ได้แก่
1) สารประกอบซัลไฟต์ เช่น แคลเซียมซัลไฟต์ โซเดียมซัลไฟต์ โพแทสเซียมซัลไฟต์
2) สารประกอบไบซัลไฟต์ เช่น โพแทสเซียมไบซัลไฟต์ ซึ่งใช้ป้องกันการบูดเสียของอาหารได้ด้วยและ
3) สารประกอบเมตาไบซัลไฟต์ เช่น โซเดียมเมตาไบซัลไฟต์
สารฟอกสีเหล่านี้ เป็นสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้เป็นวัตถุเจือปนในอาหารได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่กำหนดตามชนิดของอาหาร ถ้าใช้เกินปริมาณที่กำหนดจะเกิดอันตรายได้ เช่น โซเดียมซัลไฟต์ถ้าใช้ในปริมาณที่เกินกำหนด จะมีสารกำมะถันตกค้างในอาหารในปริมาณสูงและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบ หืด อ่อนเพลีย และผู้ที่ออกกำลังมาก
ส่วนสารฟอกขาวที่เป็นอันตราย กระทรวงสาธารณสุขไม่อนุญาตให้ใช้เจือปนในอาหาร คือ สารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์(Sodium hydrosulfite) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ผงซักมุ้ง ชื่ออื่นๆ ได้แก่ Dithionous acid, disodium salt; Sodium dithionite hydrate; Sodium sulfoxylate; Reductone; Sulfoxylate; Virtex L; Hydrolin; D-Ox; Vatrolite; มีสูตรโมเลกุล : Na2O4S2 สารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์เป็นสารเคมีที่เป็น พิษ ลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว มีกลิ่นฉุนกำมะถันอ่อนๆ ละลายได้ในน้ำ ไม่ละลายในแอลกอฮอล์ เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการฟอกสี เช่น กระดาษ เส้นใยไหม แห อวน และเครื่องหนัง หากสัมผัสผิวหนังจะทำให้ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดง ถ้าบริโภคเข้าไปจะทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสอาหารเช่น ปาก ลำคอและกระเพาะอาหาร หากกินเข้าไปมากเกิน 30 กรัม จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง เวียนศีรษะ อาเจียน อุจจาระร่วง ความดันโลหิตลดต่ำลง แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หลอดลมหดตัว ทำให้หอบหืด ในผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วอาจช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้
หากสงสัยว่า อาหารบางชนิด เช่น ถั่วงอก ผ้าขี้ริ้ว ตีนไก่ กระท้อนดอง ทุเรียนกวน ยอดมะพร้าวหรืออื่น ๆ มีสารฟอกขาว โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ ปนอยู่หรือไม่ สามารถใช้ชุดทดสอบโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์(สารฟอกขาว)ในอาหาร ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อทดสอบ น้ำยาที่ใช้ทดสอบโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ คือ สารละลายคอปเปอร์ซัลเฟต (CuSO4.5H2O) นั่นเอง ชุดทดสอบนี้สามารถตรวจสอบหาสารฟอกขาวที่เจือปนในอาหารทั้งที่เป็นของแข็งและของเหลว ซึ่งทำการทดสอบตามวิธีการง่าย ๆ ที่แนะนำไว้ในชุดทดสอบ