พฤศจิกายน เดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปอด
กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เชิญชวนคนไทยให้ตระหนักถึงภัยมะเร็งปอดแนะ“มะเร็งปอด” พบบ่อยในคนไทย ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุด ทั่วโลก จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ปี 2018 ทั่วโลกพบผู้ป่วยรายใหม่ 2,093,876 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1,761,007 ราย สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 15,200 ราย เป็นเพศชาย 9,700 ราย และเพศหญิง 5,500 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 13,700 ราย หรือคิดเป็น 38 รายต่อวัน ปัจจัยเสี่ยง ที่สำคัญของโรคมะเร็งปอด คือ การสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสอง และการสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่เป็น มะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการแต่ก็มักไม่จำเพาะจึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้ามีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย โดยทั่วไปมะเร็งปอดมีสัญญาณเตือน เช่น อาการไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะ ปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ มีเสียงหวีด เจ็บหน้าอก ปอดติดเชื้อบ่อย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เป็นต้น หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ ด้านการรักษามีวิธีหลัก ๆ ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการกระจายตัว รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพในระดับประชากร แต่มีคำแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตามการป้องกันมะเร็งปอดจากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคลงได้
4 พฤศจิกายน 2563