ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

มาตรฐาน SAN & SAN Plus คิกออฟเริ่มรณรงค์แล้ว

มาตรฐาน SAN & SAN Plus คิกออฟเริ่มรณรงค์แล้ว Thumb HealthServ.net
มาตรฐาน SAN & SAN Plus คิกออฟเริ่มรณรงค์แล้ว ThumbMobile HealthServ.net

กรมอนามัยได้พัฒนาและยกระดับมาตรฐานสถานประกอบกิจการอาหารไทย ปลอดภัย อนามัยดี SAN & SAN Plus พร้อมม็อตโต “มี SAN ไม่มีเซ็ง” (SAN - Sanitation, Anamai, Nutrition) โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขาภิบาลอาหาร ผู้ประกอบกิจการ ผู้สัมผัสอาหาร และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องด้านสุขาภิบาลอาหารทั้งภาครัฐ และเอกชน ให้มีความรู้ ความเข้าใจหลักเกณฑ์ และแนวทางในการพัฒนาสถานประกอบกิจการอาหารให้มีความสะอาด ปลอดภัย พร้อมทั้งยกระดับการสื่อสาร ความรอบรู้ด้านสุขาภิบาลอาหารที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่ปลอดภัย ภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่

มาตรฐาน SAN & SAN Plus คิกออฟเริ่มรณรงค์แล้ว HealthServ
 จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและภาวะเศรษฐกิจ ประชาชนนิยมการรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะ “Street Food” ได้รับความนิยมอย่างมาก 
 
       กรมอนามัยจึงยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีไทยสู่สากล (Thailand Street Food Good Health from Local to Global) ผ่านมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ “สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน” SAN&SAN Plus  (SAN - Sanitation, Anamai, Nutrition) ประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ 

       1) มิติสุขภาพ 10 ข้อ การจัดการสุขาภิบาลอาหาร ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารผ่านการอบรม

       2) มิติเศรษฐกิจ การแสดงป้ายราคา รายการเมนูหลายภาษา และการประชาสัมพันธ์

       3) มิติสังคม สร้างความร่วมมือของผู้ประกอบการ ภาครัฐ ภาคเอกชน มีระบบรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และ

       4) มิติวัฒนธรรม เป็นการสื่อสารอาหารพื้นถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ การแต่งกายประจำถิ่น เพื่อสร้างให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่สะอาด ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคจุลินทรีย์ก่อโรค สารพิษ หรือสารเคมีอาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนี้ “Street Food” ในแต่ละจังหวัดยังมีความเป็นเอกลักษณ์ของอาหารในแต่ละพื้นที่ ที่มีความโดดเด่นแตกต่างกัน เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมท้องถิ่น ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุน กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และแสดงออกถึงความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนและภาคีเครือข่าย
 
 
  • แบบประเมินสุขาภิบาลอาหาร SAN & SAN Plus สถานที่จำหน่ายอาหาร (กรมอนามัย)  แบบประเมินสุขาภิบาลอาหาร : SAN “สถานที่จำหน่ายอาหาร” ใช้สำหรับตรวจประเมินร้านจำหน่ายอาหาร ภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ในโรงพยาบาล/โรงเรียน/โรงแรม/โรงงาน/เรือสำราญ/ Food Truck/รถไฟ/ท่าอากาศยาน เป็นต้น รวมถึงร้านอาหารในลักษณะอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน (ยกเว้นโรงครัวโรงพยาบาล โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพมาตรฐานสากลแผงลอยจำหน่ายอาหารในที่หรือทางสาธารณะ การขายของในตลาด)
มาตรฐาน SAN & SAN Plus คิกออฟเริ่มรณรงค์แล้ว HealthServ
 

คิกออฟโครงการ


11 กรกฎาคม 2567 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสถานประกอบกิจการอาหารไทย ปลอดภัย อนามัยดี “มี SAN ไม่มีเซ็ง” พร้อมด้วย นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข สมาคมและชมรมผู้ประกอบกิจการอาหาร และภาคีเครือข่าย ร่วมงาน ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
 
          นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจสุขภาพ และนักท่องเที่ยวปลอดภัย โดยเฉพาะอาหารไทยซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมั่นใจว่าอาหารไทยมีความสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายในการขับเคลื่อนงานด้านสุขาภิบาลอาหาร ภายใต้การควบคุม กำกับตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งจัดทำมาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร ภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ “สะอาด ปลอดภัยได้มาตรฐาน” SAN & SAN Plus เพื่อเป็นป้ายสัญลักษณ์ให้ประชาชนได้สังเกตว่าสถานประกอบกิจการด้านอาหาร (ตลาดสด ตลาดนัด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร อาหารริมบาทวิถี) ดังกล่าว สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค และผู้ใช้บริการทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ
 
           ทางด้าน นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ดำเนินการพัฒนาสถานประกอบกิจการด้านอาหารของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมากรมอนามัยจัดทำมาตรฐาน เช่น Clean Food Good Taste ตลาดสดน่าซื้อ Street food Good Health ซึ่งเป็นมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ ต่อมาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 กรมอนามัยจึงพัฒนามาตรฐานสุขาภิบาลอาหารภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ “สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน” SAN & SAN Plus เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
 
          “ทั้งนี้ การทำงานจะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานสาธารณสุขในระดับพื้นที่ เช่น ศูนย์อนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ภาคประชาชน ตลอดจนสมาคม/ชมรมผู้ประกอบกิจการอาหาร และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขาภิบาลอาหารทุกระดับ กรมอนามัยได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสถานประกอบกิจการอาหารไทย ปลอดภัย อนามัยดี “มี SAN ไม่มีเซ็ง” เพื่อพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายให้มีความรู้ ความเข้าใจ หลักเกณฑ์ และแนวทางในการพัฒนาสถานประกอบกิจการด้านอาหาร ให้มีการจัดการสุขลักษณะที่ดี มีการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนมาตรฐาน SAN&SAN Plus และสื่อสารความรู้ด้านสุขาภิบาลอาหารที่ถูกต้องไปสู่ประชาชนและนักท่องเที่ยวเพื่อช่วยให้การดูแลสุขาภิบาลอาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

มาตรฐาน SAN & SAN Plus คิกออฟเริ่มรณรงค์แล้ว HealthServ

กรมอนามัยเดินหน้ากิจกรรมรณรงค์

กรมอนามัยเริ่มต้นการรณรงค์ โครงการแล้ว โดยออกเดินสายตรวจการและมอบรางวัล ณ พื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ในเป้าหมาย เช่น จุดที่มี street food ที่ได้รับความนิยม ตลาดอาหาร ทั้งในพื้นที่กรุงเทพ และต่างจังหวัด  [ติดตามข่าวสารได้จากเพจกรมอนามัย]



23 พฤษภาคม 2567 มอบป้ายรับรอง SAN ร้านอาหารภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรรภูมิ

23 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยนายรังสรรค์ วงษ์บุญหนัก รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ นายอุดม กลิ่นพวง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ นางกรรณิการ์ เปรมประเสริฐ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายปฏิบัติการ 2) และนายชัยเลิศ กิ่งแก้วเจริญชัย รองผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ ร่วมพิธีมอบป้ายรับรองมาตรฐาน “อาหารสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน" : SAN" ให้แก่ร้านอาหารภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรรภูมิ จำนวน 84 ร้าน ตามโครงการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปีงบประมาณ 2567 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ณ ห้องจัดเลี้ยง 1 ชั้น 5 อาคารสำนักงานท่าอากาศยาน (AOB)

7​ มิถุนายน​ 2567 มอบป้ายรับรองมาตรฐาน ​SAN​ Plus​ ตลาดต้นสัก สนามบินน้ำ

7​ มิถุนายน​ 2567 นาย​แพทย์อรรถ​พล​ แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดี​กรมอนามัย​  มอบป้ายรับรองมาตรฐาน ​SAN​ Plus​ “สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ” แก่ตลาดต้นสัก สนามบินน้ำ โดยความร่วมมือจากเทศบาล​นนทบุรี​ และผู้ประกอบการในตลาด เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการเข้ามาใช้บริการมากยิ่งขึ้น 

30 มิถุนายน 2567 Kick off มหกรรม Street Food จ.ภูเก็ต

30 มิถุนายน 2567 ณ Chartered Walking Street จังหวัดภูเก็ต นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานเปิดงาน Kick off มหกรรม Street Food Good Health from Local to Global พร้อมด้วย นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นางสุธิดา อุทะพันธุ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย และผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมการท่องเที่ยวและภาคีเครือข่ายถนนคนเดินวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชาร์เตอร์ เข้าร่วมงาน

12 กรกฎาคม 2567 ตรวจเยี่ยม โครงการสนั่นนภา ซอยอารีย์ 1 ถนนอารีย์ กทม.

12 กรกฎาคม 2567 ณ โครงการสนั่นนภา ซอยอารีย์ 1 ถนนอารีย์ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในพิธีเปิดมหกรรมขับเคลื่อนนโยบาย ยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี (Thai Street Food Good Health From Local to Global) พร้อมด้วย ดร.นายแพทย์นิธิรัตน์ บุญตานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ผู้บริหารกรมอนามัย ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงาน
 
          นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย มีนโยบายขับเคลื่อนประเด็นนักท่องเที่ยวปลอดภัย เพื่อยกระดับงานสุขาภิบาลอาหารให้เขตสุขภาพมีจังหวัดที่มีที่พัก/ที่กิน/ที่เที่ยว และผู้ให้บริการได้มาตรฐาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนกรุงเทพมหานคร ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในมิติด้าน “เศรษฐกิจดี” คือ การยกระดับผู้ค้าแผงลอยให้มีความยั่งยืน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงิน การให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและจัดหาสถานที่ค้าขายที่ได้มาตรฐาน ซึ่งกรมอนามัยส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี ผ่านมาตรฐาน SAN & SAN Plus “สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน”  โดยพัฒนาจากมาตรฐาน Clean Food Good Taste เดิม เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ผู้ประกอบการ ผู้สัมผัสอาหาร จึงต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กฎกระทรวงกำหนด สถานประกอบการมีส่วนร่วมด้วยการประเมินตนเอง และผ่านการประเมินรับรองโดยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ หรือ กรุงเทพมหานครหากมีการปฏิบัติครบทุกขั้นตอน จึงได้ป้ายรับรองมาตรฐาน SAN & SAN Plus ซึ่งสามารถประเมินผ่านระบบ foodhandler ด้วยตนเอง 

14 กรกฎาคม 2567 บุกเชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมเสริมพลังมหกรรม Chiang Mai Street Food

14 กรกฎาคม 2567 นางจิตรา หมีทอง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมเสริมพลังมหกรรม Chiang Mai Street Food Good Health from Local to Global พร้อมด้วย นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แพทย์หญิงสิดาพัณณ์ ยุตบุตร รองผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ แพทย์หญิงเสาวนีย์ วิบุลสันติ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ นายแพทย์นิมิต อินปั๋นแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และภาคีเครือข่ายถนนคนเดินเชียงใหม่ ณ ลานจัดกิจกรรมประตูท่าแพ ถนนคนเดินเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า

            อาหารริมบาทวิถี หรือ “Street Food” ของไทย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากทั้งจากชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายให้พัฒนาและยกระดับอาหารริมบาทวิถีให้ได้มาตรฐาน SAN & SAN Plus ทั้งสถานที่ อาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร บุคคล สัตว์และแมลงนำโรค ที่จะต้อง “สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน” สู่ระดับสากล เทียบเท่าเครื่องหมายมิชลิน  ที่ได้รับการยอบรับและเชื่อมั่นด้านความอร่อยจากทั่วโลก โดยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่จะช่วยกันสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่

            1) มีการสร้างระบบและกลไกภาคีเครือข่ายในการพัฒนาอาหารริมบาทวิถีในระดับพื้นที่ร่วมกันอย่างเข้มแข็ง ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข คณะกรรมการชมรม สมาคมผู้ประกอบการอาหารริมบาทวิถีและหน่วยงานภาครัฐ – เอกชนที่เกี่ยวข้อง

            2) มีมาตรฐาน SAN & SAN Plus ที่แสดงถึงสุขลักษณะ และความปลอดภัยของอาหาร พร้อมเพิ่มมาตรการในการตรวจติดตามและเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางด้านโภชนาการ

            3) มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในพื้นที่ เช่น การจัดงานเทศกาลต่าง ๆ ส่งเสริมการจำหน่ายอาหารประจำถิ่น การแต่งกายพื้นเมือง เป็นต้นพร้อมฝากผู้บริโภคและผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับ SAN และ SAN Plus เพราะ “มี SAN ไม่มีเซ็ง” แน่นอน   


ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด