ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

รู้ทันสารปนเปื้อนในอาหาร - ฟอร์มาลิน (Formalin)

ฟอร์มาลิน (Formalin) หรือสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) มีสูตรเคมีว่า CH2O คนทั่วไปรู้จักกันว่าเป็นสารที่ใช้สำหรับดองศพเพื่อไม่ให้ศพเน่าเปื่อย ใช้ฆ่าเชื้อโรค ฆ่าเชื้อรา และทำความสะอาดห้องคนป่วย ลักษณะทั่วไปของฟอร์มาลินเป็นสารละลายใส ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว เป็นสารรีดิวซ์รุนแรง เมื่อสัมผัสกับอากาศจะถูกออกซิไดส์ช้า ๆ ไปเป็นกรดฟอร์มิกซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน มีค่า pH ประมาณ 2.8-4.0 รวมตัวได้กับน้ำและแอลกอฮอล์ ชื่ออื่น ๆ ของฟอร์มาลิน คือ Methanal; Formic aldehyde; Methaldehyde

       ฟอร์มาลินเป็นสารที่นิยมใช้กันในหลายด้าน ในด้านการแพทย์ ใช้ในการเก็บรักษาตัวอย่างทางกายวิภาค (anatomical specimens) เพื่อคงสภาพของเนื้อเยื่อไม่ให้เน่าเสีย ใช้ฆ่าเชื้อโรคในเครื่องมือต่าง ๆ เช่น เครื่องฟอกเลือด (เครื่องล้างไต) เครื่องมือเครื่องใช้ในการเตรียมและสังเคราะห์ผลิตภัณฑ์ยา วัคซีน ไอระเหยของฟอร์มาดีไฮด์สามารถนำมาอบห้องฆ่าเชื้อโรคตามโรงพยาบาล  ในการทำเครื่องสำอางจะใช้สารฟอร์มาลินในยาสีฟัน ยาบ้วนปาก สบู่ ครีมโกนหนวดเพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยใช้เป็นส่วนประกอบในความเข้มข้นที่ต่ำมาก ใช้ในน้ำยาดับกลิ่นตัว ใช้เป็นส่วนประกอบของแชมพูสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น  ในด้านอุตสาหกรรม ฟอร์มาลินมีสมบัติทำให้ผ้าและกระดาษแข็งเกาะกัน จึงนำมาใช้ในการทำบอร์ดหรือไม้อัด อุตสาหกรรมสิ่งทอใช้ผลิตสารที่ใช้เปลี่ยนแปลงลักษณะน้ำหนักและความแข็งแรงของไหมสังเคราะห์ รักษาผ้าไม่ให้ยับหรือย่น ในอุตสาหกรรมกระดาษ ใช้เพื่อให้กระดาษลื่นและกันน้ำได้  เป็นต้น ส่วนในด้านการเกษตรใช้สารฟอร์มาลินทำลายและป้องกันจุลินทรีย์ที่ทำให้ต้นไม้เป็นโรค ใช้เก็บรักษาและป้องกันผลิตผลเกษตรจากการเสียหายระหว่างการขนส่ง  ใช้ฆ่าเชื้อราในดิน ใช้เป็นส่วนผสมของสารละลายที่ใช้เคลือบผัก ผลไม้จำพวกส้มระหว่างการเก็บเกี่ยวเพื่อชะลอการเน่าเสีย  เป็นต้น  พ่อค้า แม่ค้า นิยมนำฟอร์มาลินมาแช่ผัก เนื้อสัตว์ และอาหารทะเลสด เพื่อทำให้อาหารต่างๆ สดอยู่ได้นานไม่เน่าเสียเร็ว แต่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค
 
     ในกรณีที่ร่างกายได้รับฟอร์มาลินในปริมาณต่ำ ร่างกายสามารถกำจัดได้ แต่หากได้รับในปริมาณที่สูงขึ้นถึง 30 – 60 มิลลิลิตรหรือมีความเข้มข้นมากขึ้น  ฟอร์มาลินจะเปลี่ยนรูปเป็นกรดฟอร์มิค (Formic acid) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายการทำลายของเซลล์ในร่างกาย ทำให้เซลล์ตาย ฟอร์มาลินมีพิษต่อระบบต่างๆ เกือบทั่วทั้งร่างกาย  เช่น ในระบบทางเดินหายใจ หากได้รับไอระเหยของฟอร์มัลดีไฮด์ แม้จะปริมาณต่ำจะทำให้หลอดลมบวม แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ถ้าสูดดมเข้าไปมาก ๆ จะทำให้น้ำท่วมปอด จนหายใจไม่ออก แน่นหน้าอกและตายในที่สุด   อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นหลายชั่วโมงหลังจากได้รับสารโดยไม่มีอาการเจ็บปวด เลยก็ได้ หากได้รับปริมาณน้อยเป็นเวลานาน จะมีอาการไอและหายใจติดขัดเพราะหลอดลมอักเสบ เป็นต้น ในระบบทางเดินอาหาร  เมื่อรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินในปริมาณมากถึง 60 -90 มิลลิลิตร จะทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หากได้รับสารนี้โดยการบริโภค จะเกิดอาการพิษโดยเฉียบพลัน ซึ่งอาการมีตั้งแต่ปวดท้องอย่างรุนแรง  อาเจียน อุจจาระร่วง  ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ  ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว  นอกจากนี้เมื่อสัมผัสจะเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน  เป็นผื่นแดงเหมือนลมพิษ จนถึงผิวหนังไหม้เปลี่ยนเป็นสีขาวได้
     ดังนั้นฟอร์มาลินหรือสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหารตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข แหล่งอาหารที่มักพบฟอร์มาลินปนเปื้อน ได้แก่ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักสดและผลไม้ ถ้าผู้บริโภคสงสัยว่าอาหารที่บริโภคนั้นมีฟอร์มาลินไม่ควรซื้อมารับประทาน  เพราะฟอร์มาลินเป็นสารที่มีกลิ่นฉุนมากเมื่อนำไปใส่ในอาหารดังกล่าว ผู้บริโภคจะได้กลิ่นฉุนแน่นอน ดังนั้นก่อนการรับประทานหรือประกอบอาหารควร ล้างให้สะอาดเสียก่อนเพื่อความมั่นใจและรับประทานได้อย่างปลอดภัย
 
 
 
     วิธีการตรวจสอบว่าอาหารมีฟอร์มาลินปนเปื้อนอยู่หรือไม่ อาจใช้วิธีสังเกตง่ายๆ ได้ดังนี้ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ให้สังเกตว่า หากถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่ก็ไม่ควรซื้อ ถ้าเป็นผัก ผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง เขียว กรอบหรือสดผิดปกติ และถ้าเป็นปลา หรือกุ้งเนื้อแข็งแต่บางส่วน เปื่อยยุ่ย ไม่ควรซื้อมาประกอบอาหารเนื่องจากอาจจะได้รับอันตรายจากฟอร์มาลินที่ปน เปื้อนมาได้ ส่วนผักหรือผลไม้ ให้ดมที่ใบ หรือหักก้านดม หรือดมที่ผล ว่ามีกลิ่นแสบจมูกหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่ามีฟอร์มาลินปนเปื้อน
      สำหรับการเลือกอาหารให้ปลอดภัยจากอันตรายของฟอร์มาลิน ควรเลือกซื้อดังนี้ ถ้าเป็นเนื้อที่ไม่แช่ฟอร์มาลิน หากถูกแสงแดด หรือลม เป็นเวลานานๆ เนื้อจะมีลักษณะแห้ง และไม่เต่งตึงอยู่เหมือนเดิม ควรเลือกซื้อผักอนามัย หรือผักกางมุ้ง เลือกผักที่ไม่มีลักษณะแข็ง หรือกรอบจนเกินไป การเลือกอาหารทะเลควรเลือกอาหารที่สด เนื้อไม่เปื่อยยุ่ย สีไม่ผิดปกติ และอาหารทะเลต้องวางจำหน่ายในน้ำแข็งตลอดเวลา ที่สำคัญต้องล้างอาหารให้สะอาดก่อนการปรุงเสมอ
      หากสงสัยและต้องการตรวจสอบว่าในอาหารมีฟอร์มาลินปนเปื้อนอยู่หรือไม่ ก็ทำการตรวจสอบได้โดยใช้ชุดทดสอบฟอร์มาลินในอาหาร ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งภายในจะมีสารเคมีสำหรับตรวจสอบ 3 ชนิดและหลอดสำหรับใช้บรรจุของเหลวที่แช่อาหาร หรือผักผลไม้ที่จะตรวจสอบ
 
   
 
     สารเคมีที่ใช้เป็นน้ำยาสำหรับตรวจสอบ อาจใช้ น้ำยาฟอร์มาลิน 1เป็นสารละลาย Phynylhydrazine hydrochloride (C6H9ClN2) น้ำยาฟอร์มาลิน 2 ใช้สารละลาย Potassium  hexacyanoferrate (K4Fe(CN6)) และน้ำยาฟอร์มาลิน 3 เป็นสารละลายกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้น (HCl conc.) โดยทำการตรวจสอบตามคำแนะนำในชุดทดสอบ
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด