ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในสิงคโปร์

เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในสิงคโปร์ HealthServ.net
เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในสิงคโปร์ ThumbMobile HealthServ.net

รูปแบบของ Telemedicine 3 รูปแบบที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในสิงคโปร์

เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในสิงคโปร์ HealthServ

จับตา เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และการดูแลสุขภาพในอนาคตในสิงคโปร์

เทคโนโลยี “การแพทย์ทางไกล” (Telemedicine) กำลังเป็นที่สนใจอย่างยิ่งทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้บริการด้านการแพทย์ผ่านระบบเทคโนโลยีทางไกลมีความสำคัญและจำเป็นยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลหรือคำปรึกษาด้านสุขภาพได้โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ถือเป็นกระแสเทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของบริการทางการแพทย์ในอนาคต
 
จากข้อมูลของบริษัทด้านการตลาดระหว่างประเทศ Grand View Research เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ระบุว่า ตลาดการแพทย์ทางไกลทั่วโลกในปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 55.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2564 จะเติบโตขึ้นเป็น 72.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงปี 2564 – 2571 ตลาดจะขยายตัวในอัตรา 22.4% อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการแพทย์ทางไกลมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วย การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และความแออัดของโรงพยาบาล
 
สำหรับตลาดสิงคโปร์ การแพทย์ทางไกลมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 บริษัท Ipsos Group S.A. ได้สำรวจข้อมูลความนิยมผู้ใช้บริการด้านสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) ในสิงคโปร์ พบว่า แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปประมาณ 70% มีความรู้เกี่ยวกับการสาธารณสุขทางไกล แต่มีผู้ใช้งานจริงเพียง 30% เท่านั้นในช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19  นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์ 41% กังวลที่จะติดโรค COVID-19 ในระหว่างการเดินทางไปพบแพทย์ และชาวสิงคโปร์ 23% มีแนวโน้มที่จะใช้บริการด้านสาธารณสุขทางไกลต่อไป แม้สถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายแล้ว ซึ่งผลการสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับสถิติของ National Healthcare Group Polyclinics (NHGP) ของสิงคโปร์ ว่าในปี 2564 มีผู้ใช้บริการด้านนี้เพิ่มขึ้นมากถึง 134,000 ครั้ง
3 รูปแบบของ Telemedicine ที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในสิงคโปร์  ได้แก่
 
1. บริการให้คำปรึกษาทางไกลโดยแพทย์ (Health Teleconsultant)
โดยผู้ใช้บริการสามารถแจ้งอาการและขอรับคำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านการพิมพ์โต้ตอบ หรือระบบการประชุมทางไกลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ต้องพบแพทย์เพื่อติดตามอาการและรับประทานยาต่อเนื่อง จากข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2564 พบว่า มีผู้ให้บริการด้านนี้ที่ได้ลงทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์แล้ว จำนวนกว่า 600 ราย ทั้งจากภาครัฐและบริษัทเอกชน ตัวอย่างผู้ให้บริการที่ได้รับความนิยมในสิงคโปร์ ได้แก่ (1) Doctor Anywhere ค่าบริการเริ่มต้นที่ 20 ดอลลาร์สิงคโปร์ (2) Doctor World ค่าบริการเริ่มต้นที่ 18 ดอลลาร์สิงคโปร์ (3) MHC CarePlus ค่าบริการเริ่มต้นที่ 22 ดอลลาร์สิงคโปร์ (4) MaNaDr ค่าบริการขึ้นอยู่กับแพทย์และระยะเวลาในการขอรับคำปรึกษา (5) Sata CommHealth ค่าบริการเริ่มต้นที่ 19.50 ดอลลาร์สิงคโปร์ และ (6) WhiteCoat ค่าบริการเริ่มต้นที่ 25 ดอลลาร์สิงคโปร์
 
2. การติดตามผู้ป่วยระยะไกล (Remote Patient Monitoring)
คือ การนำอุปกรณ์มาใช้ตรวจวัดการทำงานของร่างกาย เช่น การวัดค่าความดันและอัตราการเต้นของหัวใจด้วยนาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ที่ใส่ใจและรักษาสุขภาพ
 
3. การผ่าตัดทางไกล (Telesurgery)
คือ การใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีสารสนเทศมาเพิ่มศักยภาพให้คณะแพทย์สามารถผ่าตัดผู้ป่วยได้แม้จะอยู่ต่างสถานที่กัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อให้ภาพการผ่าตัดคมชัดและแสดงผลตามเวลาจริงมากขึ้น
 
ซึ่งความนิยมใช้บริการการแพทย์ทางไกลทั้ง 3 รูปแบบ จะสามารถสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตได้ในหลายภาคส่วน รวมถึงผู้ผลิตและผู้ส่งออกชุดทดสอบทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ตรวจวัด แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผู้พัฒนาระบบซอฟแวร์และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการติดตามผู้ป่วยระยะไกล (Remote Patient Monitoring) และการผ่าตัดทางไกลอีกด้วย
 
ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เนื่องจากมีแหล่งทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์ คณะแพทย์มีมาตรฐานสูง แต่มีค่ารักษาพยาบาลย่อมเยา ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้โอกาสจากการให้บริการการแพทย์ทางไกลแก่กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติได้ เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันให้คำปรึกษาทางการแพทย์แก่ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine) และเวชศาสตร์ความงาม (Aesthetic Medicine) ที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและมีชื่อเสียง และใช้ช่องทางดังกล่าวในการประชาสัมพันธ์ ให้ผู้สนใจเดินทางมารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยภายหลังสถานการณ์ COVID-19 โดยอาจผสมผสานกับการแพทย์เชิงการท่องเที่ยว เช่น การจัดแพ็กเกจตรวจสุขภาพและทันตกรรมประจำปีควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวไทย และ แพ็กเกจเวชศาสตร์ความงามควบคู่กับบริการสปาไทย ฯลฯ
 
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
กระทรวงการต่างประเทศ
14 พฤษภาคม 2564
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด