Ib ที่เริ่มระบาดในปี 2020 เป็นต้นมาอาจมีความรุนแรงน้อยลง กว่าสายพันธุ์ Clade 1a ในอดีต แต่ทั้งนี้ยังสรุปไม่ได้แบบฟันธงถ้าไม่มีการเปรียบเทียบไวรัสทั้งสองสายพันธุ์แบบตัวต่อตัวในสัตว์ทดลองเป็นต้น เพราะค่า CFR ที่ลดลงในปัจจุบันอาจจะมาจาก การรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน หรืออาจจะเป็นเพราะความสามารถของเทคโนโลยีการการตรวจหาผู้ป่วยอาการน้อยๆได้เยอะขึ้น ทำให้ตัวหารที่ใช้คำนวณ CFR มากขึ้นก็เป็นได้ 

       ประเด็นที่สำคัญคือการสื่อสารตัวเลขความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์ปัจจุบันต้อง update ตามข้อมูล ไม่ควรใช้ตัวเลขในกราฟสีเขียวซึ่งสูงเกินความจริงมาอธิบายในปัจจุบันเพราะการสื่อสารจะสร้างความกลัวโดยไม่จำเป็น
Note: กราฟนี้บอกถึงบทบาทของวัคซีนในการป้องกันไวรัส Clade I เช่นเดียวกัน แต่เนื่องจาก study size ที่เล็กมาก เราตอบอะไรจากข้อมูลนี้ยังไม่ได้ครับ

 
        18 สิงหาคม 2024   มีคำถามว่า mpox สายพันธุ์ที่แพร่กระจายเร็วอย่าง Clade Ib มีโอกาสแพร่ผ่านทางอากาศโดยเฉพาะผ่านละอองฝอยเหมือนกับโควิดหรือไม่ ผมคงตอบว่ามีโอกาสครับ ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันกับสายพันธุ์ mpox clade Ib โดยตรง ข้อมูลที่ทำให้ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้เอามาจากหน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษ (UK Health Security Agency) ที่ระบุให้ Mpox Clade I สามารถแพร่สู่คนได้ผ่านช่องทางละอองฝอย (respiratory droplets) หรือ ทางอากาศอื่นๆ (aerosol transmission) นอกเหนือไปจากการสัมผัสโดยตรง ซึ่งการระบุเช่นนี้ต้องพิจารณาจากหลักฐานทางวิชาการที่เชื่อถือได้โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ถ้ามีข้อมูลใหม่เกิดขึ้น ข้อมูลนี้ก็จะถูก update ใหม่อยู่เรื่อยๆ คงต้องคอยติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด...ข้อมูลมีไว้เข้าใจโรคสำหรับป้องกันตัวเอง แต่ไม่ใช่มีไว้แชร์เพื่อความตื่นตระหนก เพราะความกลัวไม่ช่วยอะไรเลย
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด