เพจชมรมแพทย์ชนบท เผยแพร่ ข้อเสนอ ทางออก ปัญหายารักษาโควิด ขาดแคลน
"ฟาวิ โมลนูขาดหนัก แพทย์ชนบทมีข้อเสนอ เลิกผูกขาด ยามีพอทันที แถมราคาถูกลง..."
เผยแพร่ เมื่อวันที่
19 กรกฎาคม 65 เสนอทางออก ยาฟาวิพิราเวียร์ และ ยาโมลนูพิราเวีย ไม่ถึงมือผู้ป่วยโควิดจริงๆ แม้เป็นผู้ป่วยกลุ่ม 608 ก็ตาม
"รัฐบาลผูกขาดการผลิตและจัดหายาฟาวิให้กับองค์การเภสัชกรรม พร้อมขายฝันว่า ไทยจะสามารถผลิตยาฟาวิป้อนให้โรงพยาบาลต่างๆได้เพียงพอ ต่อมาก็ขยายการผูกขาดสู่ยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดด้วย และนำมาสู่ปัญหายาขาดยาตลอดการสู้ภัยโควิด"
ยาไม่ได้ขาด แต่ถูกผูกขาด
ในความเป็นจริงทั่วโลกนั้นยาไม่ได้ขาด แต่ที่ประเทศไทยยาขาดเพราะการผูกขาด เพียงกระทรวงสาธารณสุขประกาศยกเลิกการผูกขาดโดยองค์การเภสัชกรรม ให้บริษัทเอกชนสามารถนำเข้าได้ ความขาดแคลนยาจะหายไปในทันที บทเรียนนี้ก็เช่นเดียวกับกรณีวัคซีนโควิดที่รัฐบาลให้องค์การเภสัชกรรมผูกขาดจนวัคซีนขาดแคลน แม้เอกชนสั่งและพร้อมนำโมเดิร์นน่าเข้ามาช่วย ก็ทำไม่ได้เพราะผูกขาดไว้ การยุติการผูกขาดเท่านั้นที่จะยุติภาวะยาขาดแคลนไปเลย
และเอาเข้าจริงๆ องค์การเภสัชกรรมก็ผลิตฟาวิกระพร่องกระแพร่งมากจนแทบจะไม่ได้ผลิต และหันมานำเข้าแทนเพราะถูกกว่า เช่นนี้แล้ว สธ.จะปิดกั้นเอกชนไปทำไม ให้เขานำเข้าด้วย ราคาฟาวิโมลนูจะถูกลง และไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน
จากข่าวที่สภาพัฒน์จะเสนอ ครม.ของบเงินกู้อีก 3,995 ล้านบาท ให้องค์การเภสัชกรรมซื้อยาฟาวินั้น ยิ่งควรเลิกใช้กลไกเก่าที่ปะผุจนชำรุดได้แล้ว เสียดายงบ
ข้อเสนอแพทย์ชนบท
ชมรมแพทย์ชนบทเสนอให้ เลิกการผูกขาดยาฟาวิ โมลนู แพกซ์โลวิด ปลดล็อคให้บริษัทยาเอกชนนำเข้าได้ แล้วให้รัฐกำหนดอัตราการเบิกจ่ายชดเชยคืนแก่โรงพยาบาลในราคาต้นทุน เงินร่วม 4 พันล้านนี้นำไปจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลแทน จะสามารถประหยัดได้กว่ามาก เพราะทันทีที่ยกเลิกการผูกขาด ราคายาจะถูกลงจนสังคมจะตั้งคำถามว่า ทำไมที่ผ่านมาซื้อล็อตใหญ่แต่ราคากลับสูงกว่า
กทม. โรงพยาบาลเอกชน ร้านขายยา ขอจัดหาและจ่ายยาฟาวิและโมลนูพิราเวียร์ตามใบสั่งแพทย์ได้ เช่นนี้แล้วก็ควรปลดล็อคให้โรงพยาบาลของรัฐด้วย เพื่อปิดฉากความขาดแคลนฟาวิโมลนูอันเนื่องมาจากการผูกขาดขององค์การเภสัชกรรม รัฐวิสาหกิจที่ทุกโรงพยาบาลรู้ว่าขายยาแพงกว่าบริษัทยาคุณภาพของเอกชน
มุมมองและทางออก โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ทีมข่าว MGR Live ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ แนวคิดของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกหนึ่งบุคลากรด่านหน้า เพื่อให้ช่วยสะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และ ความคิดเห็นทางออกจากสถานการณ์ขาดแคลนขณะนี้
"ตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญ เพราะว่าในระบบที่เรามีอยู่ตอนนี้ มันมีกฎเกณฑ์ และระเบียบค่อนข้างเยอะ ขณะเดียวกัน เราพยายามจะทำให้ประเทศมองดูเหมือนโควิดเป็นโรคธรรมดา เพื่อให้เศรษฐกิจเดินไปได้
ที่เราเสนอไปหลายครั้งแล้ว คือ จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่การทำให้การเข้าถึงยาไปซื้อที่ร้านขายยาเลย ในเมื่อเราไปโรงพยาบาล คนที่ติดเชื้อ หรือสงสัยว่าติดเชื้อ เดินทางไม่ว่าจะแท็กซี่ หรือรถโดยสารประจำทาง ก็มีสิทธิที่จะแพร่เชื้อให้คนอื่น
ในโรงพยาบาลเอง ก็ต้องไปนั่งรอ ก็มีโอกาสแพร่เชื้อได้ ขั้นตอนต่อไปต้องมีการประเมินโดยคุณหมอ หมอเองก็มีอยู่จำนวนจำกัด ก็ต้องใช้เวลารวมทั้งหมดไหนจะนั่งรอ ตรวจประเมิน พอประเมินเสร็จเรียบร้อย ก็มีกฎเกณฑ์ค่อนข้างเข้มงวด ถ้าไม่ใช่ 608 ก็ไม่ให้ ได้แต่พาราฯ หรือฟ้าทะลายโจร
ในเมื่อเรายังมีปัญหาอยู่ โรคยังไม่สงบ แต่เราอยากเปิดประเทศ ตรงนี้เองต้องทำให้เข้าถึงยาได้เร็วที่สุด และยาก็มีราคาถูก ซึ่งสามารถที่จะทำกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้หลวมขึ้นมาหน่อย คือ การที่เภสัชกรสามารถจ่ายยาได้เป็นขั้นตอน เราอาจจะใช้ยาเยอะขึ้น แต่ความสำคัญคือเราไม่ต้องให้คนไข้ไปแออัดที่โรงพยาบาล"
คุณหมอธีระวัฒน์ เสนอแนะว่า ประชาชนที่ติดเชื้อควรมีโอกาสซื้อยาได้ตามร้านขายยา เพราะการเข้าถึงยาได้อย่างรวดเร็วนั้น จะเป็นการป้องกันไม่ให้อาการของโควิด-19 ลุกลามหนัก
"เหตุผลที่ต้องทำในลักษณะร้านขายยาแบบนี้ เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร หรือ โมลนูพิราเวียร์ การใช้ยาพอติดปุ๊บต้องใช้เร็ว โดยที่อาการยังน้อย มันก็จะสามารถสยบอาการไม่ให้มันลุกลามมากขึ้น
เราไม่จำเป็นต้องแบ่งว่า เป็น 608 หรือไม่ใช่ เพราะตอนนี้อายุ 30-40 ปี ก็มีอาการหนักได้ ขั้นที่ 1 อาจจะต้องใช้ฟ้าทะลายโจร ในขณะเดียวกัน ก็มีการประเมินว่า อาการหนักขึ้นรึเปล่า ถ้าอาการหนักขึ้นมาก็กลับมาที่ร้านขายยาโดยที่ตัวเองไม่ต้องมาก็ได้ ให้ครอบครัวมารับเป็นยาตัวที่ 2 อาจจะเป็นฟาวิพิราเวียร์ หรือเป็นโมลนูพิราเวียร์
ทีนี้ก็มีคนกลัวว่า ถ้าให้ยาพร่ำเพรื่อเกินไปจะดื้อยา ตรงนี้ก็ไม่น่าห่วง เพราะร้านยาก็มีเภสัชกร ถ้าตัวเองไม่มา ก็ให้ญาติบอกว่าคนป่วยอยู่ที่บ้าน เราก็สำแดงตัวตนได้โดยการให้ video call โชว์ผลว่าเป็นของตัวเอง ก็สามารถบอกให้ประเมินอาการง่ายๆ กรณีนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข เอง ก็เคยมีประกาศเมื่อสัก 2 ปีที่แล้ว มันอยู่ในแผนปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งมีหัวข้อหนึ่ง คือ เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาล
เพราะฉะนั้น ร้านขายยาทั่วประเทศก็สร้างระบบออนไลน์ขึ้นมา ถ้ากลัวว่า เภสัชกรบางท่านอาจจะไม่แน่ใจว่าควรจะให้ยาอะไร เราก็ให้มีเวรที่เป็นหมอให้คำแนะนำได้ ชื่อ บัตรประชาชน เลขหมายต่างๆ ก็สามารถเข้าระบบได้เลย ก็จะรู้ว่าคนไข้ที่ติดเชื้อมีอาการบางเบาหรือหนัก หรือควรจะต้องได้ยาอะไร เป็นการใช้ยาสมเหตุสมผล ไม่ใช่เหวี่ยงแหไปเลยว่าต้องเป็นยาต้านไวรัสในทุกคนหรือเปล่า"
ทั้งนี้ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ได้ยกตัวอย่างการจัดการที่ได้ผลที่ดูได้จากประเทศใกล้เคียง พร้อมทั้งฝากถึงเรื่องการดูแลตัวเอง ตราบใดที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการรับยาได้อย่างสะดวก ก็ต้องดูแลตนเองให้ดีต่อไป
"สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งเหมือนกับในประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และ อินเดีย จริงๆ เขามีการขอผลิตยาเอง ไม่ว่าจะเป็นฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ สมมติว่า เราไม่สบาย ก็มีการตรวจ ATK เสร็จแล้วก็เข้าไปที่ร้านขายยา ประเมินโดยเภสัชกร ก็ง่าย
เวียดนามเปิดประเทศไปแล้ว ไม่ได้ใส่หน้ากากแล้วตอนนี้ ติดเป็นหมื่นเป็นแสน เขาบอกว่าติดก็ติด ติดก็เดินเข้าร้านขายยา ถ้ากลัวว่าจะไปติดคนอื่น ก็ให้เพื่อนไปรับยาได้ ในขณะเดียวกัน อาจจะกักตัว พอทานยาโมลนูพิราเวียร์ เรียบร้อยแล้วก็จบ เท่านั้นเอง มันดูง่ายมาก ไม่เห็นต้องมีพิธีรีตองอะไรเยอะแบบเมืองไทย
ตอนนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประชาชนต้องเดินหน้าทำมาหากิน แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่พอช่วยได้ในตอนนี้ คือ ตราบในที่ยายังเข้าถึงไม่ได้ที่ร้านขายยา อาจจะต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่างระดับนึง แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามเราเข้าใกล้เป็นโรคประจำถิ่น ถ้าหากว่า สามารถเข้าถึงยาต้านโดยสะดวก ตรงนั้นไม่ต้องรบราฆ่าฟันกันเลยจะเปิดหรือไม่เปิดประเทศ แล้วก็ต้องย้ำว่าไม่ต้องกลัวเรื่องของยาปลอม เพราะตรงนี้รัฐเป็นคนควบคุมคุณภาพ และส่งให้ร้านขายยา"
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
18 ก.ค. 2565