นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการของกระทรวงสาธารณสุข เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่จำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งระบบบริการและวิชาการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ได้พัฒนาการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบของ “คลินิก สูงวัย สมองดี ไม่มีล้ม” เพื่อให้บริการการส่งเสริมสุขภาพ รักษา ฟื้นฟู และป้องกันปัญหาด้านต่างๆแบบองค์รวม โดยมีสหวิชาชีพร่วมในการดูแล ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์อายุรกรรมประสาท พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และนักกายอุปกรณ์ เป็นต้น
สำหรับการให้บริการแบบ one stop service มีการคัดกรอง ตรวจประเมินในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ รวมทั้งคัดกรองความเสี่ยงในการหกล้มในรูปแบบของคลินิกป้องกันการหกล้ม (Falls Prevention Clinic) และให้ความรู้ด้านการออกกำลังกายในการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ
เพื่อตอบสนองนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพวัยสูงอายุแบบไร้รอยต่ออย่างครบวงจร รวมถึงวัยแรงงานในการเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพก่อนวัยผู้สูงอายุ และรองรับสังคมสูงวัยแบบเชิงรุก ทาง “คลินิก สูงวัย สมองดี ไม่มีล้ม” จึงได้ดำเนินการ “สูงวัย ใกล้ตัว” ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้พื้นฐานความเสี่ยงต่อภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย โดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ร่วมด้วยทีม สหวิชาชีพ อาทิเช่น พยาบาล และนักกายภาพบำบัด เป็นต้น เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู ภาวะหกล้ม รวมทั้งมีการวัดองค์ประกอบร่างกายแบบองค์รวม โดยเครื่อง Body composition เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ แก่ผู้รับบริการที่สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ
แพทย์หญิงภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่าสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติได้มีบูรณาการการดูแลผู้สูงอายุกับหน่วยงานในกรมการแพทย์ เช่น สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลเมตตาประชาลักษณ์ เพื่อส่งเสริมการจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุและการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุแบบเชิงรุก เช่น โครงการหน่วยแพทย์เฉพาะทางอาสา และออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ (Mobile Geriatric Unit Service) รวมทั้งมีการจัดอบรมปฏิบัติการเรื่อง “การป้องกันและการประเมินภาวะหกล้มในผู้สูงอายุ” และมีส่วนร่วมในการพัฒนาอบรมให้ความรู้ในรูปแบบออนไลน์ (E-lerning) เป็นต้น นอกจากนี้ทางคลินิกยังมีการพัฒนารูปแบบการให้บริการ (Model development) อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบในการให้บริการและเผยแพร่แก่หน่วยงานอื่นทั้งภายในและภายนอกกรมการแพทย์ต่อไปในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อให้ผู้มารับบริการหรือกลุ่มผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น