1 มิถุนายน 2566 ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการยกระดับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระหว่าง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และกล่าวว่า รัฐบาลต้องการยกระดับการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ EEC ให้สามารถรองรับการให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ลดการเสียชีวิตและ
ความพิการจากอุบัติเหตุจราจร โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ตลอดจนอุบัติภัยในโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีระบบลำเลียงผู้ป่วยด้วยอากาศยาน เรือ และพาหนะทางบก อย่างครบวงจร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชน นักท่องเที่ยว และนักลงทุน สนับสนุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการให้บริการทางสังคม และส่งเสริมเศรษฐกิจของพื้นที่ EEC ต่อไป
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สพฉ. ร่วมมือกับ สกพอ. และภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉิน จัดทำโครงการพัฒนายกระดับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ EEC โดยพัฒนาระบบที่มีมาตรฐาน สามารถเข้าถึงบริการฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลด้วยบุคลากรที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ มีหน่วยปฏิบัติการ สถานพยาบาล รองรับการให้บริการที่รวดเร็ว ซึ่งภายใต้ความร่วมมือนี้ สพฉ. จะสนับสนุนภาคีเครือข่ายให้สามารถปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐาน ทั้งระบบปฏิบัติการฉุกเฉิน ระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อปฏิบัติการฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา ปลอดภัยทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
ด้าน ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า สกพอ. จะมีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุน การปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดแนวทางการร่วมลงทุนในธุรกิจบริการ การพัฒนาต้นแบบรูปแบบการร่วมลงทุนและสิทธิประโยชน์การแพทย์ฉุกเฉินด้านอากาศยานในพื้นที่ EEC ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและพักอาศัยในพื้นที่