ไขมันในเลือดสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจ
ไขมันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย ไขมันเป็นส่วนประกอบของเซลล์ โดยเฉพาะผนังเซลล์ทุกชนิด เซลล์สมอง และเป็นแหล่งพลังงานสำรองโดยเก็บไว้ในรูปเซลล์ไขมัน ไขมันที่สูงผิดปกติมีความเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ไขมันในร่างกายได้มา 2 ทางคือไขมันที่ร่างกายสร้างขึ้นและไขมันที่ได้มาจากอาหาร
- ไขมันที่ได้มาจากอาหารมี 2 ประเภทคือ ไขมันจากพืชและไขมันจากสัตว์
- ไขมันจากสัตว์ ได้แก่ไขมันที่ได้จากอาหารจำพวก เนื้อสัตว์ มันสัตว์ หนังสัตว์ (หนังเป็ด หนังไก่) ไขมันสัตว์ (มันหมู มันวัว) ไข่แดง สมองและเครื่องในสัตว์ ซึ่งมี "คอเลสเตอรอล" เป็นส่วนประกอบสำคัญ
- ไขมันที่ได้จากพืชประกอบด้วย "ไตรกลีเซอไรด์" เป็นส่วนใหญ่ ได้จากอาหารประเภท กะทิ แป้ง ขนมหวานที่มีน้ำตาลมาก ไขมันกลุ่มนี้ ในปัจจุบันเชื่อว่ามีส่วนที่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเช่นกัน แต่ความสำคัญน้อยกว่า คอเลสเตอรอล
- อาหารไขมันต่างๆ ที่รับประทานเข้าไปไม่ว่าจะอยู่ในรูปใด เมื่อลงไปถึง ลำไส้เล็กจะถูกย่อยด้วยน้ำดี และน้ำย่อยจากตับอ่อน เป็นกรดไขมันและสารประกอบไขมันขนาดเล็กๆ จากนั้นถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กเข้าสู่ร่างกาย เข้าสู่กระแสโลหิต และเข้าไปย่อยสลาย และสร้างขึ้นใหม่ที่ตับ
- ในร่างกาย ไขมันต่างๆเหล่านี้จับตัวอยู่ในรูปสารประกอบต่างๆ คือ คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ จับกับสารประกอบ ฟอสโฟไลปิด เป็นไขมันไลโปโปรตีน 2-3 ประเภท คือชนิดความแน่นสูง ชนิดความหนาแน่นปานกลาง และชนิดความหนาแน่นต่ำ ( HDL, IDL ,LDL)
- ไขมันในเลือดที่เราทำการตรวจเลือดกันอยู่ ประมาณ 2/3 หรือ 60-70% มาจากไขมันที่เราสร้างขึ้น
- ไขมันไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL) เป็นไขมันที่ไม่ดี เข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อของหลอดเลือด ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็งตัว ที่เรียกว่า "Atherosclerosis" ไขมันไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำมีคอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบสำคัญ และถ้าในร่างกายมีไขมันชนิดนี้มาก เมื่อผนังของหลอดเลือดแดงที่มีแผลหรือผิดปกติ ไขมันชนิดนี้จะแทรกเข้าไปใต้ชั้นผิวในของหลอดเลือด กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยา ดึงเอาเม็ดเลือดขาว เซลล์กล้ามเนื้อเรียบ ไฟบรินและสารอื่น ๆ ทำให้ผนังหลอดเลือดเกิดมีแผลเป็นหนา ตัวนูนขึ้น (Plaque) และถ้าเป็นซ้ำ ๆ กันและเกิดหลาย ๆ ตำแหน่งจะเกิดหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) ปริกริยานี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตันได้ โดยเฉพาะ ที่หลอดเลือดหัวใจ
- ไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDL) เป็นไขมันที่ดี ทำหน้าที่กำจัด คอเลสเตอรอลออก ไปจากเนื้อเยื่อและหลอดเลือดต่างๆ
เมื่อใดแพทย์จะรักษาท่าน
ถ้าท่านมีไขมันคอเลสเตอรอลสูง เช่น มากกว่า 240 มก.% หรือค่ารวมของคอเลสเตอรอลในไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ สูงมากกว่าปกติ แพทย์จะตรวจดูว่ามีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าท่านมีปัจจัยเสี่ยงได้แก่ มีโรคหลอดเลือดในที่อื่นๆ สูบบุหรี่ เบาหวานความดันโลหิตสูง มีประวัติ การเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในครอบครัว หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน สูงอายุ ถือว่าท่านมีอัตราเสี่ยงสูง ท่านหรือผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการรักษาอย่างเต็มที่
- ไขมันไตรกลีเซอไรด์มีความเกี่ยวพันกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่าไขมันคอเลสเตอรอล แต่ถ้าสูงมากๆ ก็ต้องรักษา
- ถ้าท่านเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอยุ่แล้ว ต้องรักษาทั้งไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่สูง
วิธีการรักษา
สำหรับไขมันในเลือดสูง เช่น คอเลสเตอรอลสูงมากกว่า 240 มก.% และไขมันไลโปโปรตีน ชนิด LDLสูงมากกว่า 160-180 มก.% รวมทั้งมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
- ผู้ป่วยจะต้องควบคุมอาหารเป็นเวลาประมาณ1-3 เดือน
- หลัง 1-3 เดือน เจาะไขมันในเลือดซ้ำ ถ้าไขมันไม่ดี (ไขมันไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอล) ยังสูงอยู่ การใช้ยาลดไขมันในเลือดอาจจำเป็น ซึ่งปัจจุบันมียาลดไขมันในเลือดในท้องตลาดมีอยู่ 4 กลุ่ม คือ ไฟบริกแอซิด สเตติน เรซิน และ ezetimibe ยาในกลุ่มสเตตินมีผลการทดลองยืนยันชัดเจนว่าสามารถลดอัตราการเสีนชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ยาลดไขมันแต่ละกลุ่มมีที่ใช้ และ ข้อดีข้อเสียต่างกัน ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา
- พยายามให้ค่าไขมันคอเลสเตอรอลรวมต่ำกว่า 160 มก.% และ ไขมันไม่ดี (ไขมันไลโป โปรตีนคอเลสเตอรอล) ต่ำกว่า 130 มก.% หรือลดลง 30-50% จากค่าเดิม
- การควบคุมอาหารและการใช้ยาต้องทำควบคู่กันตลอดไป
หลักการควบคุมอาหาร
อาหารควรมีไขมันน้อยกว่า 30% มีคอเลสเตอรอลอยู่ระหว่าง 200-300 มก.%
ถ้าคอเลสเตอรอลสูง
- หลีกเลี่ยงอาหารจำพวก ไข่แดง ไขมันสัตว์ (มันหมู มันวัว) เครื่องในสัตว์ (ตับ ไต หัวใจ ปอด ลำใส้และสมอง) น้ำมันต่างๆ จากสัตว์ เนื้อสัตว์ที่มีสีแดง (เนื้อวัว เนื้อหมู) หนังเป็ดหนังไก่ ไข่แดง ปลาหมึกตัวใหญ่ หอยนางรม เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารทอด ให้เปลี่ยนเป็น ปิ้ง ย่าง นึ่ง อบ ต้ม แทน
- น้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารให้ใช้พวกน้ำมันที่มีกรดไขม้นชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันถั่ว น้ำมัน ข้าว โพด
- ผักสีเขียวรับประทานได้ไม่จำกัด
- ลดน้ำหนัก
ถ้าไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง
- หลีกเลี่ยงอาหารจำพวก กะทิ ขนมหวานที่มีน้ำตาล
- ออกกำลังกาย จะ ทำให้ไตรกลีเซอไรด์ลดลง
- ลดดื่ม สุรา เบียร์
- ลดน้ำหนัก
สิ่งอื่นๆ ที่ท่านควรรู้
- การเจาะเลือดหาระดับไขมันรวมในเลือด เพื่อตรวจค่าไขมันไตรกลีเซอไรด์ร่วมด้วย ควรงด อาหารอย่างน้อย 10-12 ชม.(ไม่ใช่ 6 ซม.) แต่น้ำเปล่าสามารถดื่มได้ แต่ถ้าต้องการตรวจเฉพาะ ไขมันไม่ดี (ไขมันไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอล) ไม่ต้องงดอาหาร
- ยาลดไขมันในเลือดไม่ช่วยลดไขมันหน้าท้องไม่ช่วยลดน้ำหนักเพราะไขมันหน้าท้อง เป็นเซลล์ไขมันที่ร่างกายสะสม ซึ่งเป็นคนละตัวกับไขมันในเลือด
- ถ้าไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว ระดับไขมันคอเลสเตอรรอลที่ต่ำกว่า 240 มก.% และไขมันไม่ดี (ไขมันไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอล) ต่ำกว่า 130 มก. % ก็ถือว่ายอมรับได้
- น้ำมันปลามีฤทธิ์ในการลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ และมีฤทธิ์ในการเพิ่มไขมันไลโปปรตีน ชนิด ความหนาแน่นสูง แต่ไม่ลดไขมันไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL)