ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สธ.ขยับกฎเมดิคัลโปรแกรม คลายล็อก เวลเนส รับต่างชาติ

สธ.ขยับกฎเมดิคัลโปรแกรม คลายล็อก เวลเนส รับต่างชาติ Thumb HealthServ.net
สธ.ขยับกฎเมดิคัลโปรแกรม คลายล็อก เวลเนส รับต่างชาติ ThumbMobile HealthServ.net

สธ.ขยับกฎเมดิคัลโปรแกรม คลายล็อก เวลเนส รับต่างชาติ

สธ.ขยับกฎเมดิคัลโปรแกรม คลายล็อก เวลเนส รับต่างชาติ HealthServ
 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยกร่างข้อปฏิบัติ Wellness Quarantine (WQ) เสนอ ศบค.ชุดเล็กพิจารณาคลายล็อกธุรกิจเวลเนสให้สามารถรับลูกค้าต่างชาติจากประเทศที่มีการระบาดต่ำหรือมีความเสี่ยงต่ำในเงื่อนไขเดียวกับกลุ่มเมดิคัลโปรแกรม หวังสร้างรายได้กลับเข้าสู่ประเทศ
 
          ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.มีมติเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าไทยภายใต้ โปรแกรมเมดิคัลและเวลเนส โดยเริ่มที่ โปรแกรมเมดิคัลก่อนและหากไม่มีปัญหาใดๆ ก็จะขยายเพิ่มในส่วนของโปรแกรมเวลเนสซึ่งเกี่ยวกับกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ
 
 
           ในส่วนของเมดิคัลโปรแกรมซึ่งชาวต่างชาติ เข้ามาตรวจรักษาโรคในสถานพยาบาล ที่ขึ้นทะเบียนทั้งโรงพยาบาลและคลินิกรวม 154 แห่ง โดยได้รักษาเสร็จสิ้นแล้ว 258 คน สร้างรายได้เกือบ 18 ล้านบาท และอยู่ระหว่างที่จะเดินทางเข้ามา 1,028 คนประมาณการรายได้ 56 ล้านบาท
 
          ศบค.ได้ประเมินผลเบื้องต้นสำหรับ ชาวต่างชาติที่เข้าไทยตามเมดิคัลโปรแกรมนี้ ระบุผลเป็นที่น่าพอใจทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมไปยัง ศบค.ชุดเล็ก พิจารณาคลายล็อกให้กับกิจการเวลเนส เช่น สปา ศูนย์ธรรมชาติบำบัด โดยใช้มาตรการคัดกรองที่เข้มงวดเดียวกับเมดิคัลโปรแกรมทั้งก่อนการเดินทางเข้าไทยและระหว่างพำนักในไทย
 
          ยกตัวอย่างเช่น ชาวต่างชาติที่จะเข้ามาต้องไม่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 มีผู้ติดตามได้ ไม่เกิน 3 คน ต้องมีผลแล็บตรวจโควิดล่วงหน้า 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง เดินทางมาทางบก และทางอากาศ หากมาทางอากาศต้องลงที่สนามบินท้องถิ่นเท่านั้น และอนุญาตให้เฉพาะประเทศสีเขียวและสีเหลืองที่มีการระบาดต่ำประมาณ 140 ประเทศตามรายชื่อที่ ศบค.ประกาศอัพเดตทุกๆ 2 สัปดาห์ เป็นต้น
 
          เสาวภา จงกิตติพงศ์ ผู้อำนวยการกอง สุขภาพระหว่างประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สบส.ได้นำเสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับ Wellness Quarantine (WQ) ให้ ศบค.ชุดเล็ก พิจารณาโดยมีรายละเอียดที่แตกต่างจากกลุ่มเมดิคัลโปรแกรม อาทิ ลูกค้าเดินทางไปสถานประกอบการโดยยานพาหนะที่จัดเตรียมไว้และไม่แวะพักกลางทาง ลูกค้าจะต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วันห้ามออกนอกพื้นที่ ระหว่างนั้นก็มีการตรวจเชื้อโควิด-19 รวม 3 ครั้ง
 
          ภายใน 14 วันที่ถูกกักตัว สามารถทำกิจกรรมด้านสุขภาพตามแผนการรักษาในอาณาบริเวณที่กำหนด หรือการดิลิเวอรี่เซอร์วิสในห้องพัก โดยสถานประกอบการจะต้องจัดระบบรองรับทั้งบุคลากร ระบบงานและโซนพื้นที่แยกจากส่วนให้บริการปกติ รวมทั้งจัดทีมติดตามพร้อมกับ seal ลูกค้าอย่างเคร่งครัดระหว่างทางเดิน เมื่อครบระยะ 14 วันแล้วก็สามารถออกจากโซนกักตัวไปเข้าร่วมโปรแกรมสุขภาพอื่นๆ ตามปกติ ตลอดจนออกเดินทางท่องเที่ยวได้
 
          สถานประกอบการที่จะเข้าร่วมโปรแกรมจะต้องมีโรงพยาบาลคู่สัญญาอยู่ด้วย รวมทั้งต้องจัดให้มีอุปกรณ์ tracking/tracing ติดตามลูกค้า เช่น สมาร์ทวอทช์หรือสายรัดข้อมือที่มีจีพีเอส และที่สำคัญยังต้องมี ใบอนุญาตประกอบกิจการ 3 อย่าง ได้แก่ ใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการจับคู่กับโรงพยาบาลเพื่อทำหน้าที่ตรวจโควิดพร้อมกับการรักษาพยาบาล
 
          ถัดมาต้องได้รับใบอนุญาตสถานประกอบการ เพื่อสุขภาพประเภทสหคลินิก เช่น กิจการประเภท เวลบีอิ้ง การแพทย์ทางเลือก เวชศาสตร์ชะลอวัย การรักษาในกลุ่มที่เป็น Cell therapy และ Precision Medicine ตลอดจนศูนย์การพยาบาลแบบองค์รวมและใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงแรม ซึ่งครอบคลุมถึงที่พักในรูปแบบวิลลา รีสอร์ท ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล หากผู้ประกอบการมี 3 ใบอนุญาตนี้ก็สามารถลงทะเบียนกับ สบส.เพื่อเข้ามาสู่โปรแกรม WQ นี้ได้
 
          "สำหรับ WQ  เราประมาณการว่าจะมีชาวต่างชาติเข้าไทยมากกว่า 3,000 คน และเป็นผู้สูงอายุบำนาญอีกประมาณ 1,000 คนสำหรับ long term care  เบื้องต้นจากการคำนวณค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวหลังจากกักตัวครบ 14 วันก็จะอยู่ท่องเที่ยวต่ออีก 9 วัน พบว่าทั้งเมดิคัลโปรแกรมและเวลเนส โปรแกรมจะสร้างรายได้ทั้งสิ้นถึง 538 ล้านบาท"
 
          คอนเซปต์หลักของ WQ คือ ชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาแล้ว จะต้องเข้าโปรแกรมกักตัวไม่น้อยกว่า 14 วัน ต่ำกว่านี้ไม่ได้โดยเด็ดขาดในสถานที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น และระหว่างการกักตัวจะไม่ได้อยู่เฉยๆ เหมือน state quarantine ทั่วไปแต่ต้องทำกิจกรรมบำบัดรักษาพร้อมไปด้วยในโซนกำหนด จากนั้นเมื่อกักกันตัวครบ 14 วันแล้วตรวจไม่พบโควิด-19 ก็สามารถออกไปข้างนอกพื้นที่ได้ โดยจะมีหนังสือรับรองการกักกันตัว
 
          จากการสำรวจพบว่า แพกเกจ กิจกรรมด้านเวลเนสส่วนใหญ่ใช้เวลา 7-14 วัน แต่หากเป็น long term care ก็จะอยู่ระยะยาวขึ้นหรืออย่างน้อยใช้เวลาหลายเดือน ดังนั้น หากรัฐบาลเห็นภาพการขับเคลื่อนก็จะมองเห็นโอกาสในธุรกิจเวลเนสกับเมดิคัล ขณะเดียวกันกลุ่มกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ด้านสมุนไพร ก็ต้องหาช่องทางที่จะเข้ามาปลั๊กอินกับโปรแกรมนี้
 
          ส่วนการเดินทางเข้าไทยของ ชาวต่างชาติกลุ่มเมดิคัลและเวลเนส ศบค.ยังจำกัดเฉพาะทางอากาศและ ทางบกในส่วนของทางอากาศก็ไม่ซับซ้อน โดยกำหนดให้เข้ามาทางสนามบินท้องถิ่น ขณะที่ทางบกกำหนดให้ผ่านเข้ามาทางด่านตรวจคนเข้าเมือง (ต.ม.) ที่ขณะนี้ ได้รับอนุญาตแล้ว 9 จุดและจะเปิดเพิ่มในอนาคต เช่น ด่าน ต.ม.สะพาน มิตรภาพไทยลาว จ.หนองคาย ด่าน ต.ม.แม่สาย จ.เชียงราย โดยจะจัดหารถไปรับที่ด่านแล้วเดินทางมายังสถานที่เป้าหมาย ส่วนการเดินทางเข้าไทย ทางน้ำหรือทางเรือนั้นยังอยู่ระหว่างศึกษาในรายละเอียด
 
          "เรากำลังตามหากลุ่มที่ให้บริการด้านคมนาคมขนส่ง ที่เป็นมินิบัสหรือบัสที่มีฉากกั้นระหว่างคนขับกับ ผู้โดยสาร มีห้องน้ำในตัวเพราะตามข้อกำหนดคือห้ามแวะพักระหว่างทางใดๆ ทั้งสิ้นแม้จะเป็นระยะทางไกลจากแม่สายมากรุงเทพฯ โดยเร็วๆ นี้ จะเชิญผู้ประกอบการที่เป็นบริษัท รถโดยสารต่างๆ เข้ามาหารือต่อไป"
 
          ในส่วนของเมดิคัลโปรแกรม เสาวภา กล่าวว่า มียื่นเสนอขอเข้ามาวันละประมาณ 30-50 คน ส่วนใหญ่เป็นการทำหัตถการทั้งผ่าตัดใหญ่ ผ่าตัดเล็กและผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งเฉพาะชาวญี่ปุ่นยื่นขอทำการรักษานี้ ประมาณ 80 คนทั้งผ่าตัดแปลงเพศจาก ผู้หญิงเป็นผู้ชายและผู้ชายเป็นผู้หญิง ซึ่งต้องอยู่เมืองไทยมากกว่า 14 วัน เมื่อแอดมิด ผ่าตัดที่โรงพยาบาลเสร็จ ก็ต้องตรวจติดตามเป็นรอบๆ อีกทั้งต้องเข้ารับการประเมินด้านสุขภาพจิต กายภาพและฮอร์โมนด้วย เช่นเดียวกับการรักษาภาวะมีบุตรยากก็ต้องเข้ามาทั้งสามีและภรรยา ใช้เวลามากกว่า 14 วันเช่นกันตั้งแต่เตรียมร่างกาย เก็บไข่และฝังตัวอ่อน
 
          "การขับเคลื่อนโปรแกรมเศรษฐกิจที่ต้องคลายล็อกประเทศเปิดรับ ชาวต่างชาติ เราให้ความสำคัญกับการบาลานซ์ระหว่างการควบคุมโรคระบาดกับเศรษฐกิจโดยดูรายได้รวมทั้งหมด อีกทั้งแสดงให้เห็นบทบาทของ สธ.ในการช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ" เสาวภา กล่าว
 
 
           มาตรฐานสถานกักกัน'รพ.ทางเลือก'
          กรุงเทพธุรกิจ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ได้อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ ในขั้นต่อไปในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคม ภาครัฐได้มีการผ่อนปรนให้บุคคลบางประเภทเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ซึ่งประเทศไทยนั้นนับได้ว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางด้านสุขภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงมีผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพและจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องประสงค์จะเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทย
 
          ดังนั้นเพื่อการตรวจคัดกรอง และเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์และแนวทางการควบคุมป้องกันโรคอย่างเป็นระบบ กรม สบส. จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการสถานกักกันในโรงพยาบาล ทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) ขึ้น เพื่อกักกันตัวผู้ป่วยชาวต่างชาติรวมถึง ผู้ติดตาม ซึ่งจะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลตามที่ได้มีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า และไม่มีอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19
 
          โดยใช้สถานพยาบาลเอกชนที่รัฐกำหนดเป็นสถานที่กักกัน เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 พร้อมกับการรักษาพยาบาลตามกลุ่มโรค/ อาการ/ หัตถการที่นัดหมาย ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่รัฐกำหนด และจะต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง ทั้งหมดระหว่างการรักษาพยาบาลและกักกันตน โดยพิจารณาการนัดหมายจาก ผู้ป่วยและผู้ติดตาม ในกลุ่มประเทศสีเขียวและสีเหลืองเท่านั้น จะไม่มีการนัดหมาย ผู้ป่วยและผู้ติดตามจากกลุ่มประเทศสีแดง
 
          ซึ่งการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยผู้ป่วยและผู้ติดตามจะต้องแสดงเอกสารและหลักฐานตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กำหนด อาทิ ใบรับรองแพทย์ กรมธรรม์ที่ครอบคลุมโรคโควิด-19 ที่มีวงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผลตรวจโรคโควิด-19 ที่ออกให้ก่อนเดินทางล่วงหน้าไม่เกิน 72 ชั่วโมง ฯลฯ และเมื่อเดินทางเข้ามาในประเทศแล้วสถานพยาบาลจะมารับตัวผู้ป่วยและผู้ติดตามไปกักกันตัว ณ สถานพยาบาลเป็นระยะเวลา ไม่น้อยกว่า 14 วัน ในระบบปิด
 
          พร้อมทำการตรวจคัดกรองโรคโควิดตามระยะเวลาที่กำหนด รวม 3 ครั้ง (ก่อนรักษา ระหว่างรักษา และหลังการรักษา) และรายงานอาการของผู้ป่วยและผู้ติดตามทุกวัน หากพบอาการของโรคโควิด-19 จะมีการแจ้งไปยังสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และกรมควบคุมโรคในพื้นที่โดยทันที
 
          ทั้งนี้ได้มีการประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หากพบว่าผู้ป่วยและผู้ติดตามจากประเทศใดมีความสุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการของโรคโควิด-19 ก็จะมีการแจ้งเวียนไปยังสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการให้ชะลอการรับผู้ป่วยและผู้ติดตามจากประเทศนั้นๆ
 
          ซึ่งล่าสุดก็ได้มีการแจ้งเวียนให้ชะลอการรับผู้ป่วยและผู้ติดตามจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าในช่วงนี้ เนื่องด้วยมีสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าการดำเนินงานของสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก จะไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 อย่างแน่นอน ด้วยทั้งภาครัฐและเอกชนมีการดำเนินการป้องกัน ควบคุมโรคตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด