“ชาตามปลายมือปลายเท้า” หลายคนเคยเกิดอาการนี้ บางคนมีอาการเพียงชั่วครู่ บางคนมีอาการนานกว่านี้ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ทำให้เกิดความรำคาญได้ ในระยะแรกๆ มักไม่รบกวนชีวิตมากเท่ากับอาการปวด แต่ก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบประสาท ดังนั้นจึงควรหาสาเหตุและวิธีการแก้ไขอาการ ก่อนที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างอื่นตามมา
อาการชาเป็นอาการผิดปกติของระบบประสาท รับความรู้สึก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะที่นิ้ว มือ แขน เท้าหรือขา
- เป็นอาการที่มีความรู้สึกเจ็บ ปวด ร้อน หรือเย็นน้อยกว่าปกติหรือไม่มีความรู้สึกเลย
- บางคนอาจรู้สึกซ่าๆ ที่ปลายมือปลายเท้าหรือบริเวณอื่นหรือมีอาการเหมือนมีอะไรยุบยิบๆ ตามปลายมือปลายเท้า แล้วก็หายไปหรือเป็นตลอด
ซึ่งอาการชาจะเกิดขึ้นเมื่อเส้นประสาทส่งความรู้สึกของบริเวณที่เป็น ทำงานบกพร่องไปแล้วอย่างน้อย 50% โดยถ้าเส้นประสาทส่งความรู้สึกทำงานบกพร่องไปอย่างช้าๆ อาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติและมักตรวจพบได้ยาก แต่ถ้าเกิดการบกพร่องไปอย่างรวดเร็วจะเกิดอาการที่ชัดเจน
อาการมือเท้าชาสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ
- อาจเกิดจากการนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ทั่วถึง
- อาจมีสาเหตุจากโรคบางโรค เช่น โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท งูสวัด เบาหวาน ปวดศีรษะไมเกรน ลมชัก หลอดเลือดสมอง เป็นต้น
- นอกจากนี้การได้รับสารอาหารไม่เพียงพอก็อาจเป็นสาเหตุของความเสียหายของเส้นประสาทได้เช่นกัน โดยเฉพาะการขาดวิตามินB ต่างๆ เพราะวิตามิน B เหล่านั้นมีความจำเป็นต่อเส้นประสาทที่มีสภาพสมบูรณ์ หากรู้สึกเหน็บชาหรือมีอาการปวดเสียวบริเวณมือหรือเท้า นั่นอาจแสดงว่าเส้นประสาทได้รับการบำรุงไม่เพียงพอ
- ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นบ่อยจากการใช้ยาเคมีบำบัดหรือฉายรังสี
การรักษา
จะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ เช่น หากสาเหตุเกิดจากผลการคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ในผู้ป่วยเบาหวาน ก็ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือการที่มีระดับแร่ธาตุ และวิตามินที่ผิดปกติไป เช่น ขาดวิตามิน บี 1-6-12 ก็อาจรักษาโดยการรับประทานวิตามินบี 1-6-12
กรณีเกิดอาการชาที่นิ้วต่าง ๆ สามารถบ่งบอกสาเหตุได้ เช่น
- ชาที่นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วโป้ง เกิดจากการกดทับเส้นประสาทข้อมือ หรืออาจเกี่ยวกับกระดูกคอทับเส้นประสาท
- ชาตามมือและนิ้วมือ ร่วมกับอาการปวดแสบปวดร้อนที่บริเวณกระดูกและข้อ มีสาเหตุมาจากกรดยูริกในร่างกายสูงกว่าปกติ หรือโรคเกาต์นั่นเอง
- ชาที่นิ้วก้อย อาจเกิดจากกิจกรรมที่ต้องงอ และเกร็งข้อศอกเป็นเวลานาน เช่น การถือสายโทรศัพท์ เป็นต้น
- ชาบริเวณปลายนิ้วมือ และนิ้วเท้า มีสาเหตุมาจากภาวะน้ำตาลสูง ซึ่งจะส่งผลให้เส้นประสาทส่วนปลายที่ควบคุมการทำงานของมือ และเท้าเสียหาย
ชาปลายนิ้ว ต้องชาแบบไหนถึงอันตราย
ความรู้สึกเหมือนถูกไฟฟ้าช็อตที่ปลายนิ้วมือ หรือนิ้วเท้า สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุจากที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แล้วอาการไม่ได้เป็นเพียงแค่ตรงบริเวณปลายนิ้ว แต่รู้สึกชาเลยข้อมือขึ้นมาจนถึงข้อศอก อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าเป็นเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณกระดูกไหปลาร้า หากเป็นเช่นนี้ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที
5 โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการชาที่ปลายนิ้ว
- โรคปลายเส้นประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) ปกติแล้วเส้นประสาทจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างสมองกับอวัยวะต่าง ๆ หากเส้นประสาทมีปัญหาจะส่งผลให้อวัยวะส่วนนั้นทำงานผิดปกติไปด้วย ทำให้เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า หรือไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อส่วนนั้นได้
- โรคเรย์นอด (Raynaud’s Disease) เกิดจากการที่หลอดเลือดแดงเล็กของนิ้วเกิดการหดตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เลือดไปเลี้ยงปลายนิ้วไม่ได้
- โรคเอ็นอักเสบที่ข้อมือ (De quervain’s Tenosynovitis) คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็น และเส้นเอ็นบริเวณข้อมือทางฝั่งนิ้วโป้งทำให้เกิดการกดทับของเส้นเอ็นภายใน
- โรคเบาหวาน (Diabetes) ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจเกิดภาวะเสียหายกับเส้นประสาทบริเวณมือและเท้า นำไปสู่อาการชาปลายนิ้วบริเวณนิ้วมือ หรือนิ้วเท้าได้
- โรคพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ คือ โรคในกลุ่มที่มีการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ซึ่งเกิดพังผืดที่หนาตัวขึ้นไปกดทับถูกเส้นประสาท ทำให้ช่องที่ให้เส้นเอ็นผ่านขณะงอ หรือเหยียดนิ้วแคบลง ส่งผลให้มีอาการปวดและชาตามนิ้ว เพราะเส้นประสาทถูกกดทับ
การรักษาอาการชาที่ปลายนิ้ว
- พยายามขยับนิ้วมือบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้เส้นประสาทเกิดการกดทับ หรือเกิดพังผืดที่เส้นประสาท
- งดทำกิจกรรม หรือใช้งานมือ แขน หรือเท้าหนักเกินไป เช่น การยกของหนัก เพราะอาจส่งผลให้อาการเจ็บยิ่งเพิ่มขึ้น
- รับประทานยาเพื่อลดการอักเสบของเส้นประสาท
- ฉีดสเตียรอยด์ วิธีนี้จะใช้สำหรับกรณีผู้ป่วยรับประทานยาแล้วไม่ได้ผล
- การผ่าตัด จะใช้ในกรณีเส้นประสาทกดทับ หรือเส้นประสาทได้รับความเสียหาย
อาการชาที่ปลายนิ้วหากไม่รุนแรงผู้ป่วยจะยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่หากอาการเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นจนลามไปที่อวัยวะอื่น เราไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคทางเส้นประสาท จึงควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที
การบรรเทาอาการจากโรคเส้นประสาท
มีได้หลายวิธี
- เริ่มแรกควรรับประทานอาหารที่ให้มีปริมาณวิตามิน B ที่เพียงพอ ซึ่ง วิตามิน B1 B6 และ B12 เป็นวิตามินที่มีส่วนสำคัญต่อการบำรุงรักษาเส้นประสาทเราสามารถรับวิตามินเหล่านี้ได้จากอาหารหลายชนิด
- วิตามิน B1 พบได้ในธัญพืช ข้าวไม่ขัดสี สารสกัดจากยีสต์ และผลิตภัณฑ์จากถั่ว
- วิตามิน B6 พบได้ในอาหารจำพวกปลาทูน่า ผักโขม หรือผักตระกูลปวยเล้งและกล้วย
- วิตามิน B12 ได้จากไข่ เนื้อสัตว์ อาหารทะเลประเภทกุ้ง ปู และผลิตภัณฑ์นม
วิตามิน B1 หรือไทอามีน (Thiamine) ทำหน้าที่สร้างชั้นที่ปกป้องเส้นประสาทขณะที่มีการรับส่งกระแสประสาทผ่านระบบสังเคราะห์สารสื่อประสาท การขาดไทอามีนจึงทำให้เกิดการทำลายเส้นประสาท สร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมากและรบกวนกระบวนการต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท นอกจากนี้อาจส่งผลต่อระบบเมแทบอลิซึม ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติและลดการเผาผลาญกลูโคส ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ควบคุม และทำให้เกิดโรคเส้นประสาทในที่สุด
สัญญาณเตือนว่ามีอาการขาดวิตามินบี 1 เช่น รู้สึกเหนื่อยง่าย เริ่มเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน สมองมึนงง ความคิดสับสนวกวนจากการเสื่อมสภาพของระบบประสาทหากขาดรุนแรงก็อาจจะทำให้เกิดอาการทางการเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน เหน็บชา (beriberi) เป็นต้น
วิตามิน B6 หรือไพริด็อกซีน (Pyridoxine) มีส่วนช่วยในการขนส่งกลูโคสในร่างกาย การขาดวิตามินนี้ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ โดยระดับน้ำตาลในเลือดอาจทำลายระบบประสาท ทำให้เกิดโรคเส้นประสาทได้ การขาดวิตามิน B6 เป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดโรคปลายประสาทอักเสบในผู้ป่วยเบาหวาน
วิตามิน B12 หรือ โคบาลามิน (Cobalamin) มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบประสาท โดยส่งเสริมให้เกิดการสร้างและเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท เมื่อขาดวิตามิน B12 เป็นเวลานาน เนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มและป้องกันเส้นประสาทเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดโรคเส้นประสาทขึ้น
วิตามิน B ทั้งหมดเป็นวิตามินละลายน้ำ วิตามินที่เกินจำเป็นซึ่งร่างกายไม่ได้ใช้ก็จะถูกขับออกทางเหงื่อ หรือปัสสาวะ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับวิตามินอย่างเพียงพอ ถ้าอาหารมีปริมาณวิตามินไม่เพียงพอ อาจจะรับประทานอาหารเสริมเพื่อให้ได้รับวิตามิน B1 B6 B12 ให้เพียงพอต่อการบำรุงเส้นประสาท
ปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ชีวิตประจำวัน ช่วยได้
การเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันมีส่วนช่วยได้ เช่น
- การเลิกสูบบุหรี่
- การลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- การสวมรองเท้าที่สบายและเหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการนั่งเป็นเวลานาน
- แก้ไขท่าทางในชีวิตประจำวันก็ช่วยป้องกันการทำลายของประสาทได้
- หากมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน การควบคุมน้ำตาลในเลือดเป็นสิ่งสำคัญ เช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กายภาพ 2 สัปดาห์ "ตูน บอดี้สแลม" กระดูกคอทับเส้นประสาท [ThaiPBS]
ทีมแพทย์ รพ.พระมงกุฏเกล้า แถลงอาการ "ตูน บอดี้สแลม" หลังแอดมิดด่วน พบกระดูกคอกดทับเส้นประสาท แขนซ้ายชาและอ่อนแรง 50% เบื้องต้นให้ยาระงับการอักเสบ ลดการปวด และทำกายภาพบำบัด 2 สัปดาห์ ลุ้นหากผลตอบสนองดี ไม่ต้องผ่าตัด
วันนี้ (14 ธ.ค.2563) พ.อ.หญิง ปริยนันทน์ จารุจินดา รองผู้อำนวยการ รพ.พระมงกุฏเกล้า พร้อมด้วย พ.อ.ทิพชาติ บุณยรัตพันธุ์ กองออร์โธปิดิกส์ รพ.พระมงกุฏเกล้า และ พ.ท.ปวิณ คชเสณี ศัลยแพทย์กองออร์โธปิดิกส์ รพ.พระมงกุฏเกล้า แถลงข่าวกรณีนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม มีอาการกระดูกคอกดทับเส้นประสาท ทำให้แขนซ้ายมีอาการชา นิ้วมือซ้ายบังคับไม่ได้เป็นบางนิ้ว และได้เข้าแอดมิด รพ.พระมงกุฏเกล้า ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา
พ.อ.หญิง ปริยนันทน์ เล่าเหตุการณ์ว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา รพ.พระมงกุฏเกล้า ได้รับแจ้งจากนายอาทิวราห์ ว่ามีอาการปวดหลังค่อนข้างมาก บริเวณคอด้านหลังร้าวมาที่แขนด้านซ้าย มีอาการชาและนิ้วทั้ง 5 นิ้วมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการพักผ่อนที่ จ.ภูเก็ต โดยมีอาการค่อนข้างมากตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา และเข้ารักษาที่โรงพยาบาล จ.ภูเก็ต ซึ่งแพทย์ให้พักผ่อนและฉีดยาแก้ปวด แต่แขนซ้ายยังอ่อนแรง
จากนั้น รพ.พระมงกุฏเกล้า ได้รับตัวเข้ามารักษาในช่วงเวลา 14.00 น. ของวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าหมอนรองกระดูกข้อที่ 7 กดทับเส้นประสาท โดยนายอาทิวราห์เคยมีอาการดังกล่าวแต่ไม่มากนัก และแพทย์ได้ดูแลจนหายดีในช่วงการวิ่งโครงการก้าวคนละก้าว
“รพ. เห็นภาพเอ็มอาร์ไอ จากเดิมเสื่อมไม่เกิน 10% ขึ้นมาเป็น 20% ทำให้มีอาการมากขึ้น ซึ่งทีมแพทย์ได้ดูแลเพื่อให้ทุกคนสบายใจ”
ประเมินผลตอบสนองการรักษา 2 สัปดาห์
แพทย์ยืนยันว่า นายอาทิวราห์ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่การแสดงคอนเสิร์ตอาจต้องลดท่าทางแบบเอ็กซ์ตรีม ซึ่งโรคนี้พบได้บ่อย ๆ เมื่อการรักษาได้ผล ทั้งการชาและการขยับก็จะกลับมาปกติ ส่วนกรณีการตอบสนองการรักษาภายใน 2 สัปดาห์นี้ อาจเล่นคอนเสิร์ตเบา ๆ ได้
“ท่าที่ห้ามมาก ๆ คือการโยกคอเยอะ ๆ ถ้า 2 สัปดาห์นี้ผลตอบสนองดี อาจเล่นคอนเสิร์ตเบา ๆ ได้ ขอให้มั่นใจว่าทีมแพทย์จะดูแลพี่ตูนให้ดีที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีในโลกนี้มี”
ด้าน พ.อ.ทิพชาติ กล่าวว่า ทีมแพทย์ได้ดูแลร่วมกัน โดยเฉพาะกระดูกสันหลังส่วนคอ ซี่ที่ 7 และข้อที่ 6 ยืนยันว่าจะพยายามรักษาและดูแลอย่างดีที่สุด
มือขยับได้ แต่อ่อนแรงลง 50%
พ.ท.ปวิณ กล่าวว่า ตั้งแต่มีอาการล่าสุดเมื่อช่วง 4 วันที่ผ่านมา หลังตรวจร่างกาย ซักประวัติ ดูภาพเอ็กซเรย์ พบว่าปัญหาที่ทำให้นิ้วมือข้างซ้ายมีอาการอ่อนแรงลง 50% ร่วมกับอาการชา เนื่องจากหมอนรองกระดูกต้นคอเบียดโดนเส้นประสาท โดยเฉพาะบริเวณข้างซ้าย 2 ข้อ ทำให้มืออ่อนกำลังลง ซึ่งทีมแพทย์ได้ประชุมและมีความเห็นให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เบื้องต้นให้ยาระงับการอักเสบ ลดการปวด และทำกายภาพบำบัด
หากรักษาด้วยการไม่ผ่าตัดและผลตอบสนองเป็นไปด้วยดีในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ จากนั้นใช้เวลาพัก 1-2 เดือน ให้คออยู่ในลักษณะนิ่งที่สุด ก็จะใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งนายอาทิวราห์ มีอาการดังกล่าวตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรม ชีวิตประจำวันที่ใช้งานกระดูกต้นคอ