นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ตามที่ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดลักษณะของสถานพยาบาลและมาตรฐานซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล (ฉบับที่ 2) โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ภายใต้โครงการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ ปีงบประมาณ 2565
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา ควบคุมกำกับ สถานบริการสุขภาพภาครัฐประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน โรงพยาบาลจะต้องดำเนินการพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐให้ผ่านตามเกณฑ์ กำหนด โดยมีกระบวนการในการตรวจประเมินโรงพยาบาล จำนวน 1,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ โดยมีการคัดเลือกจากโรงพยาบาลเข้าร่วมเป็นโรงพยาบาลต้นแบบภาครัฐและโรงพยาบาลก้าวสู่มาตรฐานสากล
สำหรับเกณฑ์การประเมินในระดับคุณภาพ ต้องผ่านมาตรฐาน 9 ด้าน และต้องผ่านมาตรฐานที่กำหนดในทุกด้าน แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ Platinum ระดับ Gold และ ระดับ Silver โดยแต่ละระดับ จะมีเกณฑ์การประเมิน ดังนี้
- ระดับ Platinum ผ่านเกณฑ์การประเมิน 95 % ขึ้นไป
- ระดับ Gold ผ่านเกณฑ์การประเมิน 90 – 94 %
- ระดับ Silver ผ่านเกณฑ์การประเมิน 85-89 %
มาตรฐานระบบบริการสุขภาพ 9 ด้าน ที่โรงพยาบาล ต้องมีการจัดให้มีมาตรฐานระบบบริการสุขภาพตามข้อกำหนด 9 ด้าน ได้แก่
1) ด้านการบริหารจัดการ
2) ด้านการบริการสุขภาพ
3) ด้านอาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก 4) ด้านสิ่งแวดล้อม
5) ด้านความปลอดภัย
6) ด้านเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข
7) ด้านสนับสนุนบริการที่สำคัญ
8) ด้านสุขศึกษาและพฤติกรรม
9) ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
โรงพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์ประเมินการประเมินมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ จากคณะกรรมการกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นโรงพยาบาลต้นแบบภาครัฐและโรงพยาบาลก้าวสู่มาตรฐานสากล ประจำปี 2565 รวมทั้งสิ้น จำนวน 13 แห่ง แบ่งเป็น
ระดับ Platinum จำนวน 3 แห่ง
ได้แก่
1) โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย
2) โรงพยาบาลพิจิตร จังหวัดพิจิตร
3) โรงพยาบาลพัทลุง จังหวัดพัทลุง
ระดับ Gold จำนวน 2 แห่ง
ได้แก่
1) โรงพยาบาลขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
2) โรงพยาบาลตะโหมด จังหวัดพัทลุง
ระดับ Silver จำนวน 8 แห่ง
ได้แก่
1) โรงพยาบาลแม่จัน จังหวัดเชียงราย
2) โรงพยาบาลแม่สาย จังหวัดเชียงราย
3) โรงพยาบาลบ้านตาก จังหวัดตาก
4) โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
5) โรงพยาบาลกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
6) โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
7) โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
8) โรงพยาบาลสตูล จังหวัดสตูล
โดยในปี 2566 โรงพยาบาลต้นแบบและสู่สากลที่ผ่านมาตรฐาน 9 ด้านในปี 2565 จะใช้เป็นสถานที่ต้นแบบในการศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้คำแนะนำกับโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียง ให้มีการพัฒนามาตรฐานระบบบริการสุขภาพให้อยู่ในระดับคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้บริการในโรงพยาบาลให้มีการพัฒนาในก้าวสู่มาตรฐานสากล และสามารถยกระดับในการเป็นโรงพยาบาลต้นแบบและสู่สากลต่อไป