ไฟฉุกเฉิน หรือ ไฟผ่าหมาก ตามชื่อคือใช้สำหรับกรณีฉุกเฉินเท่านั้น คำถามคือถานการณ์ฉุกเฉินนั้น คืออย่างไรบ้าง
กรมการขนส่งทางบก ชื้ชัดว่า การใช้ไฟฉุกเฉิน ควรใช้ตอน
1. เบรกกะทันหั ต้องจอดเป็นคันท้าย - ให้เปิดไฟฉุกเฉินในช่วงสั้นๆ เมื่อรถยนต์ที่ตามมาเบรก และจอดต่อรถเราแล้ว ให้ "ปิด" ไฟฉุกเฉินได้
และ 2. กรณี รถจอดเสียที่จอดอยู่กับที่ - เป็นการเปิดเพื่อเตือนรถคันหลัง ให้รถที่วิ่งมาทราบว่ามีรถจอดเสีย หรือเกิดอุบัติเหตุ เป็นสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า
กรณีไม่ควรใช้ไฟฉุกเฉิน
1. ใช้ไฟฉุกเฉิน ณ สี่แยกแล้วต้องการตรงไป
ผู้ขับขี่หลายคน มีความเชื่อว่า การเปิดไฟฉุกเฉินเมื่อจะเข้าสี่แยกแล้วต้องการตรงไป เป็นการเตือนรถยนต์คันอื่นที่กำลังร่วมใช้สี่แยกเดียวกัน ไม่ให้มาชนรถยนต์ของตนเอง แต่ในความจริงแล้ว ผู้ขับร่วมทาง อาจเห็นแค่ไฟกะพริบ มุมหน้ามุมเดียว เสมือนว่ารถยนต์คันที่เปิดไฟฉุกเฉินกำลังจะเตรียมเลี้ยวไปยังด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อเกิดความเข้าใจผิด ก็อาจไม่ระวังหรือไม่ได้ชะลอความเร็วลง อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ วิธีขับรถข้ามทางแยกที่ถูกต้อง ตั้งสมาธิควบคุมรถยนต์ตามปกติ มองซ้ายมองขวา เมื่อเห็นว่าอยู่ในระยะที่ปลอดภัยแล้วก็ขับข้ามทางแยกไปเลย โดยไม่ต้องเปิดไฟฉุกเฉิน
2. จอดรถในพื้นที่หรือเวลาห้ามจอด
การจอดรถยนต์ในพื้นที่หรือเวลาห้ามจอดแล้วเปิดไฟฉุกเฉิน เป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะไฟฉุกเฉิน ให้ใช้ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน และต้องการให้ผู้อื่นทราบ เช่น รถประสบอุบัติเหตุ หรือเสียจอดกีดขวางอยู่ และกฎหมายกำหนดให้ใช้ “ไฟฉุกเฉิน” เฉพาะกรณีรถที่ “จอดเสีย” อยู่กับที่เท่านั้น!
3. ฝนตกหนัก หมอกลงจัด ทัศนวิสัยแย่
การเปิดไฟฉุกเฉินขณะฝนตก จะทำให้ผู้ขับรถตามหลัง รวมถึงผู้ร่วมทางคนอื่นๆ เกิดความสับสนว่า รถที่เปิดไฟฉุกเฉินต้องการเปลี่ยนเลนไปทางซ้าย หรือทางขวา หรือต้องการที่จะจอด เนื่องจากไฟเลี้ยวจะไม่ทำงานขณะเปิดไฟฉุกเฉินอยู่ นอกจากนี้ การขับรถตามหลัง รถที่เปิดไฟฉุกเฉินเป็นระยะเวลานานๆ ยังส่งผลให้ดวงตาของผู้ขับขี่พร่ามัว และหากมีรถหลายคันเปิดไฟฉุกเฉินพร้อมกันด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้กะระยะได้ยาก กรณีทัศนวิสัยไม่ดี ควรเปิดไฟหน้า พร้อมไฟตัดหมอก หรือถ้าแย่มากๆ จนแทบมองไม่เห็นทางและสภาพแวดล้อม ควรจอดหลบอย่างปลอดภัยและควรเปิดไฟฉุกเฉินไว้ด้วย
นอกเหนือจากนี้ ถือว่าเป็นกรณี "ไม่จำเป็น" ต้องใช้ไฟฉุกเฉินในทุกกรณี
การเปิดไฟฉุกเฉินพร่ำเพรื่อ จึงไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ และสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเปิดหรือไม่เปิดไฟฉุกเฉินในสถานการณ์ใด ๆ ต้องมีความปลอดภัยต่อทุกคนเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง
สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก (สนภ.)
กรมการขนส่งทางบก