4 สิงหาคม 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามใน "ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566 และ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566" ซึ่งมีสาระสำคัญ เกี่ยวกับ สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ว่า
"ข้อ 90/1 การจ่ายค่าใช้จ่ายค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่กำหนดในหมวดนี้ ให้นำไปใช้จ่ายกับประชากรไทยทุกคนที่มิใช่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย" และ
"ข้อ 8 การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามประกาศนี้ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 จนถึงวันก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือเป็นการดำเนินการตามประกาศนี้ด้วย"
ความหมายคือ สปสช. สามารถใช้เงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาใช้จ่ายชดเชยค่าบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) แก่หน่วยบริการที่ให้บริการ PP ไม่จำกัดเฉพาะสิทธิบัตรทองอีกต่อไป แต่ครอบคลุมถึงสิทธิอื่น เช่น สิทธิข้าราชการ สิทธิผู้ประกันตนประกันสังคม หรือ สิทธิพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วย และมีผลย้อนหลังไปครอบคลุมการดำเนินการ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมาอีกด้วย
ประกาศมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2566 ทันทีหลังนาม
สิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค คือ บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ อัตราป่วย/อัตราตายที่เป็นภาระโรคของประเทศและส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก บรรลุเป้าประสงค์ที่ต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน
แต่เดิม "สิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค" ของสปสช. ให้บริการเฉพาะสิทธิบัตรทอง 30 บาท เท่านั้น ส่วนสิทธิอื่นๆ เช่น ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ ไม่ครอบคลุม และมีประเด็นข้อกฏหมายหลายประการ
แต่ภายหลังจากประกาศที่ลงนามโดย รัฐมนตรีสาธารณสุข หลังมีข้อยุติทางกฏหมายแล้ว และมีผลบังคับใช้ จึงเท่ากับเป็นการ "ปลดล็อก" ข้อจำกัดดังกล่าว
นั่นคือทำให้ คนไทยทุกคนทุกสิทธิ สามารถรับบริการได้นั่นเอง