การรักษา โรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ มีทางเลือกดังนี้
- การใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวกซีแพ๊พ (CPAP)
- การใช้ฟันยาง
- การผ่าตัด
หากคุณมีโรคนี้ผู้ป่วยแต่ละรายมีความรุนแรง และอาการแตกต่างกันได้มาก การรักษาในแต่ละรายจึงมีความเหมาะสมที่แตกต่างไม่เหมือนกัน
- เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก หรือ ซีแพ็พ (CPAP)
เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในการ เปิดขยาย และถ่างทางเดินหายใจส่วนต้น ไม่ให้ ตีบแคบขณะที่เรานอนหลับ โดยตัวเครื่องจะ เป่าลมผ่านท่อสายยาง ไปสู่จมูกผู้ป่วย ผ่านจากหน้ากาก (ดังรูป)
เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละราย จะต้องการแรงดันที่แตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ใน ห้องปฏิบัติการจะค่อยๆ ปรับแรงดันที่เหมาะสมจนไม่มี อาการกรน หรือหยุดหายใจ ให้แต่ละคน ปัจจุบันเครื่องและ หน้ากากนี้มีหลายรูปแบบและหลายบริษัท เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน จึงสามารถลอง เลือกใช้เครื่องหรือหน้ากาก ที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด
ปัญหาที่อาจพบได้บ่อยขณะที่ใช้เครื่องมีดังนี้
- คัดจมูก
- ปากแห้ง คอแห้ง
- ลมรั่วจากหน้ากาก
- ลมแรงเกินไป
เมื่อเริ่มต้นใช้เครื่องหากพบปัญหาเหล่านี้ ผู้ป่วย ไม่ควรละทิ้งเครื่อง ควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยแก้ไข เพราะการใส่เครื่องในช่วงแรกอาจยังไม่คุ้นเคย ต้องอาศัยการปรับตัวให้ชินกับเครื่องระยะหนึ่ง แล้วจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อ หลับได้ดีขึ้น ไม่มีนอนกรนหรือ หยุดหายใจ แล้ว
การรักษาด้วยเครื่องซีแพ็พจึงถือเป็นมาตรฐานการรักษาโรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ เนื่องมีประสิทธิภาพสูงในผู้ป่วยเกือบทุกราย แต่จะเป็นผลสำเร็จในระยะยาวหรือไม่ขึ้นอยู่กับการยอมรับของผู้ป่วย
- การใส่ฟันยาง หรือ Oral Appliance
ผู้ป่วยบางราย อาจรักษาได้ผลดี ด้วยการใส่ฟันยาง การใส่ฟันยางนี้ ทันตแพทย์จะเป็นผู้ตรวจ และประดิษฐ์ ฟันยางให้ผู้ป่วยแต่ละคน จะได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีระดับโรค เล็กน้อย และ ปานกลาง แต่ผู้ป่วยที่เป็นระดับโรครุนแรงมักไม่ได้ผลเท่าที่ควร ฟันยางนี้ จะช่วยเปิดทางเดินหายใจส่วนต้นให้กว้างขึ้นโดยการ ยื่นขากรรไกรล่างและลิ้นมาทางด้านหน้า ปัญหาที่พบได้จากการใส่ฟันยางนี้ เช่น ปวดขากรรไกร การสบฟันเปลี่ยนไป น้ำลายไหลมาก
- การผ่าตัด
เพื่อรักษาโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ ได้ผลในบางราย เช่น การผ่าตัด ต่อมทอนซิลและอะดินอย์ในเด็ก จะสามารถช่วยเด็กได้มาก ถือเป็นมาตรฐานการรักษาในเด็ก แต่ในผู้ใหญ่ควรพิจารณาเป็นรายๆไป ที่เหมาะสม
การผ่าตัดมีอะไรบ้าง
- การผ่าตัดจมูก เช่น แก้ไขจมูกคด หรือ จี้ เยื่อบุโพรงจมูกที่บวม จะช่วยลดอาการคัดจมูกหรือกรนได้บ้าง แต่มักไม่ช่วยทำให้โรคหายได้ จึงมักเป็นการรักษาเสริมกับการรักษาอื่น
- การผ่าตัดในระดับลิ้นไก่ เพดานอ่อน ( เช่น Uvulopharyngopalatoplasty,UPPP) ได้ผลดีในครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย จึงควรปรึกษาแพทย์ทาง หู คอ จมูก ก่อนว่า ผู้ป่วยรายนั้นเหมาะสมที่จะได้รับการผ่าตัดหรือไม่ ผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดนี้ เช่น พูดไม่ชัด สำลักน้ำขึ้นจมูก เป็นต้น
- การผ่าตัดอื่นๆ เช่น การผ่าตัดระดับโคนลิ้น
- การผ่าตัดเลื่อนขากรรไกร ซึ่งก็อาจได้ผลดีกว่าการผ่าตัดระดับลิ้นไก่อย่างเดียว แต่ก็จะมีภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า โดยมากการผ่าตัดมักจะทำให้เสียงกรนดีขึ้น แต่อาจยังไม่สามารถ รักษาให้การหยุดหายใจขณะหลับหายไปได้หมด จึงควรติดตามอาการ และตรวจการนอนหลับซ้ำในห้องปฏิบัติการภายหลังได้รับการผ่าตัดแล้วระยะหนึ่ง
ก่อนที่จะตัดสินใจผ่าตัดควรปรึกษาแพทย์ให้ดี ก่อนถึงข้อดีและข้อเสีย
การรักษาอย่างอื่นๆ
- ในบางรายที่เป็นมากจนอันตรายถึงชีวิต อาจต้องทำการเจาะคอ บริเวณหลอดลม เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย
- การยิงฝัง พิลลาร์ (Pillar implantation) ที่บริเวณเพดานอ่อน มักไม่ได้ผล ในรายที่เป็นปานกลางถึงรุนแรง แต่จะสามารถลดเสียงกรนได้ ในผู้ป่วยเป็นน้อยมากที่มีแต่อาการกรนอย่างเดียว
- ส่วนออกซิเจน ไม่ใช่การรักษาหลักในโรคนี้ ไม่สามารถทำให้หายได้ แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีโรคปอดร่วมด้วยอาจต้องใช้ร่วมกับ เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก
การปฏิบัติตนทั่วไป
- การลดน้ำหนัก ในรายที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วน จะช่วยให้ โรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับดีขึ้น อาการกรน น้อยลงและ นอนหลับได้ดีขึ้น การรักษาอื่นที่ได้รับได้ผลมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการดื่ม แอลกอฮอล์ ช่วง 4 ชั่วโมงก่อนนอน เพราะ แอลกอฮอล์จะทำให้การนอนหลับแย่ลง และ ยังกดการหายใจทำให้ กรนมากขึ้น และโรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ จะเป็นมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยานอนหลับ เพราะยานอนหลับ กดการหายใจทำให้ กรนมากขึ้น และโรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ จะเป็นมากขึ้น หากผู้ป่วยมีนอนไม่หลับร่วมด้วยจะ ควรปรึกษาแพทย์ มากกว่า
- พยายามนอนตะแคง อาการจะน้อยกว่านอนหงาย
- หากง่วงนอนขณะขับรถ ควรหยุดขับ จอดข้างทางเพื่อพัก หรือเปลี่ยนคนขับ พึงระวังไว้ว่ามีอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนร่วม ง่วงไม่ขับ
ศูนย์โรคการนอนหลับ SleepCenter.mahidol.ac.th
อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
270 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ 02-200-3768 กด 0 โทรสาร 02-201-3761
270 Rama 6 Rd, Rajataewe, Bangkok, Thailand