ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

9 วิธี ดูแลผู้สูงอายุสุขภาพดี

9 วิธี ดูแลผู้สูงอายุสุขภาพดี Thumb HealthServ.net
9 วิธี ดูแลผู้สูงอายุสุขภาพดี ThumbMobile HealthServ.net

ใครมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแล ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยจะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งวิกฤตเศรษฐกิจปีนี้รุนแรงกว่าครั้งใดๆ การป้องกันดูจะเป็นยาขนานเอกที่ได้ผลเกินคาด วันนี้เรามีวิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุมาฝาก

วิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ

 

1. เลือกอาหาร 

โดยวัยนี้ร่างกายมีการใช้พลังงานน้อยลงจากกิจกรรมที่ลดลง จึงควรลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล  และไขมัน ให้เน้นอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะปลา  และเพิ่มแร่ธาตุที่ผู้สูงอายุมักขาด  ได้แก่ แคลเซียม สังกะสี และเหล็ก  ซึ่งมีอยู่ในนม ถั่วเหลือง  ผัก ผลไม้  ธัญพืชต่างๆ  และควรกินอาหารประเภทต้ม นึ่ง ย่าง อบ แทนประเภทผัด ทอด จะช่วยลดปริมาณไขมันในอาหารได้  นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด  เค็มจัด  และดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย  6 – 8 แก้วต่อวัน
 

2. ออกกำลังกาย   

หากไม่มีโรคประจำตัว แนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิคสัก 30 นาทีต่อครั้ง ทำให้ได้สัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง  จะเกิดประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือดอย่างมาก โดยขั้นตอนการออกกำลังกายจะต้องค่อยๆ เริ่ม มีการยืดเส้นยืดสายก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มความหนักขึ้น จนถึงระดับที่ต้องการ ทำอย่างต่อเนื่องจนถึงระยะเวลาที่ต้องการ จากนั้นค่อย ๆ ลดลงช้า ๆ และค่อย ๆ หยุด เพื่อให้ร่างกายและหัวใจได้ปรับตัว   
        

3. สัมผัสอากาศที่บริสุทธิ์ 

จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคได้ อาจเป็นสวนสาธารณะใกล้ๆสถานที่ท่องเที่ยว หรือการปรับภูมิทัศน์ภายในบ้านให้ปลอดโปร่ง สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก มีการปลูกต้นไม้ จัดเก็บสิ่งปฏิกูลให้เหมาะสม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และสามารถช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืดได้
 

4. หลีกเลี่ยงอบายมุข 


ได้แก่ บุหรี่และสุรา จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรค หรือลดความรุนแรงของโรคได้  ทั้งลดค่าใช้จ่ายในการรักษา  และยังช่วยป้องกันปัญหาอุบัติเหตุ  อาชญากรรมต่างๆ อันเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมในขณะนี้
 

5.ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

โดยเลือกกิจกรรมให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลและโรคที่เป็นอยู่ ส่งเสริมสุขภาพให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง ปรับสภาพแวดล้อมในบ้านให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือการหกล้ม 
 


 
6.ควบคุมน้ำหนักตัวหรือลดความอ้วน 

โดยควบคุมอาหารและออกกำลังกายจะช่วยทำให้เกิดความคล่องตัว  ลดปัญหาการหกล้ม  และความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ  เช่น  โรคข้อเข่าเสื่อม  และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น   

             วิธีประเมินว่าน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์อ้วนหรือไม่  โดยคำนวณจากดัชนีมวลกายหรือเรียกสั้น ๆ ว่า BMI (body mass index)  ถ้าน้ำหนักตัวเกิน ค่า BMI   จะอยู่ระหว่าง 23 - 24.9 กิโลกรัม/เมตร2   แต่ถ้าอ้วนล่ะก็ 

ค่า BMI จะตั้งแต่ 25 กิโลกรัม/เมตร2 ขึ้นไป
                         สูตร ดัชนีมวลกาย(BMI)  = น้ำหนักตัว(กิโลกรัม)           
                                                                    ส่วนสูง (เมตร)2
 
ตัวอย่าง   ผู้สูงอายุ   หนัก 67 กิโลกรัม สูง 160 เซนติเมตร 
                               ดัชนีมวลกาย(BMI)     =   67               
                                                                    (1.6) 2 
                                                                =  26.17   ถือว่าเข้าข่ายอ้วน
      

7.หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม 

เช่น การซื้อยากินเอง  การใช้ยาเดิมที่เก็บไว้มาใช้รักษาอาการที่เกิดใหม่ หรือรับยาจากผู้อื่นมาใช้  เนื่องจากวัยนี้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตในการกำจัดยาลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดพิษจากยาหรือผลข้างเคียง  อาจมีแนวโน้มรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ฉะนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาจะดีที่สุด
 

8. หมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย 

 เช่น คลำได้ก้อน โดยเฉพาะก้อนโตเร็ว  แผลเรื้อรัง  มีปัญหาการกลืนอาหาร  กลืนติด  กลืนลำบาก  ท้องอืดเรื้อรัง  เบื่ออาหาร น้ำหนักลด  ไอเรื้อรัง  ไข้เรื้อรัง  เหนื่อยง่าย  แน่นหน้าอกหรือถ่ายอุจจาระผิดปกติ  มีอาการท้องเสียเรื้อรัง  ท้องผูกสลับท้องเสีย  ถ้าอย่างนี้ล่ะก็พามาพบแพทย์ดีที่สุด
 


9.ตรวจสุขภาพประจำปี   

แนะนำให้ตรวจสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี  หรืออย่างน้อยทุก 3 ปี โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ  ตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ  เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแข็ง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง  ตรวจหาโรคมะเร็งที่พบบ่อย ได้แก่  มะเร็งลำไส้  มะเร็งเต้านม  มะเร็งปากมดลูก และยังมีตรวจการมองเห็น  การได้ยิน ตลอดจนประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วย
 
            นอกจากการดูแลสุขภาพกายแล้ว สุขภาพใจก็เป็นสิ่งสำคัญ  การทำจิตใจให้แจ่มใส  มองโลกในแง่ดี  ไม่เครียดหรือวิตกกังวลกับเรื่องต่างๆ มากจนเกินไป  รวมถึงการเข้าใจและยอมรับตนเองของท่านและผู้อื่น  จะช่วยให้เป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดีอย่างแท้จริง
 
            ว่าแต่อย่าลืมทำกันนะครับ  จะดีต่อผู้สูงอายุในบ้านและครอบครัว. 
 
 
9 วิธี ดูแลผู้สูงอายุสุขภาพดี
อ.นพ.สมบูรณ์  อินทลาภาพร
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด