ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ภาวะน้ำท่วมสมอง (ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง)

ภาวะน้ำท่วมสมอง (ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง)

ภาวะน้ำท่วมสมอง
 
ภาวะน้ำท่วมสมองหรือเรียกอีกอย่างว่า ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง ตรงกับชื่อที่เป็นทางการในภาแพทย์คือ Normal pressure Hydrocephalus (NPH) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และรักษาได้ง่าย ได้ผลค่อนข้างดี แต่มีข้อแม้ว่าต้องได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการวินิจฉัยที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรก จะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมและทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดพ้นจากความพิการอย่างถาวรได้ในอนาคต ประมาณกันว่าผู้สูงอายุที่ถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพังในสถานดูแลผู้สูงอายุ หรือที่อยู่กับพี่เลี้ยงตามบ้านประมาณอย่างน้อย 15-20% ป่วยด้วยโรคนี้โดยไม่ได้รับการรักษา ซึ่งมักเกิดจากความเข้าใจผิดว่ารักษาไม่ได้เพราะเป็นโรคคนแก่ จำนวนผู้ป่วยในความเป็นจริงสำหรับประเทศไทย น่าจะสูงกว่านี้มาก เพราะผู้ป่วยเหล่านี้มีมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน ที่มีการแยกตัวของลูกหลานและปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่กันตามลำพังหรือถูกทิ้งไว้ในสถานพยาบาลหรือ Nursing Home มากขึ้นเรื่อยๆ
 
โพรงสมองคืออะไร
 
คนทั่วไปมักทราบแต่เพียงว่า ภายในกะโหลกศีรษะจะมีแต่เนื้อสมองบรรจุอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้วเนื้อสมองนี้มิได้เป็นเนื้อตันๆ หากแต่ตรงกลางของเนื้อสมองทั้งสองข้างนั้นมีโพรงที่ประกอบด้วยน้ำบรรจุอยู่ โพรงดังกล่าวนี้มี๙อในทางการแพทย์ว่า “โพรงสมอง” หรือ “Ventricle” และภายในโพรงสมองนี้เองจะมีของเหลวที่มีลักษณะใสเหมือนกับน้ำเปล่าๆ บรรจุอยู่เต็ม ของเหลวดังกล่าวเรียกว่า “น้ำไขสันหลัง” หรือ “Cerebrospinal fuid, CSF”
 
น้ำไขสันหลัง หรือ น้ำในโพรงสมอง
 
ท่านที่อ่านข้อความข้างต้นอาจจะแปลกใจว่าทำไมเมื่อพูดถึงของเหลวในโพรงสมอง แทนที่จะเรียกของเหลวดังกล่าวว่า “น้ำในโพรงสมอง” กลับไปเรียกว่า “น้ำไขสันหลัง” บางท่านอาจนึกไปว่าคงมีการพิมพ์ผิด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองอย่างนี้สามารถใช้เรียกแทนกันได้ แต่ในทางการแพทย์นิยมใช้คำว่า “น้ำไขสันหลัง” แทน “น้ำในโพรงสมอง” เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในทางกายวิภาคแล้ว สมองกับไขสันหลังพัฒนามาจากเซลล์ต้นกำเนิดเดียวกัน ไขสันหลังก็เปรียบเสมือนส่วนของสมองที่ยื่นออกมานอกกะโหลกศีรษะ ลงไปตามแนวกระดูกสันหลังทำให้โพรงสมองต้องมีส่วนที่ยื่นตามลงมากับไขสันหลังเช่นกัน น้ำที่อยู่ในโพรงสมองจึงสามารถไหลเวียนออกมานอกสมองลงสู่ช่องไขสันหลังได้เช่นกัน น้ำที่อยู่ในโพรงสมองจึงเป็นน้ำเดียวกันกับที่อยู่ในช่องไขสันหลังนั่นเอง
 
อาการของน้ำท่วมสมอง
 
อาการแสดงของน้ำท่วมสมองสามารถแยกออกได้เป็นสองกรณี คือ กรณีแรกในรายที่เป็นแบบเฉียบพลัน กรณีเช่นนี้ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียนและหากน้ำท่วมมากอาจหมดสติและเสียชีวิตได้ ส่วนกรณีที่สองเป็นกรณีเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเหมือนในกลุ่มแรกเลย หรือหากจะมีก็มักเป้นการปวดศีรษะแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นๆหายๆ ร่วมกับอาการตามัวมองไม่ชัด สิ่งที่เหมือนกันในทั้งสองกลุ่ม คือ น้ำที่คั่งในโพรงสมองจะส่งผลให้ความดันภายในสมองสูงขึ้นอย่างมาก แต่มีผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็นกรณีที่พัฒนามาจากกรณีที่สอง คือ มีน้ำท่วมสมองเรื้อรังแต่เกิดการปรับตัวของสมองได้ทำให้ความดันในโพรงสมองไม่สูงอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อวัดความดันในโพรงสมอง ค่าที่ได้จึงมักใกล้เคียงคนปกติ ในทางการแพทย์จึงเรียกกลุ่มนี้ว่า “น้ำท่วมสมองแบบความดันไม่สูง” หรือ “Normal pressure hydrocephalus” นั่นเอง
 
อาการแสดงของน้ำท่วมสมอง แบบความดันไม่สูง
 
ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มักมาด้วยอาการแสดงแบบใดแบบหนึ่งหรือทั้งสามแบบดังต่อไปนี่
 
  1. เดินทรงตัวไม่ได้ หรือ เดินเซผิดปกติ (Gait Apraxia) เช่น นั่งแล้วยืนไม่ถนัด ต้องหาที่เกาะยึดหรือก้าวเดินต่อไป แต่เมื่อเดินไปแล้วมักจะก้าวสั้นๆ ช้าๆ เพราะกลัวล้ม ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นผู้ป่วยเดินขาถ่างเพื่อช่วยการทรงตัว การเดินมักเป็นไปอย่างช้าๆ และหากมีอะไรมาขัดจังหวะการเดินก็จะทรงตัวลำบากขึ้นไปอีกจนต้องหยุดเดินและเริ่มพยายามเดินต่อไปอีก การเดินที่ผิดปกติจะเห็นได้ชัดขึ้น หากเราให้ผู้ป่วยกลับหลังหันเพื่อเปลี่ยนทิศทางการเดิน เราจะพบว่าผู้ป่วยต้องใช้ขาข้างใดข้างหนึ่งเป็นจุดหมุนเพื่อเปลี่ยนทิศคล้ายกับการใช้ “วงเวียน” เพื่อวาดรูปทรงกลมลักษณะเด่นอีกอย่างคือ การเดินจะคล้ายๆ กับมีแม่เหล็กดูดเท้าผู้ป่วยไว้ให้ติดกับพื้นตลอดเวลาทำให้ยกเท้าก้าวเดินได้ลำบากเหมือนถูกดูดติดกับพื้นทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยมากเวลาเดินทั้งๆ ที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความแข็งแรงหรือการอ่อนแรงกล้ามเนื้อ ท่าเดินจะคล้ายกับโรคสันนิบาต (โรคพาร์คินซัน) เพียงแต่ผู้ป่วยโรคนี้จะไม่มีอาการเกร็งหรือสั่น(Rigidity/Tremor) ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ในระยะเริ่มแรกด้วยอาการเดินลำบากเพียงอย่างเดียวเป็นกลุ่มที่จะได้ผลดีที่สุดจาการรักษา
  2. ความจำเสื่อม(Dementia) อาจเริ่มด้วยการลืมเหตุการณ์ใกล้ๆตัว เช่นจำไม่ได้ว่าทานอะไรไปเมื่อเช้า แต่ความทรงจำระยะยาวในอดีต เช่น จำเพื่อน จำพี่น้อง มักไม่ค่อยมีปัญหา (ยกเว้นระยะท้าย) ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างกับโรคสมองเสื่อมแบบอื่นเช่น โรคอัลไซเมอร์
  3. อาการกลั่นปัสสาวะลำบาก(Urinary Incontinence) ผู้ป่วยต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีเมื่อรู้สึกปวดเบา ในรายที่เป็นมากจะปัสสาวะราดโดยไม่ทันได้รู้ตัวก่อน ซึ่งญาติมักแก้ปัญหาด้วยการใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ซึ่งหากทิ้งไว้มักลงเอยด้วยการกลั้นอุจจาระไม่ได้ด้วยเช่นกัน
 
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ไม่จำเป็นต้องมีอาการแสดงครบทั้งสามอย่าง ในทางตรงกันข้าม ผู้ป่วยมักเริ่มด้วยอาการเดินผิดปกติมาก่อนสักระยะซึ่งอาจกินเวลานานเป็นปีก็ได้ แล้วจึงตามมาด้วย ความทรงจำเสื่อมหรือการกลั่นปัสสาวะลำบาก ในที่สุด
 
หากพิจารณาจากอาการทั้งสามอย่างจะเห็นว่า แยกได้ยากจากความผิดปกติธรรมดาของผู้สูงอายุที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคนี้ เช่นญาติมักจะเข้าใจว่าผู้สูงอายุของเราก็เป็นธรรมดา ที่เมื่อแก่แล้วก็เดินเหินลำบาก เป็นธรรมดาที่หูรูดก็หย่อนยานเมื่อแก่ตัวลงจึงมีอาการปัสสาวะเล็ด และเป็นธรรมดาที่เมื่อแก่สมองย่อมฝ่อลงทำให้ลืมโน่นลืมนี้ได้ง่าย จึงทำให้มีการปล่อยปละละเลยทิ้งไว้จนผู้ป่วยสูญเสียโอกาสที่จะรักษาให้ดีขึ้นได้ และท้ายที่สุดจะลงเอยด้วยความพิการและต้องนอนอยู่แต่บนเตียง ซึ่งจะตามมาด้วยแผลกดทับและการติดเชื้อ ที่แย่ไปกว่านั้นคือช่วงท้ายสุดของชีวิตผู้ป่วยจะไม่สามารถจำญาติได้ เพราะความทรงจำเสื่อมลงอย่างมากจากภาวะน้ำท่วมสมอง
 
เมื่อไรจึงควรสงสัยว่าญาติของเราป่วยด้วยโรคน้ำท่วมสมอง NPH
 
การวินิจฉัยโรคนี้วิธีที่ดีที่สุดคือ การสงสัยว่าผู้ป่วยที่สูงอายุและมีอาการอย่างน้อยหนึ่งในสามดังกล่าวข้างต้น อาจป่วยด้วยโรคนี้และมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ แพทย์สาขาที่เหมาะสมที่สุดที่จะประเมินผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรเป็นแพทย์ทางระบบประสาทโดยเฉพาะ แพทย์จะทำการตรวจแยกโรคที่เกี่ยวข้องออกไปด้วยเสมอ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคสันนิบาตหรือโรคพาร์คินซัน โรคสมองเสื่อมจากโรคเบาหวานหรือเส้นเลือดสมองตีบ โรคไขสันหลัง โรคกระเพาะ ปัสสาวะผิดปกติ เป็นต้น หากแพทย์แยกโรคเหล่านี้ออกไปได้
 
(ในบางกรณีก็ไม่สามารถแยกโรคเหล่านี้ได้) และยังสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคน้ำท่วมสมองจริง ก็อาจทำการส่งตรวจเพิ่มเติมเช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) การเอ็กซเรย์แม่เหล็ก (MRI) การเจาะหลังเพื่อระบายน้ำ หรือทดสอบด้วยการฉีดน้ำเข้าไปในโพรงไขสันหลัง เป็นต้น
 
น้ำท่วมสมอง...รักษาได้
 
ความสำคัญอันหนึ่งของการวินิจฉัยโรคนี้ให้ได้คือ “โรคนี้เป็นโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมแบบที่รักษาหรือป้องกันได้” โดยทั่วไปแล้วเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเราหรือญาติของเราป่วยด้วยโรคภาวะสมองเสื่อม จะถือว่าเป็นข่าวร้ายมากสำหรับทั้งผู้ป่วยและญาติ เพราะในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีการรักษาใดที่มีประสิทธิภาพดีพอที่จะทำให้การเสื่อมของสมองหายไป หรือหยุดยั้งการดำเนินโรคที่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้เลย อย่างดีก็แค่ชะลอออกไปให้นานขึ้น แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการจำใครไม่ได้ ช่วยตัวเองไม่ได้ และเสียชีวิตอย่างเดียวดาย แต่สำหรับภาวะสมองเสื่อม (ซึ่งรวมถึงการเดินที่ลำบาก) อันเกิดจากน้ำท่วมสมองนี้ เป็นภาวะเดียวที่สามารถรักษาหรือป้องกันการแย่ลงได้และผู้ป่วยมีโอกาสสูงที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าสภาพที่เป็นอยู่ การรักษานี้สำคัญมากคือ “การวินิจฉัยให้ได้ และวินิจฉัยให้เร็วพอ” ซึ่งเมื่อแพทย์แน่ใจ (หรือสงสัยและเห็นว่ามีแนวโน้มสูง) ว่าผู้ป่วยน่าจะมีภาวะน้ำท่วมสมอง ก็จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในสมองซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ง่ายใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง ความเสี่ยงต่ำ แต่ได้ผลค่อนข้างดี หรืออย่างเลวร้ายคืออาจไม่ดีขึ้นมากนักแต่ก็สามารถชะลอการเสื่อมออกไปได้ระยะเวลานาน เพื่อคงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไว้ให้นานขึ้น

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด