นอกจากนี้ ภายในงาน Thai Night กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย 10 ราย ได้แก่ Benetone Films, BrandThink, Film Frame Productions, GDH 559, Halo Productions, Kantana Motion Pictures, M Pictures, Right Beyond, Sahamongkolfilm International และ Yggdrazil Group เข้าร่วมแสดงผลงานเด่น และสร้างเครือข่ายกับบุคคลสำคัญในวงการภาพยนตร์นานาชาติ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจต่อไป ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริม Soft Power ไทยของรัฐบาล
ปัจจุบันคอนเทนต์ไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสามารถปรับตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วสวนกระแสโควิด-19 โดยนอกจากคอนเทนต์แล้ว ประเทศไทยยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่เพิ่มขึ้นในฐานะจุดหมายในการถ่ายทำภาพยนตร์ มีกองถ่ายภาพยนตร์จากต่างประเทศเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างโปรเจ็คภาพยนตร์ที่ผ่านมาล่าสุดที่ยกกองมาถ่ายทำ เช่น Godzilla และ Rogue One ของผู้กำกับกาเร็ธ เอ็ดเวิร์ดส์ ผลงานไซไฟทริลเลอร์เรื่อง True Love ของค่าย Twenty Century, Thai Cave Rescue ของ Netflix, The Blue ของ Paramount Plus, The Sympathizer ของ HBO และ The White Lotus ในซีซั่นใหม่ที่กำลังจะออกฉาย
จากข้อมูลของกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในปี 2565 มีการผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ในไทยสูงถึง 384 รายการ ซึ่งทำเงินเข้าประเทศถึง 182 ล้านเหรียญสหรัฐนับเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีมา
เสน่ห์ดึงดูดของประเทศไทยมาจากการผสมผสานกันอย่างเป็นเอกลักษณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ ทักษะ ความสามารถโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายที่เป็นมิตรต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศเพิ่มเพดานในการสร้างแรงจูงใจถึงสองเท่า คิดเป็น 150 ล้านบาท (4.4 ล้านเหรียญสหรัฐ) และนอกจากนั้นยังเพิ่มแรงจูงใจในการลดภาษีได้สูงถึง 30% สำหรับค่าใช้จ่ายที่อยู่ภายใต้เงื่อนไข
ผู้สนใจเข้าพบบริษัทบันเทิงไทย หรือติดต่อสอบถามเกี่ยวกับคอนเทนต์ไทย สามารถเยี่ยมชมบูธกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ที่บูธ N.22.01, Palais -1 ภายในงาน Marché du Film ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2023 ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม ถึง 24 พฤษภาคม 2566