การตรวจ HDL-c สำคัญอย่างไร
การตรวจ HDL-c สามารถบ่งชี้ถึงความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease, CHD) และสมอง ที่ส่งผลให้หัวใจขาดเลือดและเกิดอาการแสดงต่างๆ ตามมาจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นการวัดค่า HDL-c เป็นการตรวจที่สำคัญในการประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และเป้าหมายการรักษาในการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงได้ นอกเหลือจากการวัดค่าไขมันชนิดร้าย (LDL-c)
ตรวจบ่อยแค่ไหน
ปกติการเจาะตรวจ HDL-c จะตรวจพร้อมๆกับค่าตรวจไขมันอื่นๆ เช่น ไขมันรวม (total cholesterol: TC), ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides:TG), ไขมันชนิดร้าย (LDL-c) โดยปกติในผู้ใหญ่สุขภาพดีตรวจทุก 5 ปี หรือหากมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจอาจมีการสั่งตรวจพร้อมๆ กับการติดตามค่า LDL-c โดยที่ให้งดอาหารก่อนเจาะเลือด 12 ชม. [สามารถทานน้ำได้ปกติ]
ค่า HDL-c แปลผลอย่างไร
ตารางที่ 1 ผู้ที่มีความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจดังนี้
• สูบบุหรี่
• อายุของท่าน [ผู้ชายอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 45 ปี หรือ ผู้หญิงอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 55 ปี]
• ค่าตรวจไขมันชนิดดี (HDL-c) น้อยกว่า 40 mg/dL
• ท่านมีโรคความดันในเลือดสูง [คือ ค่าความดันมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 mm/Hg หรือรับประทานยาลดความดันอยู่]
• มีประวัติครอบครัว [พ่อแม่พี่น้องสายเลือดเดียวกัน] เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ โดยเพศชายอายุต่ำกว่า 55 ปี หรือเพศหญิงอายุต่ำกว่า 65 ปี
• ท่านมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่ (coronary heart disease)
• ท่านเป็นเบาหวานอยู่
แต่หากท่านมีค่าไขมันชนิดดี (HDL-c) มากกว่า 60 mg/dL ถือว่าเป็นผลดี ดังนั้นหักลบความเสี่ยงรวมออก 1 คะแนน
ตารางที่ 2 ค่าผลตรวจ HDL-c ดังนี้
ค่าน้อย
HDL-c น้อยกว่า 40 mg/dL ในผู้ชาย
HDL-c น้อยกว่า 50 mg/dL ในผู้หญิง
ค่าปกติ
HDL-c 40-50 mg/dL ในผู้ชาย
HDL-c 50-59 mg/dL ในผู้หญิง
ค่าที่เหมาะสม
HDL-c มากกว่า 60 mg/dL ในผู้ชายและผู้หญิง
แปลผลดังนี้
1. ค่าน้อย
HDL-c น้อยกว่า 40 mg/dLในผู้ชาย และ HDL-c น้อยกว่า 50 mg/dLในผู้หญิง
• พบได้ในผู้ที่มีความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ดังตารางที่ 1 และในผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย อาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้ นอกเหนือจากผลของค่าไขมันชนิดร้าย (LDL-c)
• อาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิดอยู่ เช่น Androgens, Progestin หรือยาอื่นๆ
การจัดการ
o หาสาเหตุจากตารางที่ 1 และลดหรืองดปัจจัยเสี่ยงต่างๆเหล่านั้นสามารถเพิ่ม HDL-c ได้
o ลดน้ำหนักด้วยวิธีที่เหมาะสม เพิ่มการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น การออกกำลังกาย การเดินเร็ว ซึ่งควรเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล สามารถเพิ่ม HDL-c ได้
o หากท่านรับประทานยาหรือสมุนไพรใดๆอยู่ ให้พิจารณาแจ้งแพทย์ เนื่องจากอาจส่งผลต่อผลการตรวจได้
o ท่านผู้ที่มีภาวะโรคหัวใจ และ/หรือโรคเบาหวาน ที่มีค่าตรวจ LDL มากกว่า 100 mg/dL [อ่านเพิ่มเติมได้ใน ค่าทางห้องปฎิบัติการ LDL-c] จะต้องได้รับยาเสริมเพื่อลดค่า LDL-c ซึ่งสามารถเพิ่มระดับ HDL-c ได้ดังนั้นพิจารณาปรึกษาแพทย์
2. ค่ามากที่เหมาะสม
2.1 HDL-c 40-50 mg/dL ในผู้ชาย และ HDL-c 50-59 mg/dL ในผู้หญิง
ถือว่าเป็นค่าปกติ และสามารถเพิ่มการออกกำลังกาย และลดปัจจัยเสี่ยงจากตารางที่ 1 สามารถทำให้เพิ่มค่า HDL-c ได้
2.2 HDL-c มากกว่า 60 mg/dL ในผู้ชายและผู้หญิง
ถือว่าเป็นค่าที่เหมาะสม ซึ่งมีการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่าผู้ที่มีค่า HDL-c สูงกว่า 60 mg/dL มีความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวไจได้น้อย
ข้อควรทราบ
1. หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
2. แนวทางการรักษาโรคไขมันในเลือดสูง เน้นการลดไขมันชนิดร้าย (LDL-c) ก่อนเป็นอันดับแรกเสมอ แล้วจึงพิจารณาค่าผลไขมันชนิดอื่นๆตามมา [สามารถอ่านผลไขมันชนิดร้ายได้ที่ LDL-c]
3. เกณฑ์ความเสี่ยงในเด็กหรือในวัยรุ่นอาจมีความแตกต่างจากในผู้ใหญ่ ดังนั้นพิจารณาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเด็ก
4. ท่านควรแจ้งแพทย์ก่อน หากท่าน เจ็บป่วยเฉียบพลัน (acute illness), อยู่ในระหว่างการผ่าตัดหรืออุบัติเหตุ (stress like from surgery or an accident) ควรรออย่างน้อย 6 สัปดาห์หลังจากป่วยเพื่อตรวจอีกครั้ง
5. ผู้หญิงตั้งครรภ์ อาจจะมีค่า HDL-c สูงขึ้นได้ ดังนั้นอาจจะพิจารณารออย่างน้อย หลังคลอด 6 สัปดาห์เพื่อตรวจ HDL-c อีกครั้ง
เอกสารอ้างอิง
1. HDL. Lab Tests Online®. American Association for Clinical Chemistry (AACC). Last modified: December 23, 2011. [cited in 25 January 2012]. Available from http://labtestsonline.org/understanding/analytes/hdl/tab/glance.
2. Singh VN., Editor. Low HDL Cholesterol (hyalphalipoproteinemia). Updated: Dec 29, 2011. [cited in 25 January 2012]. Available from http://emedicine.medscape.com/article/127943-overview.
เรียบเรียงโดย ภญ. สุพรรณิการ์ ประทีปจรัสแสง