ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

คาดการณ์ใช้จ่ายคนสูงวัยไทย ปี 2029 แตะ 2.2 ล้านล้าน โอกาสธุรกิจ sme เร่งปรับตัว

คาดการณ์ใช้จ่ายคนสูงวัยไทย ปี 2029 แตะ 2.2 ล้านล้าน โอกาสธุรกิจ sme เร่งปรับตัว Thumb HealthServ.net
คาดการณ์ใช้จ่ายคนสูงวัยไทย ปี 2029 แตะ 2.2 ล้านล้าน โอกาสธุรกิจ sme เร่งปรับตัว ThumbMobile HealthServ.net

ศูนย์วิจัยกสิกรเปิดรายงาน มูลค่าการใช้จ่ายของผู้สูงอายุไทยในปี 2024 จะอยู่ที่ราว 1.7 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2029 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด มีผู้สูงอายุ 18 ล้านคน (จากปัจจุบัน 14 ล้านคน)

คาดการณ์ใช้จ่ายคนสูงวัยไทย ปี 2029 แตะ 2.2 ล้านล้าน โอกาสธุรกิจ sme เร่งปรับตัว HealthServ
      การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยที่จะกลายเป็นสังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super-aged Society) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และธุรกิจ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ซึ่งมองได้ สองแง่ ทั้ง ด้านที่ได้รับผลเชิงบวก และ ฝั่งที่ได้รับผลเชิงลบ


        ด้านที่ได้รับผลเชิงบวก  แน่นอนว่า กลุ่มที่ทำธุรกิจสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ย่อมได้ประโยชน์ เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ธุรกิจดูแลสุขภาพต่างๆ รวมถึงธุรกิจผลิตสินค้า/บริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ


         ส่วนฝั่งที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ อาทิเช่น ธุรกิจที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น ไปจนถึงผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องปรับตัวให้สอดรับกับตลาดสังคมสูงวัยยิ่งขึ้น




ประเมินมูลค่าตลาดสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2029


         ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายของผู้สูงอายุไทยในปี 2024 จะอยู่ที่ราว 1.7 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 3.8% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2029 ที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด จากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจากราว 14 ล้านคนในปัจจุบันไปอยู่ที่ 18 ล้านคน หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.3% (CAGR) (รูปที่ 1)






คาดการณ์ใช้จ่ายคนสูงวัยไทย ปี 2029 แตะ 2.2 ล้านล้าน โอกาสธุรกิจ sme เร่งปรับตัว HealthServ

ธุรกิจที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากสังคมสูงวัย


         ทั้งนี้ ธุรกิจที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากการขยายตัวของสังคมสูงวัย อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้
 
         1. ธุรกิจที่เน้นด้านสุขภาพ ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจการดูแลสุขภาพ โดยการใช้จ่ายใน 2 หมวดนี้มีสัดส่วนรวมกันกว่า 37% ของการใช้จ่ายทั้งหมดของผู้สูงอายุ ซึ่งสูงกว่าการใช้จ่ายในหมวดเดียวกันของช่วงวัยหรือ Generation อื่นๆ ราว 3% สอดคล้องไปกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่าผู้สูงอายุไทยมีความสนใจซื้อสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 65% ของผู้สูงอายุที่ตอบแบบสำรวจทั้งหมด (รูปที่ 2)

        ซึ่งสินค้าและบริการที่น่าจะเป็นโอกาสในกลุ่มนี้ ได้แก่ ศูนย์โรคเฉพาะทาง ยาและเวชภัณฑ์ บริการดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home และ Care Giver) ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น โดยมีปัจจัยหนุนจากเทรนด์รักสุขภาพ ความเสี่ยงเจ็บป่วยต่างๆ โดยเฉพาะโรคติดต่อไม่เรื้อรังของผู้สูงอายุ สำหรับในหมวดอาหาร ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุและอาหารทางการแพทย์ แต่ทั้งนี้รูปแบบของอาหารควรเคี้ยวง่าย ย่อยง่าย มีขนาดที่พอเหมาะ และมีโภชนาการครบถ้วน




         2. ธุรกิจอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุ คิดเป็นสัดส่วนราว 63% ของการใช้จ่ายทั้งหมดของผู้สูงอายุ ซึ่งการใช้จ่ายต่อครั้งจะมีมูลค่าสูง แต่มีความถี่ในการใช้จ่ายน้อยกว่าการบริโภคสินค้าในกลุ่มแรก (อาหารและสุขภาพ) ไม่ว่าจะเป็น
 
  • ธุรกิจนวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่ม Smart Home Devices เช่น ระบบสั่งการด้วยเสียง อุปกรณ์แจ้งเตือนเมื่อเกิดอุบัติเหตุในบ้าน กล้องติดตามการเคลื่อนไหว ซึ่งต้องมีฟังก์ชันการใช้ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีจอแสดงผลที่ใหญ่เพื่อง่ายต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังรวมถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือในชีวิตประจำวันให้แก่ผู้สูงอายุ อาทิ ไม้เท้าอัจฉริยะ เครื่องช่วยฟัง เป็นต้น
  • ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง จากปัจจุบันผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านเพียงลำพังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (รูปที่ 3) รวมถึงความนิยมเลี้ยงสัตว์ของผู้สูงอายุเพื่อช่วยในการบำบัดรักษา (Pet Healing) ส่งผลให้สินค้าและบริการที่น่าจะได้ประโยชน์ เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง อุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และบริการดูแลสัตว์เลี้ยง
  • ธุรกิจที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยผลสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ  ในปี 2023 ของ REIC พบว่ายังมีอยู่น้อย จากปัจจุบันมี 728 แห่งทั่วประเทศ รองรับผู้สูงอายุที่ได้เพียงราว 19,490 คนเท่านั้น ประกอบกับการส่งเสริมให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาพำนักอาศัยระยะยาวในไทยอาจหนุนให้เกิดการการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่การปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิมก็น่าจะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ช่วยรองรับความต้องการของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยได้
  • ธุรกิจบริการอื่นๆ เช่น บริการทางการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุ และ Reverse Mortgage สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการเงินไว้ใช้หลังเกษียณ แต่ไม่มีลูกหลานดูแล รวมถึงบริการ Entertainment ต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ อาทิ เกมช่วยบริหารสมองและช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อม (Dementia) และเกมช่วยฝึกความไวของสายตา เป็นต้น (รูปที่ 4)
     
คาดการณ์ใช้จ่ายคนสูงวัยไทย ปี 2029 แตะ 2.2 ล้านล้าน โอกาสธุรกิจ sme เร่งปรับตัว HealthServ
  

ความเสี่ยง



         ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ตลาดผู้สูงอายุมีแนวโน้มน่าสนใจมากขึ้น แต่ธุรกิจอาจมีความเสี่ยงจาก 2 เรื่องหลัก  ได้แก่
 
         1. ตลาดแข่งขันรุนแรง เพื่อแย่งชิงลูกค้าที่มีศักยภาพ แม้ตลาดผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น แต่ในช่วง 2-3 ปีแรกของการเจาะตลาดผู้สูงอายุ ขนาดตลาดจะยังไม่ใหญ่มากตามจำนวนผู้สูงอายุไทยที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 23% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ส่งผลต่อกำลังซื้อที่จำกัด
 
         ขณะที่ ผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่ พบว่ามักกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคกลาง (รูปที่ 5) ทำให้ธุรกิจที่จะเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้อาจต้องเผชิญการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่เข้มข้นจากคู่แข่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน และญี่ปุ่น
 
         นอกจากการปรับตัวของธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องคำนึงถึง คือ การทำกลยุทธ์การตลาด (Marketing) ไปที่ลูก-หลาน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผู้ตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการแทนผู้สูงอายุ โดยเน้นที่คุณภาพ/มาตรฐานของสินค้าและบริการ รวมถึงความคุ้มค่าด้านราคาเป็นหลัก






 
         2. ธุรกิจมีต้นทุนในการปรับตัวรองรับสังคมสูงวัย นอกเหนือจากต้นทุนหลักที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่าน ธุรกิจจะมีต้นทุนส่วนเพิ่มจากการปรับไลน์การผลิต/พัฒนารูปแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ เช่น สินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มก็อาจต้องเพิ่มสารอาหารที่เหมาะสมกับวัยและโรคของผู้สูงอายุ ปรับบรรจุภัณฑ์ให้ใช้เปิด-ปิดง่าย เป็นต้น รวมถึงบางธุรกิจที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) ในภาคเกษตร การผลิต และการค้า ที่อาจต้องมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่จะรุนแรงในระยะข้างหน้า
 
          ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวจะยิ่งมีความยากลำบากสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหมดราว 3.18 ล้านราย โดยธุรกิจที่มีสัดส่วน SMEs สูง ได้แก่ ค้าส่ง/ค้าปลีก การผลิต ก่อสร้าง และธุรกิจการเกษตร คิดเป็นสัดส่วนรวมกันราว 63% ของจำนวน SMEs ทั้งหมด (รูปที่ 6) ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจเหล่านี้มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันด้านต้นทุนเพิ่มขึ้น


 
         แต่ไปข้างหน้า การปรับตัวรองรับสังคมสูงวัย โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่แม้จะใช้เงินลงทุนสูงในช่วงแรก แต่คาดว่าจะสร้างความคุ้มค่าในระยะกลาง-ยาวจากราคาเริ่มถูกลง เช่น ราคาหุ่นยนต์ (Robot Price) ที่ใช้ในอุตสาหกรรม (Robot Arms, Industrial Robots) จะลดลงเฉลี่ยปีละ 11% (CAGR 2017-2025)  และการใช้ AI ในธุรกิจจะมีต้นทุนลดลงจากการแข่งขันกันพัฒนาโมเดล/ความสามารถใหม่ๆ โดยเฉพาะ Gen AI (ChatGPT, Gemini, Claude-3 ฯลฯ) ซึ่งคงจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น

ภาพประกอบบทความ

 

รูปที่ 2 ความสนใจซื้อสินค้าและบริการด้านสุขภาพในแต่ละช่วงวัย

 กลุ่ม Baby Boomer ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ยังเป็นกลุ่มที่มีนำหนักมากที่สุด 65%  รองลงมาคือกลุ่ม Gen X วัย 45-59 ปี อยู่ที่ 63%  ตามมาด้วย กลุ่ม Gen Y (อายุ 24-44 ปี) และ Gen Z อายุน้อยกว่า 24 ปี ที่นำหนักเท่ากันคือ 60% 

รูปที่ 3 สัดส่วนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่บ้านเพียงลำพังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

    ธุรกิจที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ พบว่ายังมีอยู่น้อย ปัจจุบันมี 728 แห่งทั่วประเทศ รองรับผู้สูงอายุได้เพียง 19,490 คนเท่านั้น 

รูปที่ 4 ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของสังคมสูงวัย

   มูลค่าใช้จ่าย มหาศาล ของ กลุ่มเป้าหมายที่สูงวัย 2 กลุ่มวัย คือ Baby Boomer  มูลค่า 1.7 ล้านล้าน  และ Gen X Y Z มูลค่า 8.9 ล้านล้าน   รวมกัน 10.6 ล้านล้านบาท 

รูปที่ 5 รายได้เฉลี่ยต่อปีของกลุ่มผู้สูงอายุที่มีศักยภาพแบ่งตามพื้นที่

 

รูปที่ 6 จำนวนผู้ประกอบการ SMEs ในแต่ละธุรกิจ

 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด