25 พ.ค. 65 เวลา 09.00 น. : นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการ “กรุงเทพฯ : มหานครต้นแบบไร้ควันบุหรี่” โดยมี นายแพทย์วันชาติ ศุภจัตุรัส กรรมการบริหารสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย พร้อมด้วย ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข ผู้แทนชุมชน และผู้แทนจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ร่วมพิธี ณ ห้องราชเทวีแกรน โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี
โครงการ “กรุงเทพฯ : มหานครต้นแบบไร้ควันบุหรี่” เป็นโครงการร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ซึ่งตระหนักถึงพิษภัยและอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหมุนเวียนไปยัง 6 กลุ่มเขต จากนั้นจะรวบรวมผลนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของกรุงเทพมหานคร พัฒนาเป็นแผนของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นต้นแบบของมหานครไร้ควันบุหรี่ในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป สำหรับในครั้งนี้จัดอบรมในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง มีผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งสิ้น 180 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการเขต ฝ่ายสิ่งแวดล้อม ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายพัฒนาชุมชน ฝ่ายการศึกษา โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข ผู้แทนชุมชน และผู้แทนจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้ความเข้าใจต่อพิษภัยของยาสูบการช่วยเลิกยาสูบ การรักษาผู้ติดยาสูบ การเฝ้าระวังตามพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 และการร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการลด ละ เลิกยาสูบหรือบุหรี่ของเขตแต่ละเขต
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของการบริหารราชการของกรุงเทพมหานคร เพราะสุขภาพของประชาชนเป็นพื้นฐานในการพัฒนา และความยั่งยืนของสังคมที่มีประสิทธิภาพ การอบรมทำความเข้าใจในเรื่องพิษภัยของการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า จะทำให้เกิดความตระหนักและสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ในที่สุด ทั้งนี้ บุหรี่เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งซึ่งก่อให้เกิดมลพิษ ที่ทำให้ปอดสูญเสียสมรรถภาพ ก่อให้เกิดโรคปอดเรื้อรัง และมะเร็ง โดยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจะนำเอาสารพิษและสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายโดยตรงและมีความเข้มข้นสูง กรุงเทพมหานคร จึงมีนโยบายในการให้ความรู้กับบุคลากรและประชาชน เพื่อให้เกิดความรู้ด้านพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และช่วยลดค่าใช้จ่ายประจำวันได้อีกด้วย นอกจากนี้บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ายังมีผลให้เกิดโรคกับบุคคลใกล้ชิดที่ได้รับควันบุหรี่ที่พ่นเหลือออกมาจากคนสูบ ซึ่งเรียกว่าบุหรี่มือสอง และควันบุหรี่ที่เกาะติดอยู่ตามวัสดุและพื้นที่ต่างๆ ของที่อยู่อาศัย ผู้ที่ได้รับกลิ่นควันบุหรี่จะเรียกว่าเป็นบุหรี่มือสาม ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดขึ้นในกลุ่มเด็กเล็กที่พ่อแม่ซึ่งเป็นคนสูบบุหรี่อุ้มหรือใกล้ชิด การทำความเข้าใจในเรื่องพิษภัยของการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า จะทำให้เกิดความตระหนักและสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ในที่สุด รวมทั้ง การอบรมเชิงปฏิบัติการจะทำให้เกิดการรวมพลังเครือข่าย เพื่อร่วมกันสร้างกรุงเทพมหานคร ให้เป็นมหานครต้นแบบไร้ควันบุหรี่ ประชาชนมีสุขภาพดี ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป