พีเอสเอคืออะไร
พีเอสเอ หรือ prostate specific antigen เป็นสารที่ต่อมลูกหมากสร้างขึ้นและขับออกมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในนำ้อสุจิ ทำหน้าที่เป็นเอนไซม์ย่อยนำ้อสุจิให้มีความเหนียวลดลงหลังจากถูกหลั่งออกมานอกร่างกายมากกว่า 10-15 นาทีแล้ว เพื่อช่วยให้นำ้อสุจิไหลไปสู่ปากมดลูกในเพศหญิงได้ง่ายขึ้น
พีเอสเอส่วนน้อยแค่ประมาณหนึ่งในพันจะถูกขับออกมาอยู่ในเลือด ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ที่ยังไม่มีอาการ
ทำไมผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากถึงมีค่าพีเอสเอสูงกว่าปกติ
จริงๆ แล้วมะเร็งต่อมลูกหมากไม่ได้สร้างสารพีเอสเอมากขึ้น แต่เซลล์มะเร็งจะทำลายเยื่อบุผิวของเซลล์ต่อมลูกหมากจึงทำให้สารพีเอสเอรั่วเข้ากระแสเลือดได้มากขึ้น
ปกติค่าพีเอสเอไม่ควรเกินเท่าไร
โดยทั่วไปถือว่าค่าพีเอสเอไม่ควรสูงเกิน 4 นาโนกรัม/มิลลิลิตร แต่จริงๆ แล้วผู้ที่มีค่าพีเอสเอที่ไม่เกินนี้ก็ยังมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ราว 2%
ค่าพีเอสเอสูงเกิดจากอะไรได้บ้าง
การที่ค่าพีเอสเอสูงขึ้น มีความจำเพาะกับการเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติของต่อมลูกหมาก แต่ไม่ได้บอกว่าจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเสมอไป สิ่งที่ทำให้ค่าพีเอสเอสูงขึ้นได้แก่
- ต่อมลูกหมากโต
- ต่อมลูกหมากอักเสบ
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
- ภาวะปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะคั่ง
- การสวนปัสสาวะ
- การส่องกล้องท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ หรือการทำหัตถการเช่นขยายท่อปัสสาวะ
- การเจาะตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก
ตรวจเลือดพบค่าพีเอสเอสูง ควรทำอย่างไรดี
ควรปรึกษากับศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ (urologist) โดยเร็ว แพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วย ประวัติครอบครัวเรื่องมะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจร่างกายเพิ่มเติมและตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก เพื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าพีเอสเอสูงขึ้นและความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากจะทำได้โดยการเจาะตรวจชิ้นเนื้อแล้วพบมะเร็งเท่านั้น การตรวจค้นเพิ่มเติมโดยอัลตราซาวน์ต่อมลูกหมากหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มีประโยชน์น้อยในการช่วยวินิจฉัย
กรณีค่าพีเอสเอสูงขึ้นไม่มากโดยทั่วไปคือ 4-10 นาโนกรัม/มิลลิลิตร และตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนักไม่พบความผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้
- เฝ้าดูไปก่อนโดยนัดมาตรวจเลือดทุก 3-6 เดือน เพื่อดูแนวโน้มการสูงขึ้นของค่าพีเอสเอ
- ตรวจค่าพีเอสเออิสระ (free PSA) เพิ่มเติมเพื่อช่วยในการตัดสินใจเจาะตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก
- เจาะตรวจชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมากไปเลย
ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ร่วมกับการตัดสินใจของผู้ป่วย
กรณีค่าพีเอสเอสูงมากกว่า 10 นาโนกรัม/มิลลิลิตร หรือตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนักพบความผิดปกติชัดเจน แนะนำให้เจาะตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไปเลยเนื่องจากมีความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากสูง
ควรจะตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยค่าพีเอสเอหรือไม่
การตรวจคัดกรองด้วยค่าพีเอสเอจะทำให้ตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่ระยะแรกมากขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ
- ตรวจพบมะเร็งที่ยังขนาดเล็กมากอยู่ ซึ่งจริงๆแล้วมะเร็งนี้อาจจะไม่ก่อปัญหากับผู้ป่วยจนผู้ป่วยเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นเลยก็ได้ แต่การวินิจฉัยมะเร็งกลับทำให้ต้องรักษาผู้ป่วย และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาได้ (overdiagnosis and overtreatment)
- มีการศึกษาขนาดใหญ่หลายฉบับ พบว่าการตรวจคัดกรองด้วยค่าพีเอสเอไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก เพื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ตรวจคัดกรอง
ในปัจจุบันจึงยังไม่มีข้อสรุปว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยค่าพีเอสเอมีประโยชน์จริงหรือไม่ ขึ้นกับการตัดสินใจของแต่ละบุคคล แต่ถ้าตัดสินใจว่าจะคัดกรองจะแนะนำใน
- ผู้ชายอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
- กรณีที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากคือ มีประวัติญาติสายตรง (พ่อ พี่ชาย น้องชาย) เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือชนชาติแอฟริกันอเมริกัน แนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 40-45 ปีขึ้นไป
ถ้าตรวจคัดกรองแล้วพบว่าค่าพีเอสเอปกติดี แนะนำให้ตรวจซำ้ทุก 1-2 ปี จนกว่าจะอายุครบ 75 ปีซึ่งการตรวจคัดกรองหลังจากนี้จะไม่มีประโยชน์แล้ว
นพ.มนินธ์ อัศวจินตจิตร์
8 กันยายน 2556