ภาวะมีบุตรยาก
หมายถึง การที่คู่สมรสไม่สามารถมีบุตรได้เองหลังจากที่มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ได้คุมกำเนิดเป็นเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป พบได้ประมาณ 15% หรือราวๆ 1 ใน 6 ของคู่สมรสโดยทั่วไป
กระบวนการที่ใช้ในการรักษาภาวะมีบุตรยากนั้น อาศัยหลักการพื้นฐานคือทำให้เกิดการปฏิสนธิขึ้นระหว่างเซลล์ไข่และตัวอสุจิ การรู้ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติจึงน่าจะช่วยให้เข้าใจถึงวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ได้ง่ายขึ้น
การตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ อาศัยอะไรบ้าง
- ปัจจัยทางฝ่ายชาย จะเน้นความสำคัญที่เซลล์สืบพันธุ์ฝ่ายชาย ซึ่งก็คือตัวอสุจินั่นเอง ในการมีเพศสัมพันธ์นั้น จะมีการหลั่งน้ำอสุจิออกมา ซึ่งประกอบด้วย ตัวอสุจิจำนวนหลายสิบล้านตัวว่ายไปมาอยู่ในของเหลวที่มีผลต่อการอยู่รอดของตัวอสุจิ ดังนั้นปัจจัยทางฝ่ายชายที่สำคัญนั่น คือต้องมีการหลั่งน้ำอสุจิได้ตามปกติ จำนวนและการเคลื่อนไหวของตัวเชื้ออสุจิที่ปกติ
- ปัจจัยทางฝ่ายหญิง จะมีส่วนสำคัญทั้งเซลล์สืบพันธุ์หรือเซลล์ไข่ และอวัยวะในอุ้งเชิงกรานที่เกิดการปฏิสนธิและเป็นที่ฝังตัวของตัวอ่อน ระบบฮอร์โมนและรังไข่ จะมีการพัฒนาเซลล์ไข่จนพร้อมปฏิสนธิใน ช่วงประมาณกลางรอบเดือนเพียง 1 ใบ เท่านั้น เมื่อไข่ตกลงมาจะถูกปลายท่อนำไข่พัดโบกเข้ามาสู่ท่อนำไข่เพื่อมาปฏิสนธิกับอสุจิที่ต้องว่ายมาจากบริเวณช่องคลอด ผ่านส่วนของปากมดลูกและโพรงมดลูกก่อน
เมื่อมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ตัวอ่อนก็จะค่อยๆพัฒนา แบ่งเซลล์และกลับเข้าฝังตัวในโพรงมดลูกต่อไป ซึ่งตรงจุดนี้ความสำคัญก็จะอยู่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก หากการฝังตัวเกิดขึ้นสมบูรณ์การตั้งครรภ์ก็จะดำเนินต่อไป
การวินิจฉัยและให้คำปรึกษาภาวะมีบุตรยาก
ในการวางแผนสำหรับการมีบุตรนั้น ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความสำเร็จของการตั้งครรภ์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการดูแลเพื่อให้เกิดกระบวนการตั้งครรภ์และการคลอดที่มีคุณภาพด้วย
ทั้งนี้ก็เพื่อให้มารดานั้นมีสุขภาพที่ดีในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งจะนำไปสู่การคลอดที่ปลอดภัยและสุขภาพของบุตรที่สมบูรณ์แข็งแรงในอนาคต ในการให้การดูแลภาวะมีบุตรยากจึงมีความสำคัญที่ แพทย์นั้นจะต้องทำการสอบถามประวัติ ตรวจร่างกายและทำการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ เพื่อค้นหาปัจจัยต่างๆที่ส่งต่อความยากง่ายของการมีบุตร รวมถึงปัจจัยที่จะส่งผลต่อสุขภาพของฝ่ายหญิงเมื่อมีการตั้งครรภ์ และสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วย โดยทั่วไปแล้วการตรวจวินิจฉัยเพื่อให้คำปรึกษาภาวะมีบุตรยากจึงประกอบด้วย
การซักประวัติ โดยแพทย์จะทำการสอบถามประวัติต่างๆจากคู่สมรสแต่ละฝ่ายแยกกัน เกี่ยวกับประวัติการมีบุตรในอดีต ประวัติโรคประจำตัวหรือการเจ็บป่วยรวมทั้งการรักษาที่ได้รับ อาชีพหรือสุขนิสัยที่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะมีบุตรยากและประวัติโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว เป็นต้น
การตรวจร่างกายทั่วไป รวมทั้งการตรวจภายในเพื่อหาปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในฝ่ายหญิง
การตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไปเพื่อประเมินความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์และการตรวจจำเพาะเพื่อหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก รวมทั้งความผิดปกติที่มีโอกาสถ่ายทอดไปสู่บุตรเมื่อมีการตั้งครรภ์ เช่น การตรวจองค์ประกอบของเลือด (complete blood count), การตรวจหาโรคติดเชื้อ, การตรวจมะเร็งปากมดลูก, การตรวจอัลตราซาวน์ของอุ้งเชิงกราน, การตรวจน้ำอสุจิในฝ่ายชาย การตรวจคัดกรองคู่สมรสที่มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคบางอย่างที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบบ่อยและมีผลเสียรุนแรงต่อบุตร เป็นต้น
การตรวจหาสาเหตุภาวะมีบุตรยาก
- การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง
การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ การอัลตราซาวน์ เป็นการตรวจพื้นฐานที่ถูกนำมาใช้เพื่อการวินิจฉัยในแง่โครงสร้างของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เพื่อตรวจหาความผิดปกติบางชนิดที่อาจจะส่งผลกระทบทั้งในแง่ความยากง่ายของการตั้งครรภ์และคุณภาพของการตั้งครรภ์ในอนาคต โดยการตรวจนี้มักจะสามารถให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับตัวมดลูก รังไข่และอาจสามารถให้การวินิจฉัยความผิดปกติของท่อนำไข่บางอย่างได้ นอกจากประโยชน์ในการตรวจหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากแล้ว ยังมีประโยชน์ในแง่การประเมินการทำงานของรังไข่ การตอบสนองต่อการรักษาและเป็นเครื่องมือช่วยในการทำหัตถการเพื่อการรักษาด้วย เช่น การเก็บไข่ การย้ายตัวอ่อน เป็นต้น
- การตรวจเลือดและฮอร์โมน
การตรวจเลือดและฮอร์โมนนั้น เป็นการตรวจที่มีประโยชน์ทั้งในแง่การประเมินภาวะสุขภาพ ความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ และประโยชน์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยเฉพาะการตรวจฮอร์โมนนั้น สามารถช่วยยืนยันการวินิจฉัยความผิดปกติต่างๆที่ส่งผลต่อการทำงานของรังไข่ เช่น ภาวะที่มีถุงน้ำรังไข่ขนาดเล็กจำนวนมาก (Polycystic ovarian syndrome,PCOs) หรือใช้ในการประเมินความพร้อมก่อนการเริ่มกระตุ้นไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้ว รวมถึงการตรวจติดตามการรักษาเพื่อดูผลตอบสนองต่อยาที่ให้เพื่อใช้ปรับขนาดยา การตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ภายหลังจากการย้ายตัวอ่อน เป็นต้น
- การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก
การส่องกล้องตรวจภายในโพรงมดลูก เป็นการใช้กล้องขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 มม. ส่องผ่านช่องคลอด ปากมดลูก เข้าไปเพื่อตรวจดูภายในโพรงมดลูก โดยการตรวจนี้มักใช้ตรวจเพิ่มเติมจากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง เนื่องจากให้ประโยชน์สูงในด้านการค้นหาความผิดปกติภายในโพรงมดลูก ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน และมีผลต่อความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต โดยการตรวจนี้จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับโพรงมดลูกได้มากกว่าการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง สามารถตรวจได้โดยไม่ต้องใช้ยาระงับความรู้สึก ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล โดยทั่วไปแล้วใช้เวลาในการตรวจสั้น น้อยกว่า 10-15 นาที เป็นการตรวจที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการหาปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะมีบุตรยาก หรือในรายที่มีการแท้งบุตรบ่อยๆ
- การวิเคราะห์น้ำอสุจิ
เป็นการตรวจขั้นพื้นฐานเพื่อหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย โดยเป็นการตรวจจากน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาด้วยวิธีการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง โดยน้ำอสุจินี้จะได้รับการตรวจวิเคราะห์ทั้งลักษณะทางกายภาพภายนอก และการตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อประเมินถึงจำนวน การเคลื่อนไหว รูปร่าง ลักษณะของตัวอสุจิ ซึงความผิดปกติของปัจจัยต่างเหล่านี้ อาจส่งผลต่อความสามารถในการปฏิสนธิของตัวอสุจิต่อไข่ โดยความผิดปกตินี้อาจจะสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการทางด้านเทคโนโลยีการรักษาภาวะมีบุตรยาก
การเตรียมน้ำเชื้ออสุจิ
ก่อนที่จะนำน้ำเชื้ออสุจิมาใช้ในการรักษาไม่ว่าจะด้วยวิธีการ IUI หรือ IVF มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดเตรียมผ่านกระบวนการทางห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นการคัดเอาเชื้ออสุจิที่ตาย รวมทั้งน้ำเลี้ยงอสุจิและเศษเซลล์อื่นๆออกไป ให้ได้น้ำอสุจิที่มีจำนวนอสุจิที่ดีในสัดส่วนที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิ
การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก
เป็นวิธีการรักษาที่ทำร่วมกับการกระตุ้นการตกไข่ โดยอาจใช้เป็นยากินหรือยาฉีดเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ ตรวจติดตามด้วยการทำอัลตราซาวน์ เมื่อขนาดของถุงไข่เจริญเต็มที่ ก็ฉีดยากระตุ้นให้ไข่สุกและเกิดการตกไข่ตามมา โดยจะสามารถคาดคะเนวันตกไข่ได้แม่นยำมากขึ้น และนัดให้มารับการฉีดน้ำเชื้ออสุจิที่ผ่านการเตรียมจากห้องปฏิบัติการเรียบร้อยแล้วเข้าไปสู่โพรงมดลูก
วิธีการรักษานี้จึงไม่ยุ่งยากมากนัก ใช้เวลาในการฉีดน้ำเชื้อไม่นาน และมีความใกล้เคียงกับธรรมชาติ อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์อยู่ประมาณ 10-15% ต่อรอบของการรักษา
วิธีนี้มีความเหมาะสมกับคู่สมรสที่ตรวจไม่พบสาเหตุ หรือตรวจพบความผิดปกติที่ไม่รุนแรง เช่น อสุจิผิดปกติไม่มากหรือมีการตกไข่ไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่อนำไข่จะต้องไม่มีการอุดตันอย่างน้อยหนึ่งข้าง เพื่อให้อสุจิว่ายไปพบเซลล์ไข่และเกิดปฏิสนธิได้
การปฏิสนธินอกร่างกายโดยการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และ ICSI
ในการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าการทำเด็กหลอดแก้วนั้น จะเป็นการนำเอาเซลล์ไข่ของทางฝ่ายหญิงและอสุจิของฝ่ายช่ายมาผสมกันในห้องปฏิบัติการ โดยตัวอสุจิที่มีความพร้อมมากที่สุดจะเจาะเข้าไปในเซลล์ไข่เองคล้ายในกระบวนการปฏิสนธิทางธรรมชาติ ต่างจากวิธีการ ICSI ซึ่งเป็นเทคนิคช่วยการปฏิสนธิภายใต้กล้องจุลทรรศน์ที่มีประโยชน์ในรายที่จำนวนของตัวอสุจิที่แข็งแรงนั้นมีจำนวนน้อย โดยใช้อุปกรณ์ลักษณะคล้ายเข็มขนาดเล็กกว่าเส้นผม ในการดูดเอาตัวอสุจิที่ดีฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่ให้ แทนการให้อสุจิเจาะไข่เอง โดยเซลล์ไข่ที่จะถูกนำมาใช้ในกระบวนการปฏิสนธินี้ จะได้มาจากกระบวนการกระตุ้นไข่ในฝ่ายหญิง โดยสูตรในการให้ยาอาจมีความแตกต่างกันไปทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยของแต่ละราย
- MINIMAL STIMULATION IVF
เป็นการเลือกสูตรยากระตุ้นไข่ที่ใช้ยาในปริมาณที่น้อยลง โดยอาจใช้ยารับประทาน ร่วมกับยาฉีด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการประหยัดค่าใช้จ่าย และมุ่งหวังให้ได้เซลล์ไข่ในปริมาณที่ไม่มาก โดยเชื่อว่า แม้จะได้เซลล์ไข่โดยรวมในจำนวนที่น้อยกว่า conventional IVF แต่จำนวนของเซลล์ไข่ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ความเหมาะสมในการเลือกใช้วิธีการกระตุ้นไข่ จะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ตามความเหมาะสมกับภาวะของแต่ละราย
- NATURAL IVF
เป็นการนำเซลล์ไข่ที่เกิดจากการพัฒนาตามรอบฮอร์โมนธรรมชาติของร่างกายมาใช้ในกระบวนการทาง IVF ตามปกติในสตรีทั่วไปจะมีการพัฒนาของเซลล์ไข่รอบเดือนละ 1 ใบ ดังนั้นการใช้ไข่ในรอบธรรมชาติมาใช้นี้จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยากระตุ้น
- CONVENTIONAL IVF
นั้นเป็นการใช้ยาเพื่อการกระตุ้นไข่โดยหวังผลให้ได้ไข่ในปริมาณที่มาก เพื่อนำมาใช้ปฏิสนธิได้ตัวอ่อนในจำนวนที่มาก เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ยาที่ให้โดยทั่วไปจะประกอบด้วยยาที่ใช้เพื่อการกระตุ้นการพัฒนาของเซลล์ไข่ (Gonagotropin) ยาที่ให้เพื่อป้องกันการตกไข่ก่อนกำหนด ( อาจใช้ GnRH agonist หรือ GnRH antagonist ขึ้นกับสูตรยาที่ใช้) และยาที่ใช้เพื่อกระตุ้นความสมบูรณ์ของเซลล์ไข่ในช่วงท้ายเมื่อถุงไข่มีขนาดโตดีแล้ว ( hCG หรือ GnRH Agonist ขึ้นกับสูตรยาและความเหมาะสมกับแต่ละราย)
PESA / TESE
ในกรณีที่ฝ่ายชายมีความผิดปกติของน้ำอสุจิที่รุนแรง เช่น มีปัญหาในการหลั่งอสุจิ การตรวจไม่พบตัวอสุจิจากน้ำอสุจิที่หลั่งออกมา หากพบว่าสาเหตุของความผิดปกตินี้เกิดจากการอุดตันของท่ออสุจิ หรือความผิดปกติชนิดไม่มีท่ออสุจิแต่กำเนิด เคยทำหมันชายมาก่อนในรายที่เคยมีบุตรมาแล้ว หรือมีความผิดปกติที่ทำให้อสุจิที่ถูกหลั่งออกมาตายไปทั้งหมด การแก้ไขปัญหาอาจพิจารณาทำการเก็บอสุจิจากอัณฑะโดยตรง โดยอาจเริ่มจากการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะดูดจากท่ออสุจิส่วนต้น (Percutaneous epididymal sperm aspiration,PESA) แต่ถ้าหากคลำไม่พบว่ามีการอุดตันของท่อที่ชัดเจน อาจพิจารณาทำการเจาะดูดจากตำแหน่งของอัณฑะ (Testicular sperm aspiration,TESA)แทน และสุดท้ายคือการผ่าตัดนำเอาเนื้อเยื่อหลอดอสุจิออกมาเล็กน้อยเพื่อหาตัวอสุจิ (Testicular sperm extraction,TESE)
อสุจิที่ได้จากการเก็บโดยตรงจากอัณฑะแบบนี้ มีปริมาณน้อย จึงมักต้องอาศัยการทำอิ๊กซี่เพื่อช่วยในการปฏิสนธิ อย่างไรก็ตามหากความผิดปกติเกิดจากอัณฑะไม่สามารถสร้างอสุจิได้โดยตรง การผ่าตัดอาจเก็บได้แต่อสุจิที่ยังอ่อนอยู่และให้ผลสำเร็จของการรักษาที่ค่อนข้างต่ำ
ในกรณีที่ฝ่ายชายมีความผิดปกติของน้ำอสุจิที่รุนแรง เช่น มีปัญหาในการหลั่งอสุจิ การตรวจไม่พบตัวอสุจิจากน้ำอสุจิที่หลั่งออกมา หากพบว่าสาเหตุของความผิดปกตินี้เกิดจากการอุดตันของท่ออสุจิ หรือความผิดปกติชนิดไม่มีท่ออสุจิแต่กำเนิด เคยทำหมันชายมาก่อนในรายที่เคยมีบุตรมาแล้ว หรือมีความผิดปกติที่ทำให้อสุจิที่ถูกหลั่งออกมาตายไปทั้งหมด การแก้ไขปัญหาอาจพิจารณาทำการเก็บอสุจิจากอัณฑะโดยตรง โดยอาจเริ่มจากการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะดูดจากท่ออสุจิส่วนต้น (Percutaneous epididymal sperm aspiration,PESA) แต่ถ้าหากคลำไม่พบว่ามีการอุดตันของท่อที่ชัดเจน อาจพิจารณาทำการเจาะดูดจากตำแหน่งของอัณฑะ (Testicular sperm aspiration,TESA)แทน และสุดท้ายคือการผ่าตัดนำเอาเนื้อเยื่อหลอดอสุจิออกมาเล็กน้อยเพื่อหาตัวอสุจิ (Testicular sperm extraction,TESE)
อสุจิที่ได้จากการเก็บโดยตรงจากอัณฑะแบบนี้ มีปริมาณน้อย จึงมักต้องอาศัยการทำอิ๊กซี่เพื่อช่วยในการปฏิสนธิ อย่างไรก็ตามหากความผิดปกติเกิดจากอัณฑะไม่สามารถสร้างอสุจิได้โดยตรง การผ่าตัดอาจเก็บได้แต่อสุจิที่ยังอ่อนอยู่และให้ผลสำเร็จของการรักษาที่ค่อนข้างต่ำ
การเปิดเปลือกตัวอ่อนเพื่อช่วยในการฝังตัว
ตัวอ่อนจะมีส่วนของโครงสร้างที่มีลักษณะคล้ายเปลือก ห่อหุ้มอยู่เรียกว่า zona pellucida ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีส่วนช่วยในการป้องกันอันตรายต่อเซลล์ของตัวอ่อน แต่เมื่อจะเกิดการฝังตัว ตัวอ่อนจะต้องออกจากโครงสร้างนี้ การทำ assisted hatching เป็นกระบวนการเจาะเปิดหรือทำให้ส่วนของเปลือกนี้บางลง ให้ตัวอ่อนสามารถออกมาได้ง่ายมากขึ้น โดยอาจจะช่วยเพิ่มอัตราการฝังตัวของตัวอ่อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวอ่อนที่ผ่านกระบวนการแช่แข็งมาก่อน หรือในตัวอ่อนที่มีความหนาของเปลือกนี้มากกว่าปกติ และในคู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีอายุมาก เป็นต้น
การทำ Assisted hatching นี้ ปัจจุบันนิยมใช้เลเซอร์ตัดเปิดส่วนของเปลือก ทำได้ง่าย รวดเร็วและมีความแม่นยำมากทำให้ไม่เกิดอันตรายกับตัวอ่อน กระบวนการนี้จะทำในวันเดียวกับที่จะมีการย้ายตัวอ่อนนั่นเอง
การตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรม
การเลือกเพศบุตร
เป็นกระบวนการดึงเอาเซลล์ส่วนน้อยของตัวอ่อนออกมา เพื่อตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมของตัวอ่อน เพื่อประโยชน์ในการคัดเลือกตัวอ่อนที่มีโครโมโซมปกติ เพื่อการย้ายเข้าสู่โพรงมดลูก โดยมีการตรวจจากเซลล์ของตัวอ่อนระยะคลีเวจ (ตัวอ่อนอายุ 3 วัน) หรือจากตัวอ่อนระยะ บลาสโทซิสท์ (ตัวอ่อนอายุ 5 วัน) โดยเซลล์ที่ดึงออกมานี้จะถูกนำไปตรวจความผิดปกติของโครโมโซมของตัวอ่อนได้สองแบบ แบบหนึ่งคือเพื่อการตรวจหาความผิดปกติที่จำเพาะเจาะจงกับโรคใดโรคหนึ่ง เรียกว่า Pre-Implantation Diagnosis; PGD โดยวิธีนี้จะใช้เมื่อมีการทราบแน่ชัดว่าคู่สมรสนั้นเป็นคู่เสี่ยงที่จะมีการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมนั้นๆไปสู่บุตร ส่วนแบบที่สองจะเรียกว่า Pre-Implantation Screening; PGS จะเป็นการนำเซลล์ที่ดึงออกมาไปตรวจหาความผิดปกติทางโครโมโซมที่พบบ่อยๆในประชากรทั่วไป โดยกรณีนี้คู่สมรสไม่ได้มีโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่อาจมีความเสี่ยงสูงต่อการมีบุตรที่จะมีโครโมโซมผิดปกติ เช่น มีประวัติที่ชี้ว่าเคยมีบุตรที่โครโมโซมผิดปกติมาก่อน หรือมีอายุสูงขึ้นกว่า 40ปี โดยการตรวจนี้ยังรวมถึงการตรวจโครโมโซมเพศของตัวอ่อนด้วย
อย่างไรก็ตามกระบวนการนี้เป็นการตรวจหาความผิดปกติทางโครโมโซมเท่านั้น จึงไม่ได้ครอบคลุมถึงความผิดปกติอื่นๆที่เป็นความผิดปกติจากกระบวนการพัฒนาการของตัวอ่อนที่เกิดภายหลังการฝังตัวของตัวอ่อนไปแล้ว
การแช่แข็งตัวอ่อน
เทคโนโลยีในปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้คู่สมรสสามารถเก็บรักษาตัวอ่อนและเซลล์สืบพันธุ์ไว้ใช้ในอนาคตได้โดยวิธีการแช่แข็ง (Cryopreserve) สามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน เทคนิคการแช่แข็งด้วยวิธีที่เรียกว่า Vitrification เป็นวิธีการที่ถูกพัฒนาขึ้นและนิยมใช้ในปัจจุบันเนื่องจากมีผลเสียต่อตัวอ่อนและเซลล์สืบพันธุ์น้อยมาก และให้ผลสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้ใกล้เคียงกับการใช้ตัวอ่อนหรือเซลล์สืบพันธุ์ที่ไม่ผ่านการแช่แข็ง ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยการทำเด็กหลอดแก้วหรืออิ๊กซี่ หากกระตุ้นไข่ได้เป็นจำนวนมาก ก็มีโอกาสที่จะปฏิสนธิได้ตัวอ่อนในปริมาณที่มากขึ้นด้วย ตัวอ่อนที่คุณภาพดีที่ยังไม่ถูกใช้ในการย้ายเข้าสู่โพรงมดลูกในรอบแรกจึงต้องได้รับการเก็บรักษาไว้โดยการแช่แข็ง เมื่อต้องการย้ายตัวอ่อนในรอบต่อๆไปก็สามารถใช้ตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้ได้โดยไม่ต้องมาเริ่มกระบวนการกระตุ้นไข่และทำเด็กหลอดแก้ว นอกจากนี้การแช่แข็งตัวอ่อน รวมทั้งเซลล์สืบพันธุ์(เซลล์ไข่และอสุจิ) ยังสามารถนำไปใช้ในกรณีอื่นๆที่ต้องเก็บเซลล์เหล่านี้ไว้ก่อนเพื่อการใช้ในอนาคต เช่น กรณีของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องได้รับการรักษาที่ส่งผลเสียต่อการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ ไม่ว่าจะด้วยการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา ซึ่งผู้ป่วยยังต้องการมีบุตรของตนเองในอนาคต นอกจากนี้การแช่แข็งอสุจิยังอาจใช้ในการเก็บสำรองอสุจิไว้ก่อนเพื่อใช้ในการปฏิสนธินอกร่างกายสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาและอาจไม่สามารถหลั่งอสุจิได้ในวันเก็บไข่ ในสตรีบางรายที่ยังไม่ตัดสินใจในเรื่องการแต่งงานและการมีบุตร หากต้องการมีบุตรในตอนที่อายุมากขึ้นอาจเกิดปัญหาเรื่องการทำงานของรังไข่ที่ไม่ดี ก็สามารถทำการแช่แข็งเซลล์ไข่ไว้ก่อนเพื่อใช้เมื่อต้องการมีบุตรในอนาคตได้ ดังที่กล่าวมาข้างต้นเราจึงสามารถทำการแช่แข็งได้ทั้ง
- การแช่แข็งตัวอ่อน
- การแช่แข็งเซลล์ไข่
- การแช่แช็งน้ำเชื้ออสุจิ
การกระตุ้นความพร้อมของเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อรับการฝังตัวของตัวอ่อน
เทคนิคนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของตัวอ่อนที่มีผลต่อการเตรียมความพร้อมของเยื่อบุโพรงมดลูก พัฒนาและศึกษาโดยคุณหมอชิโอทานิและคณะ โดยพบว่าวิธีการกระตุ้นโพรงมดลูกนี้มีประสิทธิภาพในการเพิ่มโอกาสของการตั้งครรภ์ในคู่สมรสที่ไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ภายหลังจากการย้ายตัวอ่อนระยะบลาสโทซิส และในรายที่ไม่ตั้งครรภ์แม้จะใช้เทคนิคการย้ายตัวอ่อนสองระยะและยังอาจมีประสิทธิภาพในการเพิ่มอัตราการฝังตัวของตัวอ่อนและอัตราการตั้งครรภ์ในคู่สมรสที่เริ่มเข้ารับการรักษาด้วยเด็กหลอดแก้วที่มีตัวอ่อนบลาสโทซิสที่ดีปฏิสนธิขึ้น
เทคนิคการย้ายตัวอ่อน 2 ระยะ
วิธีการย้ายตัวอ่อนสองระยะนี้ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาโดยคุณหมอชิโอทานิและคณะ โดยพบว่าวิธีการนี้สามารถเพิ่มอัตราความสำเร็จของการตั้งครรภ์ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับคู่สมรสที่ไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ภายหลังการรักษาด้วยวิธีการเด็กหลอดแก้วแบบซ้ำๆ
======
ทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญของเราได้อุทิศตนศึกษาค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ และคัดเลือกที่สุดแห่งเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อันทันสมัยมีประสิทธิภาพสูง จากทั้งฝั่งซีกโลกตะวันตก และซีกโลกตะวันออก ผนวกกับการดูแลเอาใจใส่ทางด้านจิตใจของผู้ป่วยมาปรับใช้ให้การรักษาเป็นที่พึงพอใจสูงสุด ดังชื่อภาษาญี่ปุ่นของทางคลินิก “宝” ทะคาระ หรือ สิ่งของล้ำค่า เพื่อสื่อถึง การส่งมอบสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดไปยังท่าน
- 3803 อาคารคิส เอ 2 ชั้น 5, 6 ห้องเลขที่ 501 – 2, 601 – 2 ถนนพระรามที่ 4 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110
- อีเมล์: info@takaraivfbkk.com
- T: +66 2 339 3878-79;
- F: +66 2339 3877
- M: +66 9 2293 9164, +66 9 6323 9826, +66 6 1646 3292, + 66 95 935 8423
- นัดหมาย เวลาเปิด-ปิด จันทร์ - อังคาร และ พฤหัสบดี - เสาร์ 09.00 - 17.00
- เวลาแพทย์ออกตรวจ
จันทร์ : 11.00 - 14.00 น.
อังคาร, พฤหัสบดี, ศุกร์ : 9.00 - 12.00 น.
เสาร์ : 09.00 - 17.00 น.
- เวลาให้ทำการนัดหมาย และปรึกษาทางโทรศัพท์:
จันทร์ - เสาร์ : 09.00 - 17.00 น.
วันหยุด : ทุกวันพุธและอาทิตย์