โรความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยเบาหวานเป็นภาวะที่พบได้บ่อย
การสำรวจจากประชากรผู้ใหญ่ในประเทศไทยทั้งที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและภาคต่าง ๆ 4 ภาค เมื่อปี 2543 พบว่าคนไทยที่อายุมากกว่า 35 ปี เป็นโรคเบาหวานมาถึง 9.6 % หรือ 2.4 ล้านคน และเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 20 % หรือ 5.1 ล้านคน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมักจะมีความดันโลหิตสูงกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวาน และในทางกลับกันผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงก็มีโอกาสที่จะเป็นเบาหวานมากกว่า คนที่มีความความดันโลหิตปกติ เนื่องจากทั้งโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในประชากรและมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยที่เป็นทั้งโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานได้บ่อยเช่นเดียว
กัน
อันตรายของโรคความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยเบาหวานและความสำคัญของการลดความดันโลหิต
เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง คือ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งล้วนแต่สร้างความทุกข์ทรมานต่อทั้งตัวผู้ป่วยเองและญาติ เช่น ภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบหรือแตก ทำให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์หรืออัมพาต และยังก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายของการรักษาที่สูงมาก เช่น การฟอกเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เป็นต้น ทั้งโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานจัดเป็นโรคเรื้อรังที่ “รักษาได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่หายขาด” ผู้ป่วยควรจะได้รับการรักษาและติดตามไปตลอดชีวิต เนื่องจากความรุนแรงของโรคอาจจะไม่คงที่ ทำให้แพทย์อาจต้องปรับเปลี่ยนการรักษาเป็นระยะให้เหมาะกับสภาพของผู้ป่วยในแต่ละช่วงเวลา ทั้งภาวะความดันโลหิตสูงและระดับน้ำตาลในเลือดสูงก็จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดในที่สุด ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นทั้งโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง จึงมีโอกาสที่จะเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจมากกว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียว และการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยเบาหวานจะช่วยลดอัตราการเกิดและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้มากกว่าการลดความดันโลหิตในผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ การรักษาโรคความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานร่วมด้วยจะได้ประโยชน์มากกว่าในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้เป็นเบาหวาน การศึกษาวิจัยในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นความดันโลหิตสูงร่วมด้วยก็พบว่าการควบคุมความดันโลหิตทำได้ง่ายกว่าและช่วยป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ดีกว่าการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่มีความสำคัญ
เป้าหมายของการควบคุมความดันโลหิตในผู้ป่วยเบาหวาน
ระดับความดันโลหิตเป้าหมายในผู้ป่วยเบาหวานคือ ความดันโลหิตค่าบนต่ำกว่า 130 และความดันโลหิตค่าล่างต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งต่ำกว่าผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน ซึ่งระดับความดันโลหิตเป้าหมายเท่ากับความดันโลหิตค่าบนต่ำกว่า 140 และความดันโลหิตค่าล่างต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท การที่ระดับความดันโลหิตเป้าหมายในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานต่ำกว่าผู้ป่วยที่ไม่เป็นเบาหวานก็เนื่องจากผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่เป็นเบาหวานร่วมด้วยนั้นมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไตวายเรื้อรังดังที่กล่าวแล้ว และจากการศึกษาวิจัยในทางการแพทย์พบว่าการลดความดันโลหิตลงสู่ระดับต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท ก่อให้เกิดผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่าลดความดันโลหิตลงต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทเหมือนในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้เป็นเบาหวานร่วมด้วย
นอกเหนือจากโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานแล้วยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งที่สำคัญ ได้แก่ การสูบบุหรี่และภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ดังนั้น การจะป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจให้ได้ผลดีก็ต้องควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติหรือใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด และหยุดสูบบุหรี่ควบคู่ไปกับการลดความดันโลหิตด้วย
สถานการณ์การรักษาโรคความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยเบาหวาน
การรักษาโรคความดันโลหิตสูงยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขทั่วโลก กล่าวคือ ผู้ป่วยบางรายไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูงเนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ และผู้ป่วยที่ทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับการรักษา และมีเพียงร้อยละ 20 – 30 ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเท่านั้นที่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท และยิ่งเป้าหมายของการควบคุมความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เป็นเบาหวานร่วมด้วย ต่ำกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน คือต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท ดังที่กล่าวไปแล้วนั้น การลดความดันโลหิตลงให้ถึงเป้าหมายจึงยิ่งเป็นปัญหามากในผู้ป่วยเบาหวาน จากการสำรวจเรื่องผลการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยเบาหวานในประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย รวม 7 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วยในปี พ.ศ. 2545 พบว่า มีเพียง 11% ของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เป็นเบาหวานร่วมด้วยที่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ตามเป้าหมายซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าการรักษาโรคความดันโลหิตสูงยังเป็นปัญหาทาง
สาธารณสุขที่สำคัญอย่างยิ่งปัญหาหนึ่งของประเทศไทย
สิ่งที่ผู้ป่วยจะสามารถช่วยแพทย์ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงให้ได้ผลดี ก็คล้ายคลึงกับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงโดยทั่วไปซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ การงดอาหารเค็ม การเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด การลดน้ำหนักอย่างจริงจังในผู้ป่วยที่น้ำหนักเกินหรืออ้วน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการหยุดดื่มสุราหรือจำกัดปริมาณการดื่ม ซึ่งรายละเอียดสามารถหาอ่านได้ในเอกสารเรื่อง “มารู้จักโรคความดันโลหิตสูงกันเถอะ” ของสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย
2.การใช้ยาลดความดันโลหิต แพทย์มักจะต้องใช้ยาลดความดันโลหิตหลายชนิดร่วมกันส่วนใหญ่มากกว่า 2 ชนิด ในการช่วยลดความดันโลหิตลงให้ถึงเป้าหมาย การใช้ยาหลายชนิดร่วมกันจะช่วยเสริมฤทธิ์ลดความดันโลหิตซึ่งกันและกัน ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัด และแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังรับประทานยา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะความรุนแรงของทั้งโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานนั้นเปลี่ยนแปลงได้ แพทย์จึงต้องติดตามระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังต้องติดตามระดับไขมันในเลือดและประเมินสมรรถภาพ
การทำงานของไตเป็นระยะ เพราะปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการเกิดโรค แทรกซ้อนในอนาคตของผู้ป่วยทั้งสิ้นและยาลดความดันโลหิตแต่ละชนิด นอกจากจะมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตซึ่งเหมือนกันแล้ว ยังมีผลช่วยชะลอการเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ได้แตกต่างกันด้วย เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิดสามารถช่วยชะลอการเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวานได้ดีกว่ายาลดความดันโลหิตชนิดอื่น ๆ ดังนั้น แพทย์จึงต้องพิจารณาเลือดใช้ยาลดความดันโลหิตให้เหมาะกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย และอาจจะต้องปรับเปลี่ยนการรักษาเมื่อสภาพของผู้ป่วยเปลี่ยนไปหรือมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เพิ่มเติม
ข้อควรระวังที่แตกต่างไปจากผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน
1.แพทย์มีแนวโน้มที่จะจ่ายยาแอสไพรินให้แก่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่เป็นเบาหวานร่วมด้วยมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน แอสไพรินเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด จึงมีผลป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดง ถ้าท่านได้รับยานี้อยู่และจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดถอนฟัน หรือการกระทำใด ๆ ที่อาจทำให้เลือดออกได้ควรแจ้งให้แพทย์ที่ทำการรักษาทราบด้วย และหยุดยาแอสไพรินก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกมากผิดปกติจากการยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด
2.ผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่เป็นมานานหรือเป็นผู้สูงอายุ มีแนวโน้มที่ความดันโลหิตอาจลดลงได้มากกว่าปกติเมื่อผู้ป่วยเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากท่านอนเป็นลุกขึ้นยืน ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืดหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นลมได้ ถ้าท่านมีอาการดังกล่าวควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และระมัดระวังเมื่อจะเปลี่ยนท่าทางโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังได้รับยาลดความดันโลหิตใหม่ ๆ หรือหลังจากการปรับเปลี่ยนชนิดหรือขนาดของยาลดความดันโลหิต
3.ระดับไขมันในเลือดเป้าหมายในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เป็นเบาหวานร่วมด้วยต่ำกว่าผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั่วไปคือ แอลดีแอล-โคเลสเตอรอลต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เนื่องจากผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
สรุป ข้อควรทราบและข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เป็นเบาหวานร่วมด้วย
1.ทั้งโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานสามารถรักษาและควบคุมได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่หายขาย
2.เป้าหมายในการลดความดันโลหิตคือ ความดันโลหิตค่าบนต่ำกว่า 130 และค่าล่างต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท
3.ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะได้รับยาลดความดันโลหิตหลายชนิดร่วมกันเพื่อลดความดันโลหิตให้ถึงเป้าหมาย
4.ไม่ควรซื้อยารับประทานเองโดยไม่พบแพทย์แม้จะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ก็ตาม
5.ควรหยุดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด