การแพทย์แผนไทย หมายถึง กระบวนการทางการแพทย์เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัดรักษา หรือปูองกันโรค หรือการส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพของมนุษย์ การผดุงครรภ์ การนวดไทย และให้ความหมายรวมถึง การเตรียมการผลิตยาแผนไทย และการประดิษฐ์อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ทั้งนี้โดยอาศัยความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมาโดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์แผนไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์ ได้แก่
1.1 เวชกรรมไทย หมายถึง การตรวจ การวินิจฉัยการบำบัด การรักษา การปูองกันโรค การส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพรวมถึงการผดุงครรภ์ไทย เภสัชกรรมไทย และการนวดไทย ทั้งนี้ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย
1.2 เภสัชกรรมไทย หมายถึง การกระทำในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยาการควบคุม และการประกันคุณภาพยา การปรุงและการจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์ และจัดจำหน่ายยาตามกฎหมายว่าด้วยยาทั้งนี้ด้วยกรมวิธีการแพทย์แผนไทย
1.3 ผดุงครรภ์ไทย หมายถึง การตรวจ การวินิจฉัยการบำบัด การรักษา การปูองกันโรค การส่งเสริมสุขภาพหญิงมีครรภ์ การปูองกันความผิดปกติในระยะตั้งครรภ์และระยะคลอด การทำคลอด การดูแลการส่งเสริม และการฟื้นฟูมารดาและทารกระยะหลังคลอด ทั้งนี้ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย
1.4 นวดไทย หมายถึง การตรวจ การวินิจฉัยการบำบัด การรักษา การปูองกันโรค การส่งเสริมสุขภาพโดยใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปะการนวดไทย ทั้งนี้ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย
การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม
หมายถึง การดูแลสุขภาพและการรักษาอาการเจ็บป่วยแบบองค์รวม ตั้งแต่การเกิด สาเหตุการณ์เกิดโรค การดูแลสุขภาพโดยรวม การบำบัดรักษาโรคต่างๆ การรับรู้วาระสุดท้ายของผู้ป่วย จนถึงสิ้นสุดของชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองแบบบูรณาการ โดยใช้หลัก
“ธรรมมานามัย” ได้แก่ กายานามัย จิตตานามัย และ ชีวิตานามัย ดังนี้
กายานามัย ประกอบด้วยยา อาหาร การออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย การรักษาด้วยยาสมุนไพรที่ถูกต้องกับโรคภัย อาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ซึ่งการดูแลในอดีตจะเป็นหมอพื้นบ้านเป็นหลัก และคนในครอบครัวจะช่วยกันดูแล จัดยาและอาหารให้แก่ผู้ป่วย และคอยดูแลขยับตัวบีบนวดให้มีการผ่อนคลาย เป็นต้น
จิตตานามัย คือ การดูแลจิตใจและความรู้สึกของผู้ป่วย การแพทย์แผนไทยให้ความสำคัญในด้านจิตใจของผู้ป่วยเป็นหลัก กล่าวคือ มุ่งหวังให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับอาการเจ็บป่วย การดูแลดุจเป็นญาติมิตรและการแวะเวียนกันมาเยี่ยมเยียนพูดคุยกับผู้ป่วยเสมอๆ จากบุคคลที่ผู้ป่วยรักและรู้จักคุ้นเคยนับถือ เมื่อถึงวาระสุดท้ายของผู้ป่วย การให้ความรัก ความเข้าใจ และพิธีกรรมตามความเชื่อ ความศรัทธาเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ป่วย เป็นการสร้างความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ป่วย
ชีวิตานามัย คือ การดำเนินชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี สถานที่พักอาศัยโปร่งสะอาด สภาพแวดล้อมรอบบ้านมีต้นไม้ มีบรรยากาศร่มรื่น มีอาหารสะอาด ซึ่งศาสตร์การแพทย์แผนไทยให้ความสำคัญเรื่องอาหารที่ไม่สมควรบริโภค คือ อาหารบูดเน่า อาหารดิบ ในปัจจุบันอาจรวมถึงอาหารที่ก่อให้เกิดโรค เช่น การตกค้างหรือปนเปื้อนสารเคมีต่างๆ ของหมักดอง และอาหารที่ปรุงไม่ได้มาตรฐานต่างๆ ซึ่งผู้ดูแลหรือญาติจะดูแลตามสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวนั้นๆ ขึ้นกับความเข้าใจของผู้ดูแล
ตรีธาตุ หมายถึง ระบบที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย ๓ ระบบ ประกอบด้วย วาตะ คือระบบการทำงานของธาตุลม ปิตตะ คือระบบการทำงานของธาตุไฟ เสมหะ คือระบบการทำงานของธาตุน้ำ ซึ่งอาจตรวจได้จากลักษณะอาการที่ปรากฏของผู้ป่วย และจากการจับชีพจร
จาก คู่มือการดูผู้ป่วยมะเร็งตับด้วยแพทย์แผนไทย