สเตียรอยด์ชนิดทาแบ่งเป็นกลุ่มตามความแรงได้เป็น กลุ่มยาที่มีความแรงสูง ปานกลาง และต่ำ การเลือกใช้ยากลุ่มใดขึ้นกับ
1.ลักษณะของรอยโรค
- ผื่นที่ไม่หนา ควรเลือกยาที่มีความแรงต่ำหรือปานกลาง
- ผื่นที่หนาหรือเป็นเรื้อรัง อาจจำเป็นต้องใช้ยาที่มีความแรงสูง
2.ต่ำแหน่งของรอยโรค
- บริเวณผิวหนังอ่อนบาง เช่น ใบหน้า รอบดวงตา และบริเวณซอกพับ ควรใช้ยาทาที่มีความแรงต่ำ
- บริเวณที่ผิวหนังหนา เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ควรใช้ยาที่มีความแรงปานกลางถึงสูง
3.พื้นที่ของรอยโรค
- รอยโรคเป็นบริเวณกว้าง ควรเลือกใช้ยาที่ความแรงต่ำถึงปานกลาง เนื่องจากยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้
4.อายุ
- เด็กและผู้สูงอายุมีผิวหนังบอบบาง ควรเลือกใช้ยาทาด้วยความระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงจากยา
ระดับความแรงของสเตียรอยด์ชนิดทา
1.สเตียรอยด์ระดับสูง (High potency steroids) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีผื่นที่หนาและเรื้อรัง หรือมีผิวหนังที่หนา
2.สเตียรอยด์ระดับปานกลาง (Moderate potency steroids) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีรอยโรคเป็นบริเวณกว้าง หรือมีผิวหนังที่หนา เช่น แขน ขา มือ เท้า
3.สเตียรอยด์ระดับต่ำ (Low potency steroids) เหมาะสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ที่มีผิวหนังบอบบางหรือบริเวณผิวหนังที่อ่อนบาง เช่น ใบหน้า รอบดวงตา หรือบริเวณซอกพับ
วิธีการบริหารยา
การทายาสเตียรอยด์ ควรทาให้ครอบคลุมพื้นที่ที่เกิดอาการ ทาวันละ 1-2 ครั้ง จนอาการหายและทาต่อไปอีก 3 วันแล้วจึงหยุดยา
ใช้เมื่อต้องการบรรเทาอาการอักเสบ และอาการคันที่ผิวหนัง ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์
ผลข้างเคียงของการใช้สเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน
- อาการเฉพาะที่ เช่น ผิวหนังบาง แตกลาย มีจ้ำเลือด สีผิวจางลง มีขนขึ้นบริเวณที่ทายา ทำให้เกิดการกำเริบของโรคผิวหนังติดเชื้อ หรืออาจเกิดสิวสเตียรอยด์
- อาการที่เกิดขึ้นในระบบร่างกาย (พบในกรณีใช้ระยะเวลานาน, ทาเป็นบริเวณกว้าง, ใช้ยาระดับความแรงสูง) เช่น cushing syndrome, การทำงานของต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ, ต้อหิน, การเจริญเติบโตช้าในเด็ก
ข้อมูลโดย
ร้านยาตะนาวเภสัช ถ.ตะนาว เขตพระนคร