ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สายพันธุ์ลูกผสม เดลตาครอน VS โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1+ BA.2

สายพันธุ์ลูกผสม เดลตาครอน VS โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1+ BA.2 Thumb HealthServ.net
สายพันธุ์ลูกผสม เดลตาครอน VS โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1+ BA.2 ThumbMobile HealthServ.net

ไวรัสกลายพันธุ์เป็นไปตามกลไกธรรมชาติ โควิดโอมิครอนก็เช่นกัน แต่กระนั้นเลย ความกังวลยังคงมีและคำถามจึงมีว่า ระหว่าง 2 สายพันธุ์ลูกผสม คือ เดลตา+โอมิครอน (เดลตาครอน) และ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1+ BA.2 สายพันธุ์ลูกผสมใดมีความน่ากังวลกว่ากัน


ศูนย์จีโนมทางการแพทย์  (Center for Medical Genomics)คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี  ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มต้นไวรัสโควิดมา สายพันธุ์ต่างๆ มีการกลายพันธุ์ไปตลอดเวลาที่ผ่านมา ดังนี้
 
"อัลฟา"กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ไปประมาณ  40  ตำแหน่ง  
 
"เดลตา"กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ไปประมาณ  50  ตำแหน่ง  
 
"โอมิครอน BA.1"กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ไปประมาณ  54  ตำแหน่ง  
 
"โอมิครอน BA.1.1"กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ไปประมาณ  58  ตำแหน่ง  
 
"โอมิครอน BA.2" กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ไปประมาณ  72  ตำแหน่ง  
 
"โอมิครอน BA.2.2" กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ไปประมาณ  74  ตำแหน่ง  
 
"โอมิครอน BA.3" กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ไปประมาณ  58  ตำแหน่ง  
 

 
ไวรัสลูกผสม (recombinant variants)
 
"AY.4(Delta)+BA.1(โอมิครอน)" กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ไปประมาณ  62  ตำแหน่ง  
 
"BA.1+BA.2" กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ไปประมาณ  88  ตำแหน่ง  

 
 

รายงานติดตามการกลายพันธุ์


จากการที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ติดตามธรรมชาติการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019  พบว่า
 
1. ตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่ต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” หากเพิ่มขึ้นจะสอดคล้องสัมพันธ์ไปกับความสามารถในการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น (transmissibility)
 
2. ตำแหน่งการกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ที่เพิ่มขึ้นไม่สอดคล้องกับความสามารถในการก่อโรคที่รุนแรง (severity) เช่น “เดลตา”กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ประมาณ  50  ตำแหน่ง แต่ก่อโรครุนแรงกว่า  “โอมิครอน BA.2”  ที่กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ถึง 72  ตำแหน่ง  
 
3. ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ กำลังเชื่อมโยงข้อมูลจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย และสายพันธุ์ลูกผสมกับอาการ "ลองโควิด (Long COVID)" หรือ Post Covid-19 Syndrome อันเป็นภาวะของคนที่หายจากโควิด-19 แล้วแต่ยังต้องเผชิญกับอาการหลายรูปแบบที่หลงเหลืออยู่กับอวัยะวะต่างๆ เชื้อโควิดหายจากร่างกายไปแล้ว แต่บางอาการกลับไม่หายไปด้วย
 

แนวคิดอยู่ร่วมกับโควิดเหมาะสมหรือ




ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาแจ้งเตือนหลายประเทศที่มีผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดและหันไปใช้นโยบายอยู่ร่วมกับโควิด แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศนั้นๆ ยังไม่ลดลงหรือกำลังทะยานพุ่งขึ้นก็ตาม ให้ช่วยเฝ้าระวังและรายงานการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ใหม่ที่พบการระบาดที่ถี่ขึ้นในระยะนี้ให้กับ  WHO
 
แม้จำนวนผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จะลดลงอย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้ แต่กลับปรากฏว่าปัจจุบัน (19/3/2565) จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในเกาหลีใต้ ฮ่องกง สหราชอาณาจักรได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่เยอรมนียังคงรักษาสถิติยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 250,000 รายต่อวัน ที่อื่นๆ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ ก็พบว่าการติดเชื้อโควิดที่เริ่มเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งสืบเนื่องมาจากการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 และอาจมีสายพันธุ์อื่นเข้าร่วมผสมโรงด้วย เช่น BA.2.2 และบรรดาสายพันธุ์ลูกผสมต่างๆ ซึ่งมีการกลายพันธุ์ไปมากกว่า BA.2 ด้วยซ้ำและกำลังเข้ามาแทนที่ BA.1 

 
 
 

WHO วอนนานาชาติช่วยถอดรหัสพันธุกรรม
 

WHO ได้ขอร้องบรรดาห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ใหญ่น้อยในทุกประเทศให้ร่วมด้วยช่วยกัน"สุ่ม"ถอดรหัสพันธุกรรม “ไวรัสโคโรนา 2019” ทั้งจีโนมจากตัวอย่างที่มีผล PCR ต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นบวก และรีบอัปโหลดขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก "GISAID" เพื่อให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้นำไปวิเคราะห์หาทางป้องกันและรักษาไวรัสโคโรนา 2019 กันแบบเรียลไทม์ 


 
สายพันธุ์ย่อยที่ WHO ได้ขอให้ทั่วโลกเฝ้าติดตามโดยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมคือ 
 
1. โอมิครอน BA.2 ซึ่งกำลังเข้ามาแทนที่ โอมิครอน BA.1 และอาจก่อให้เกิดเป็นการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยหลายฝ่ายกำลังจับตาว่าการระบาดของ BA.2 จะทำให้เกิดระบาดใหญ่ระลอกที่ 6 หรือไม่ (ภาพ 7)
 
**อ่านเพิ่มเติม ธรรมชาติการกลายพันธุ์และการระบาดใหญ่ 5 ระลอกของไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย จาก facebook.com/CMGrama/posts
 
2. โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย (sub lineage) ของ BA.2 เช่น BA.2.1, BA.2.2, BA.2.3 ซึ่งขณะนี้เริ่มพบ “BA.2.2” ระบาดมากที่สุดในฮ่องกง โดยต้องสงสัยว่าอาจเป็นปัจจัยหนึ่งหรือไม่ที่ทำให้ฮ่องกงมีอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงที่สุดในโลก โดยในช่วงพีกสูงสุดมีผู้เสียชีวิตถึง 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยกว่าคือน้อยกว่า 1 คนต่อประชากร 1 ล้านคน (ภาพ 1)
BA.2.2 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากอู่ฮั่นประมาณ 74 ตำแหน่ง จากการคำนวณในเบื้องต้นพบว่า BA.2.2 มี “growth advantage” หรือความสามารถในการแพร่ระบาดเหนือกว่า BA.2 ประมาณ 0.53 เท่า (53%) (ภาพ2) โดย BA. 2 มี “growth advantage” หรือความสามารถในการแพร่ระบาดได้เร็วกว่า BA.1 ประมาณ 1.5 เท่า (150%) 
 
3. สายพันธุ์ลูกผสมที่ควรเฝ้าระวังขณะนี้มีสองกลุ่มคือ 

I. สายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง “เดลตา (AY.4) + โอมิครอน (BA.1)” (Delta/Omicron Recombinant Lineage) โดยเดลตาสายพันธุ์ย่อย “AY.4” ได้รับเอายีน Spike ที่สร้างหนามแหลมจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 เข้ามาผสมในสายจีโนม เกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสม “AY.4+BA.1” โดยมีส่วนตัวเป็นเดลตา  ส่วนหนามเป็นโอมิครอน
เดลตาครอนไม่ฟิตกับสิ่งแวดล้อม ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่มาก อยู่ในระดับหลักสิบ  และไม่สามารถขยายตัวแพร่ติดต่อเป็นวงกว้างได้ พบในอังกฤษ 30 คน   อเมริกา 17 คน  ฝรั่งเศส  เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก เป็นหลักหน่วย จากการตรวจสอบระหัสพันธุกรรมจากฐานข้อมูลโควิดโลก "GISAID" พบว่าเดลตาครอนน่าจะอุบัติขึ้นในราวมกราคม 2565   (ภาพ 3) 

II. สายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง “โอมิครอน BA.1 + โอมิครอน BA.2” (BA.1/BA.2 Recombinant Lineage) โดยโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.1” รับเอายีน Spike ที่สร้างหนามแหลมจาก BA.2 เข้ามาผนวกในสายจีโนม เกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสม “BA.1+BA.2” มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากอู่ฮั่นถึง 88 ตำแหน่ง (ภาพ 4) จากการคำนวณพบว่ามี “growth advantage” หรือความสามารถในการแพร่ระบาดได้เหนือกว่า BA.2 ประมาณ 1.26 เท่า (126%) (ภาพ 5)
 
จากนี้ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ต้องจับตามองทั้งบรรดาโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยและสายพันธุ์ลูกผสม “โอมิครอน BA.1 + โอมิครอน BA.2” ที่มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากอู่ฮั่นสูงถึง 88 ตำแหน่ง และมีความสามารถในการแพร่ระบาดที่เหนือกว่า BA.2 ประมาณ 1.26 เท่า (126%) ว่าผู้ติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงแตกต่างจาก BA.2 หรือไม่
 
ที่สำคัญสายพันธุ์ลูกผสมที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศมีสัดส่วนการแลกเปลี่ยนหรือการผสมสารพันธุกรรมบนสายจีโนมที่แตกต่างกัน แม้ลูกผสมที่ตรวจพบในขณะนี้ส่วนใหญ่จะรับส่วนจีโนมที่สร้างหนาม (spike gene) มาจาก BA.1 หรือ BA.2 (ภาพ8) โดยยังไม่อาจคาดคะเนได้ว่าจะก่อให้เกิดอาการความรุนแรงของโรคเหมือนการติดเชื้อโอมิครอนทั่วไปหรือไม่
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด