ผลการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ครั้งที่ 1
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) ครั้งที่ 1 และพิจารณามอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ที่ประชุมได้รับรองถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (ถ้อยแถลงร่วมฯ)
ซึ่งมีสาระสำคัญไม่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 อย่างไรก็ตามมีการเพิ่มประเด็น ดังนี้
1.1 การขยายสาขาความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนให้รวมถึงการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อม และด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้รวมถึงการศึกษาและการส่งเสริมบทบาทสตรี
1.2 การแสดงความยินดีต่อถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ว่าด้วยหุ้นส่วนพลังงานลุ่มน้ำโขง ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ค.ศ. 2020 ซึ่งทั้งสองประเทศได้รับรองเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563
1.3 การยืนยันจำนวนเงิน 153.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่สหรัฐฯ ประกาศสำหรับการดำเนินกิจกรรมและโครงการเพื่อประโยชน์ร่วมกันในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเน้นด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ความร่วมมือด้านพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ ถ้อยแถลงร่วมฯ มีเอกสารผนวก 2 ฉบับ ได้แก่ (1) เอกสารแนวคิดการจัดตั้งหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ซึ่งระบุภาพรวมความคืบหน้าของการดำเนินการภายใต้ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างในช่วงที่ผ่านมา และเหตุผล หลักการความร่วมมือ วัตถุประสงค์สาขาความร่วมมือหลัก และโครงสร้าง/กลไกการประชุมระดับต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขงสหรัฐฯ ในระยะต่อไป และ (2) ถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีญี่ปุ่น-สหรัฐฯ เรื่องหุ้นส่วนพลังงานลุ่มน้ำโขง ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ที่จะทำให้ตลาดพลังงานในอนุภูมิภาค มีความเชื่อมโยงและยั่งยืนมากขึ้น รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
2. สาระสำคัญของถ้อยแถลงของผู้แทนประเทศต่าง ๆ
สหรัฐฯ ยินดีต่อการยกระดับความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมบทบาทและเชิดชูอธิปไตยและหลักนิติธรรมของประเทศสมาชิก และจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ปัญหาภัยแล้งและการบริหารจัดการน้ำ โดยที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้สร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงานของประเทศลุ่มน้ำโขง ดังนั้น สหรัฐฯ จึงสนับสนุนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในเรื่องความร่วมมือ เพื่อแบ่งปันข้อมูลน้ำและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับน้ำ การสอดประสานความร่วมมือ สหรัฐฯ สนับสนุนกรอบความร่วมมือที่ประเทศลุ่มน้ำโขงมีบทบาทนำ เช่น ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง และพร้อมร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนาอื่น ๆ ของอนุภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่น สาธารณรัฐอิตาลี สาธารณรัฐอินเดีย และสาธารณรัฐเกาหลี
ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ขอบคุณสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนอนุภูมิภาคมาโดยตลอด รวมทั้งในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยินดีต่อการยกระดับความร่วมมือระหว่างลุ่มแม่น้ำโขงและสหรัฐฯ โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น (1) ควรต่อยอดความสำเร็จของกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ซึ่งตอบสนองความต้องการของประเทศในอนุภูมิภาค (2) ควรจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนแนวทางความร่วมมือภายใต้หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ และจัดตั้งกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ อย่างชัดเจน และ (3) ควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก
เลขาธิการอาเซียน ยินดีที่ความร่วมมือ 4 สาขาภายใต้หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ได้แก่ (1) ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ (2) การบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อม (3) ความมั่นคงรูปแบบใหม่ และ (4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกื้อหนุนแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน รวมทั้งเห็นว่าหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ จะสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนในยุคหลังโควิด-19 - เสนอให้ร่วมมือกันส่งเสริมห่วงโซ่อุปทาน ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน
3. ประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ
เช่นความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ การสอดประสานกันด้านกฎระเบียบ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุน พลังงาน สนับสนุนการดำเนินการภายใต้หุ้นส่วนพลังงานลุ่มน้ำโขง ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการบูรณาการด้านพลังงานและการพัฒนาตลาดพลังงานในอนุภูมิภาคอย่างยั่งยืน โดยยินดีร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการกระจายแหล่งพลังงานและประเภทพลังงานให้มีความหลากหลาย เหมาะสม และยั่งยืน รวมถึงการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนความมั่นคงรูปแบบใหม่ เน้นการดำเนินงานด้านสาธารณสุข โดยเห็นว่า สหรัฐฯ มีความพร้อมที่จะส่งเสริมความแข็งแกร่งของอนุภูมิภาคในการรับมือกับโควิด-19 และโรคระบาดอุบัติใหม่ ทั้งนี้ ไทยพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาสาสมัครหมู่บ้าน และร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาวัคซีนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควร เร่งพัฒนาให้อนุภูมิภาคสามารถปรับตัวสู่ภาวะปกติใหม่และปกติต่อไป เช่น นวัตกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล และการเรียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสาขาที่สหรัฐฯ มีความเชี่ยวชาญและสามารถร่วมมือกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ ยินดีต่อการยกระดับความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ยินดีต่อข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่จะส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมย้ำความสำคัญของการสอดประสานกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ที่ประเทศสมาชิกหลายประเทศเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา
ทั้งนี้ การดำเนินการตามถ้อยแถลงร่วมฯ สอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยในการส่งเสริมและกระชับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านการดำเนินกิจกรรมและโครงการด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการลดความเหลื่อมล้ำทางการพัฒนา จึงมีประเด็นมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป