โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคคอพอกเป็นพิษ ต่อมไทรอยด์ ซึ่งอยู่ที่ลำคอด้านหน้าต่ำกว่าลูกกระเดือกเล็กน้อย ทำหน้าที่สร้างและหลั่งฮอร์โมนไธรอยด์ออกสู่กระแสเลือด เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ โดยเฉพาะหัวใจและประสาท โรคคอพอกเป็นพิษ เป็นการเสียสมดุลของฮอร์โมนไธรอยด์ โดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเลแต่มีปัจจัยบางอย่างที่เกี่ยวข้องดังนี้
- เพศหญิง โรคนี้เกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 4-8 เท่า
- กรรมพันธุ์ บางครอบครัวเป็นกันทั้งมารดา และลูกสาว
- ความเครียดทางจิตใจ พบว่าทำให้เกิดอาการคอพอกเป็นพิษได้
ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ อาจสร้างฮอร์โมนออกมามากเกินไป ต่อมจะมีขนาดโตขึ้นจนมองเห็นได้ชัดเจน ถ้าคลำดูจะมีลักษณะหยุ่นไม่แข็ง อาจฟังได้ยินเสียงฟู่ ๆ เนื่องจากมีเลือดไปเลี้ยงต่อมมากกว่าปกติ วิธีการตรวจหาระดับฮอร์โมนในร่างกายทำได้ 2 วิธี
- เจาะเลือดตรวจหาระดับฮอร์โมนไทรอยด์ว่าสูงกว่าปกติหรือไม่
- การตรวจโดยกัมมันตรังสีไอโอดีน
เพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่สงสัยว่าตั้งครรภ์ควรบอกแพทย์เพราะอาจมีผลเสียต่อเด็กในครรภ์ได้
คอพอกเป็นพิษอย่างไร
อาการแสดงเป็นพิษเกิดจากฮอร์โมนไทรอยด์ไปกระตุ้นการำงานของร่างกายมากขึ้นดังนี้
- หัวใจจะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากจึงมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นได้ขณะที่นั่งสบาย ๆ ได้แก่ ใจสั่น หัวใจเต้นแรงและเร็ว จับชีพจรจะเต้นไม่สม่ำเสมอในบางครั้ง เหนื่อยง่าย
- เนื้อเยื่อของร่างกายเผาผลาญสร้างพลังงานออกมามาก และเปลี่ยนเป็นความร้อนออกจากร่างกายได้มากเช่นกัน จากอาหารที่รับประทานเข้าไปและที่เก็บสำรองไว้เป็นไขมันและกล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้มีอาการเหล่านี้ ร้อนและเหงื่อออกมาก มือมักจะอุ่นและชื้น กินจุ แต่ผอมลง
- ระบบประสาทถูกฮอร์โมนไทรอยด์กระตุ้นมากขึ้นทำให้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายถูกกระตุ้นให้ทำงานผิดปกติได้เช่นเดียวกัน มือสั่น ตกใจง่าย ลำไส้ถูกกระตุ้นทำให้ถ่ายอุจจาระบ่อยวันละหลาย ๆ ครั้ง กล้ามเนื้อบริเวณต้นแขนและขามักอ่อนแรง บางครั้งเมื่อนั่งยอง ๆ ก็ลุกไม่ไหว ประจำเดือน อาจมาน้อย หรือห่างออกไป นัยน์ตาอาจโตโปนถลนหรือหนังตาบนหดรั้งขึ้นไป ทำให้เห็นตาขาวข้างบนชัด ดูคล้ายคนดุ
การรักษาคอพอกเป็นพิษมี 3 วิธี
วิธีแรก ยาเม็ดรับประทาน
เพื่อควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้น ชีพจรเต้นช้าลง ใจสั่นลดลง ฯลฯ ต้องใช้ยาติดต่อกันตั้งแต่ปีครึ่งถึงสองสามปี บางรายต้องรับประทานยาเป็นประจำ ถ้าหยุดยาทำให้มีอาการเป็นพิษได้อีก ข้อควรสังเกตอาการที่ควรรายงานให้แพทย์ทราบจากการใช้ยาเม็ด
- มีโรคติดเชื้อบ่อยเนื่องจากฤทธิ์ยาทำให้มีเม็ดเลือดขาวต่ำในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไข้สูง เจ็บคอ แต่พบได้น้อยมาก
- มีผื่นคันตามผิวหนัง มักเป็นไม่รุนแรง
- มีผมร่วงจากที่ไม่เคยร่วง
- คอพอกโตขึ้นกว่าเดิม
- ตะคิวจับบ่อย 6.ท้องผูกบ่อย
วิธีที่สอง การผ่าตัดเพื่อเอาต่อมไทรอยด์บางส่วนออก
ซึ่งจะให้ผลการรักษาเร็วกว่าวิธีกินยาเม็ด การผ่าตัดเหมาะที่จะใช้ในรายที่คอโตมาก ๆ หรือเมื่อรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล ข้อเสีย การผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกมากไป ทำให้ต่อมส่วนที่เหลือสร้างฮอร์โมนไม่พอใช้ ต้องกินยาฮอร์โมนไธรอยด์ทดแทนตลอดชีวิตและอาจมีเสียงแหบได้
วิธีที่สาม การกินน้ำแร่สารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131
จะไปสะสมที่ต่อมไทรอยด์แล้วปล่อยรังสีทำลายต่อมให้หายเป็นพิษ วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผลหรือผู้ป่วยที่มีอายุมาก แต่ห้ามใช้ในหญิงกำลังตั้งครรภ์ ข้อเสีย ถ้าได้รับน้ำแร่จำนวนน้อยก็ไม่หายขาด ต้องกินซ้ำอีก หรือมากเกินไปอาจเกิดภาวะขาดฮอร์โมนได้เช่นกัน
การดูแลสุขภาพ
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมมิให้อาการคอพอกเป็นพิษรุนแรงขึ้น
- สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นของผลข้างเคียงของยาหรือการรักษา เพื่อรายงานอาการได้ถูกต้อง
- ติดตามการรักษา เพื่อเป็นผลดีต่อการรักษา
- รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะได้ทุกประเภท
หนังสือรู้เรื่องโรค